ม.มหิดล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ดูแลเด็กในศตวรรษที่ 21 รองรับสังคมแตกต่างหลากหลาย

          วันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็นวันครอบครัวสากล (International Day of Families) เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนามนุษย์และสังคม ซึ่งโลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างหลากหลาย สังคมโลกจะอยู่รอดได้ ทุกชีวิตต้องก้าวไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Society) การให้ความสำคัญของครอบครัวจึงต้องหมายรวมถึงการให้ความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ในช่วงเริ่มต้นของชีวิต หรือช่วงก่อนปฐมวัยซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายด้วย

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 สถาบันครอบครัว คือ ขุมกำลังสำคัญของสังคม ที่จะทำให้ผ่านวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น และไปต่อได้ ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจทำให้มีพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่สามารถดูแลลูกได้ ต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายที่อยู่ห่างไกลออกไป นอกจากนี้ยังพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องใช้บริการ “ผู้ดูแลเด็ก” แต่พบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดที่จัดอบรมผู้ดูแลเด็กอย่างได้มาตรฐานครอบคลุมทั้งด้านการดูแลสุขภาวะองค์รวม ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต คุ้มครองความปลอดภัยทั้งจากสิ่งแวดล้อมและจากบุคคล ตลอดจนครอบคลุมไปถึงเด็กในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไม่ได้มีเพียงเด็กพิการ เด็กพิเศษ ยังรวมถึงเด็กที่มีประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ จากความไม่มั่นคงทางครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยถือเป็นภารกิจหลัก และความเชี่ยวชาญของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่มระดมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ดูแลเด็กในศตวรรษที่ 21 ขึ้นเป็นรุ่นแรก โดยมีกำหนดอบรมระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน 2564 รับผู้สมัครวุฒิปริญญาตรี และมัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตร 220 ชั่วโมง และ 440 ชั่วโมง

          ซึ่งในส่วนของผู้สมัครเข้ารับการอบรมผู้ดูแลเด็กที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จัดสรรทุนการฝึกอบรมให้แก่ผู้สมัครที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยครอบคลุมค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนของค่าลงทะเบียน ค่าที่พักอาศัย และค่าเบี้ยเลี้ยงประจำวัน และจะมีการติดตามดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถใช้ประกอบวิชาชีพได้ทันที รวมทั้งต่อยอดสู่การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพครูปฐมวัย และนักพัฒนาเด็กและครอบครัวได้ต่อไปในอนาคต

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวต่อไปว่า “การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นหัวใจของ การกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก” สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มองไปถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้ารับการอบรมซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัว เพื่อฝึกทักษะที่เหมาะสมและถูกต้องในการเป็นผู้ดูแลเด็กด้วย โดยที่ผ่านมาจากที่ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาการอยู่ด้วยกันของคนสองวัย ได้แก่ ปู่ย่าตายายกับหลาน พบว่า เมื่อนำผู้สูงอายุมาเล่านิทานให้หลานที่เป็นเด็กปฐมวัยฟัง และร่วมกิจกรรมต่างๆ พบว่า มีการทำงานของสมอง ในส่วนของความจำดีขึ้น และทางสถาบันฯ กำลังจะเริ่มโครงการ “ซุปเปอร์ปู่ย่าตายาย” เพื่อให้ผู้สูงอายุได้สร้างสุขภาพกายใจของตนเอง โดยใช้กิจกรรมการเลี้ยงหลานเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวให้เข้มแข็งด้วย ซึ่งการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กที่ได้มาตรฐานจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาในด้านดังกล่าวต่อไปอีกด้วย

          เปิดรับสมัครภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ FB: NICFD

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author