โดย ปัทมาพร
การเดินทางข้ามพรมแดนไปต่างประเทศเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางอีกครั้งหลังจากหยุดชะงักไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างไรก็ตามหากใครมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศแล้ว อาจพบว่าการเดินทางเข้า-ออกประเทศไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เห็นได้จากคำแนะนำที่ต้องเผื่อเวลาไว้มากกว่าเดิม การที่ผู้โดยสารต้องต่อคิวเป็นเวลานานเพื่อรอเช็กอิน อีกทั้งจุดตรวจคนเข้า-ออกเมืองที่ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนมากได้
เคนนี ชิง ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ธุรกิจการยืนยันตัวตน (citizen identity) บริษัท HID ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันการระบุตัวตน ชวนมองข้อท้าทายในการเดินทางข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นหลังยุคโควิด 19 พร้อมมองหาโซลูชันใหม่ ๆ และเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจการยืนยันตัวตนในการเดินทาง
เมื่อทุกประเทศต้องเปิดพรมแดนเพื่อการเดินทางและการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ก็กลับพบอุปสรรคมากมาย ปัญหาที่พบเจอในหลายประเทศคือ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ ยังไม่รวมถึงความต้องการของนักเดินทางที่ต้องการบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น และไม่ต้องการที่จะทนรอคิวนาน ๆ ที่จุดตรวจอีกต่อไป การตอบสนองความต้องการของนักเดินทางพร้อมกับการรักษาความปลอดภัยของประเทศจึงกลายเป็นเรื่องซับซ้อนท้าทาย ที่ต้องหาวิธีที่เหมาะสมและสมดุลเข้ามาจัดการ
รัฐบาลหลายประเทศตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี และพยายามนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาใช้ที่จุดผ่านแดนเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันยังทำแบบแยกส่วนและกระจัดกระจายอยู่ เช่น เครื่องคีออสก์ (kiosks) เช็กอินด้วยตัวเอง แบบฟอร์มผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแบบดิจิทัล เครื่องตรวจเอกสารปลอม วีซาที่ใช้คิวอาร์โคด ระบบไบโอเมตริกซ์ที่ใช้ AI ช่วย การใช้เพียงเครื่องมือเหล่านี้จึงไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
เคนนีกล่าวว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรมคือตัวช่วยในการแก้ปัญหา แต่มันก็ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงก็คือ การเปลี่ยนแปลงแนวคิด”
โดยทั่วไปแล้วระบบและการดำเนินการต่าง ๆ ออกแบบมาเพื่อการตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้น ไม่ได้นำสิ่งอื่นมาพิจารณาด้วย ระบบใหม่จึงต้องคำนึงถึงส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างการบริหารจัดการด้านพรมแดนนั้นต้องคำนึงถึงทั้งผู้เดินทาง พนักงานปฏิบัติการของสนามบิน สายการบิน และผู้ให้บริการอื่น ๆ ด้วยตั้งแต่แรก และต้องมีกฎระเบียบและนโยบายต่าง ๆ ออกมากำกับเพื่อให้มีเป้าหมายร่วมกันและเกิดความร่วมมือกันมากขึ้น
ที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยีและโซลูชันหลายอย่างมาช่วยอำนวยความสะดวกให้หน่วยตรวจคนเข้าเมืองออกข้อมูลการยืนยันตัวตนในรูปแบบกายภาพและดิจิทัล รวมทั้งช่วยให้การตรวจสอบผู้เดินทางมีความปลอดภัยและเชื่อถือได้เมื่อเดินทางเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
- การใช้ end-to-end passport เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสารและรักษาความปลอดภัยของพรมแดน โดยโซลูชันนี้จะช่วยลงทะเบียนพลเมือง ตรวจสอบข้อมูลชีวประวัติและข้อมูลไบโอเมตริกซ์ รวมถึงถ่ายโอนข้อมูลดังกล่าวเป็นรูปภาพและแบบอิเล็กทรอนิกส์ในเอกสาร
- การใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการพิมพ์หนังสือเดินทาง การออกหน้าวีซา และแผ่นเคลือบต่าง ๆ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงและสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ผู้เดินทาง
- การใช้แพลตฟอร์มการยืนยันตัวตนในมือถือเพื่อลดภาระของการพกพาเอกสาร ซึ่งผู้เดินทางสามารถรับและครอบครองข้อมูลการยืนยันตัวตนในอุปกรณ์ของตัวเองได้ อาจเป็นในรูปแบบของหนังสือเดินทาง ดิจิทัล หรือวีซาที่ได้รับการอนุมัติด้วยตราประทับดิจิทัล
- การติดตั้งอุปกรณ์หลายอย่างตามจุดข้ามพรมแดนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือพิมพ์ลายนิ้วมือ กล้องจับใบหน้า เครื่องสแกนม่านตา และเครื่องอ่านเอกสารเดินทาง ซึ่งปัจจุบันระบบไบโอเมตริกซ์สมัยใหม่จะมีตัวตรวจจับความมีชีวิตเพื่อป้องกันการปลอมแปลงต่าง ๆ ด้วย
แต่ในอนาคต ความคาดหวังและความต้องการของผู้เดินทางกำลังเปลี่ยนไป ขั้นตอนการเดินทางข้ามพรมแดนก็จะเปลี่ยนไปพร้อมกับเทรนด์ใหม่ คือ การให้บริการตัวเอง (self-service) การให้บริการแบบไร้สัมผัส (contactless) ขั้นตอนต่างๆ มีความสะดวกราบรื่น (convenience for travelers) และการวิเคราะห์ความเสี่ยงอัจฉริยะ (intelligent risk profiling)
ตัวอย่างของโครงการที่นำเทรนด์ใหม่นี้มาใช้คือ โครงการริเริ่ม OneID ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) ที่ผู้เดินทางสามารถส่งข้อมูลการยืนยันตัวตนไบโอเมตริกซ์ของตัวเองได้ก่อนเช็กอิน โดยขั้นตอนนี้ทำผ่านโทรศัพท์มือถือ และหนังสือเดินทางที่อ่านได้ด้วยเทคโนโลยี NFC (near field communication) หลังจากนั้นจึงใช้รูปถ่ายพื่อผ่านจุดตรวจต่าง ๆ ในสนามบินโดยไม่ต้องแสดงเอกสารใด ๆ อีก
สำหรับนักเดินทางที่ยังกังวลเรื่องสุขอนามัย องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) ยังออกใบยืนยันตัวตนการเดินทางแบบดิจิทัล (Digital Travel Credential: DTC) เพื่อเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา หรือแม้กระทั่งแหวนเป็นพาสปอร์ตดิจิทัลสำหรับใช้ในการเดินทางเพื่อลดการสัมผัสด้วย
ในระดับประเทศนั้น การปกป้องประเทศจากความเสี่ยงและภัยคุกคามต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ และหลายประเทศก็ยังคงมองหาโซลูชันใหม่ ๆ ในการบริการจัดการความเสี่ยงจากการเดินทาง การใช้ระบบแจ้งข้อมูลผู้โดยสารล่วงหน้า (Advanced Passenger Information: API) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ของหน่วยงานที่อยู่ ณ จุดผ่านแดนต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่จะมีเวลาพิจารณาและประเมินความเสี่ยงก่อนที่นักเดินทางจะมาถึงด่านตรวจมากขึ้นหากมีกรณีน่าสงสัย และเมื่อนักเดินทางมาถึงที่ด่านตรวจ คนที่ตรวจไม่พบความเสี่ยงอะไรก็สามารถผ่านด่านตรวจไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอตรวจนาน ๆ เหมือนที่เคย
นักเดินทางยังต้องการกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่สะดวกรวดเร็วและไร้สัมผัส เห็นได้จากการใช้ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (automated border control) ซึ่งบางช่องมีเครื่องพิมพ์ลายนิ้วมือที่ไม่ต้องใช้การสัมผัสแล้ว และหลังจากนี้หลายประเทศจะเปลี่ยนไปใช้การประทับตราเข้า-ออกประเทศแบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแทนที่การประทับตราแบบดั้งเดิม ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศจะส่งเสริมการประทับตราแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นผ่านการใช้ Logical Data Structure 2 (LDS2) ซึ่งอาจนำไปใช้กับหน้าวีซาที่มักอยู่ในรูปบาร์โคดได้เช่นกัน โดยนำไปจัดเก็บในมือถือและให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสแกน นักเดินทางก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่สถานทูต สถานกงสุล หรือผู้ให้บริการวีซาอีกต่อไป เพราะสมัครวีซาออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง
เทรนด์เทคโนโลยีการจัดการการเดินทางข้ามพรมแดนทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการผลักดันของภาครัฐบาลที่ต้องการหาวิธีที่ทันสมัยและเข็มแข็งมาใช้รักษาพรมแดนประเทศ และอีกส่วนเกิดจากความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักเดินทาง ทำให้หน่วยงานด้านการเดินทางข้ามพรมแดนต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งในอนาคตเรายังคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอดูกันต่อไปว่าเทรนด์การเดินทางข้ามพรมแดนในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และโซลูชันการยืนยันตัวตนในการเดินทางจะสะดวกสบาย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพียงใด