การเจริญเติบโตและขยายตัวของเมือง เทคโนโลยีอุตสาหกรรมและกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมปัญหาโลกร้อนและที่สำคัญคือ อากาศที่เราหายใจปนเปื้อนด้วยฝุ่น PM2.5 และมลพิษ ซึ่งคุกคามต่อชีวิตและสุขภาพ ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนไทยและทั่วโลก
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Clean Air Asia ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติที่เป็นผู้นำภารกิจระดับภูมิภาคเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นและเมืองที่มีสุขภาพดีและน่าอยู่มากขึ้นทั่วเอเชีย จัดประชุมสัมนาออนไลน์ เรื่อง ทางออกเพื่ออากาศสะอาด หรือ Clean Air Solutions ภายใต้ทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดงาน วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนำเสนอแนวทาง การแก้ไขปัญหามลพิษเพื่ออากาศที่สะอาดทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย
รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภายในงานนี้ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอประเด็นและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อร่วมแก้วิกฤติและสร้างเสริมคุณภาพอากาศที่สะอาด ในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การตรวจวัดคุณภาพอากาศ การปล่อยมลพิษ และแผนที่สุขภาพสู่แผนงานอากาศสะอาดในเมืองมะนิลา (Air Quality Monitoring, Emissions Inventory, and Health Mapping towards Clean Air Action Planning in Manila) โดย คุณเอเวอลิน เกล ทามาโย (Everlyn Gayle Tamayo) ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศจาก Clean Air Asia
2. การบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกสำหรับอากาศสะอาด (Sustainable Waste Management as a Tool for Clean Air Solutions) โดย ดร. มัชทัก อาห์เม็ด เมม่อน (Mushtaq Ahmed Memon) ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคด้านเคมีภัณฑ์ ของเสียและคุณภาพอากาศจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
3. ทางออกเพื่ออากาศสะอาดในประเทศไทย (Clean Air Solutions in Thailand) โดย รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.)
4. PM2.5 และทางเลือกในการลดผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับการขนส่งทางถนนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (PM2.5 and Health Impact Reduction Options for Road Transport in Bangkok Metropolitan Region) โดย รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล