ม.มหิดลผลักดันคนไทย 77 จังหวัด เลี้ยงลูกด้วยข้อมูลสุขภาวะ Child Health Informatics

ในโลกที่แข่งขันกันด้วยข้อมูลข่าวสารไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ครอบครองข้อมูลได้ “มากที่สุด” หรือ “เร็วที่สุด” คือ “ผู้ที่มีศักยภาพในการดำรงชีวิตมากที่สุด“ แต่คือ ผู้ที่มีข้อมูล “ถูกต้อง” และ “ใช้เป็น” มากที่สุด

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้เป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้เด็กไทยในโลกยุคใหม่นับจากนี้ไป เติบโตด้วยทักษะแห่ง “ข้อมูลสุขภาวะ” (Child Health Informatics) พร้อมสร้าง “นักปฏิบัติการด่านหน้าเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว“ ให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ทั้ง 77 จังหวัด

จากการทุ่มเทสร้าง “เครือข่ายเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว“ จนปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 2 แสนราย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้เป็นแกนนำสำคัญในการทำให้ “ครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล” เพิ่มขยายออกไป

จนอาจกล่าวได้ว่า ที่ผ่านมา ทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทยได้มี “ผู้เรียนรู้ (MU learners) และนักศึกษา (MU students) ของมหาวิทยาลัยมหิดล” ที่ถึงพร้อมด้วยทักษะแห่ง “ข้อมูลสุขภาวะ” (Child Health Informatics) จากการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ผ่านการอบรมทั้ง Onsite และ Online ที่จัดขึ้นตามประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับสุขภาวะและความปลอดภัยของเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมกระจายอยู่ทั่วประเทศ

โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า เด็กจะเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ใน 5 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ และความสัมพันธ์เชิงบวก ซึ่งเป็นฐานสำคัญของ 4 ข้อแรก จากการตอบสนองที่ดีระหว่างเด็กและผู้ดูแลเด็ก

ที่สำคัญที่สุดทั้งหมดนี้จะต้องเป็น “ข้อมูลที่ถูกต้อง” และไม่ได้เป็นเพียง “ความเชื่อ”

ตัวอย่างเช่น สุภาษิตไทย “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” หากเชื่อว่ามีความหมายไปในทางเพ่งโทษ อาจให้ผลในทางตรงกันข้าม เนื่องจากการสอนให้เด็กรู้จัก “ควบคุมตัวเอง” ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงผ่าน “ความรุนแรง” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

นอกจากนี้เด็กอาจได้รับอันตราย หากผู้ดูแลขาดความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นในการจัดหาของเล่น หรือกิจกรรมสำหรับเด็ก ฯลฯ

ซึ่ง Child Health Informatics ที่ดีจะต้องผ่านการ ”คัดกรอง“ “ควบคุม“ และ “จัดการข้อมูล“ อย่างถูกต้อง โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วจัดเป็นปัจจัยสำคัญสู่การสร้าง “พลเมืองคุณภาพ” ในอนาคต โดยจะต้องบ่มเพาะผ่าน “ผู้ดูแลเด็ก” จึงได้ให้น้ำหนักสำคัญต่อการลงทุนในด้านดังกล่าวเพื่อการเข้าถึงข้อมูลสุขภาวะที่ถูกต้องและทันสมัย

สำหรับในประเทศไทยที่ผ่านมาพบว่ายังมีการลงทุนเพื่อการเข้าถึง Child Health Informatics ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก โดยได้ขับเคลื่อนผ่าน “เครือข่ายเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว” ที่กำลังเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


ภาพจาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author