เรื่องโดย กองบรรณาธิการ
จากนักศึกษาตัวเล็ก ๆ ของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่อยากให้โพรเจกต์ระหว่างเรียนกลายเป็น “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” อันเปล่าประโยชน์ ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ มหาบัณฑิตจบใหม่ในวันนั้นตัดสินใจด้วยความกล้าและความมุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำความฝันของผู้พิการและผู้ป่วยหลาย ๆ คนให้เป็นจริง ด้วยการนำงานวิจัย “วีลแชร์ยืนได้” และ “เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” ที่อยู่บนหิ้งลงมาปัดฝุ่น รังสรรค์เป็นนวัตกรรมชิ้นเอกของบริษัทสตาร์ตอัปด้านเครื่องมือแพทย์ในรั้วอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.)
ปัจจุบัน ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ คือ CEO ของบริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด (CMED Medical) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นและให้นิยามว่าเป็นบริษัทด้านนวัตกรรมการแพทย์รูปแบบใหม่ โดยสินค้าทั้งหมดของบริษัทมาจากการออกแบบ วิจัย และพัฒนาขึ้นภายในบริษัท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานภายในประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
“ซีเมดเมดิคอลเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เนื่องจากผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัทของเราจึงเป็นสตาร์ตอัปที่ได้รับการบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังได้ร่วมวิจัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยฯ จนเกิดเป็นนวัตกรรมตัวแรก คือ วีลแชร์ยืนได้ (Standing Wheelchair) ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก ใหม่จนถึงขั้นได้รางวัลเหรียญทองการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้และสวิตเซอร์แลนด์ แม้จะประสบความสำเร็จในด้านการวิจัย แต่กลับกลายเป็นสินค้าที่ขายไม่ได้ เพราะยังขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างคําว่าสิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย”
วีลแชร์ยืนได้ ฟื้นฟูกายใจ
ธีรพงศ์ขยายความต่อไปว่าผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่จะจำหน่ายได้ต้องผ่านมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นั่นถือเป็นความท้าทายอย่างมากของสตาร์ตอัปที่มาจากนักศึกษาจบใหม่และเพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างตัวโดยไม่ได้มีเงินทุนอุดหนุนจากครอบครัว ทางเดียวที่จะทำได้คือการขอทุนวิจัย ซึ่งบริษัทซีเมดฯ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำหรับการพัฒนาต้นแบบวีลแชร์ยืนได้ และได้รับทุน Research Gap Fund จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาต้นแบบวีลแชร์ยืนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปสู่นวัตกรรมพร้อมจำหน่าย
จุดเด่นของวีลแชร์ยืนได้คือผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมอัลลอยด์เกรดพิเศษ มีความแข็งแรงทนทาน มีน้ำหนักเบาเพียง 20 กิโลกรัม สามารถรองรับผู้ป่วยหรือผู้พิการที่มีน้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 90 กิโลกรัม และมีกลไกช่วยให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืนได้โดยออกแรงแขนเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังใช้ได้กับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนและอัมพาตครึ่งซีก (จากโรคหลอดเลือดสมอง) กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ในการฝึกทำกายภาพบำบัด
“วีลแชร์ยืนได้ช่วยให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือคนพิการที่ยืนไม่ได้กลับมายืนได้อีกครั้งหนึ่ง ช่วยให้เขาทํากิจวัตรประจําวันได้ด้วยตัวเอง ช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถยืนได้ใช้เพื่อฝึกยืนในการทํากายภาพบำบัด ซึ่งจะส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานดีขึ้น ลดปัญหาแผลกดทับ ทำให้เขามีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ” ธีรพงศ์กล่าว
ตีโจทย์แตก สร้างนวัตกรรมที่แตกต่าง
หลังจากวีลแชร์ยืนได้ออกสู่ตลาดแล้ว ธีรพงศ์พบปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่งคือ จะช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงลงจากเตียงมานั่งวีลแชร์ได้อย่างไร ปัญหาที่พบนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมต่อมาคือ “เครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” (CMED Hoist) ซึ่งได้รับทุนจากโครงการไอแทป (ITAP) สวทช. ในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในยุโรป
“ผู้ป่วยติดเตียงคือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายลงจากเตียงได้ ส่งผลให้ร่างกายแย่ลง สุขภาพแย่ลง ต้องอาศัยผู้ดูแล หลายบ้านต้องจ้างคนมาดูแล หรืออาจจำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ จึงอยากช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้ดูแล และช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้ใช้วีลแชร์ยืนได้ในการทำกายภาพบำบัดหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เราจึงพัฒนาเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อช่วยให้ผู้ดูแลสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงจากเตียงได้ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“อย่างไรก็ตามเครื่องยกผู้ป่วยที่มีอยู่ทั่วไปเป็นการยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียง พื้น หรือวีลแชร์ ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าในรถยนต์ได้ เราจึงพัฒนาต่อจนได้เครื่องยกผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากวีลแชร์เข้าไปในรถยนต์ได้ (CMED Hoist – Multi Lift) เราเป็นบริษัทแรกที่ผลิตเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงเข้าในรถยนต์ได้ทุกประเภทโดยผู้ดูแลเพียงคนเดียว แตกต่างจากเจ้าอื่นในท้องตลาด จากนั้นเรายังพัฒนาต่อไปอีกให้เป็นเครื่องยกผู้ป่วยที่ชั่งน้ำหนักได้ ปัจจุบันมีเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งหมด 4 รุ่น นำไปใช้งานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนแล้วหลายแห่ง”
ตัวอย่างนวัตกรรมเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยระบบไฟฟ้าแบบปรับองศาได้ จุดเด่นคือ ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างเตียง วีลแชร์ พื้น และรถยนต์ได้ อุปกรณ์มีความแข็งแรงทนทาน รองรับน้ำหนักได้สูงสุด 150 กิโลกรัม ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยสากล IEC60601-1 ในการใช้งาน ผู้ใช้สามารถปรับองศาผู้ป่วยในระหว่างยกเพื่อกระจายแรงกดทับ ชั่งน้ำหนักผู้ป่วยในระหว่างยกได้ ใช้งานได้ทั้งแผนกเวรเปล ฉุกเฉิน กายภาพบำบัด ผู้ป่วยใน และศูนย์ทันตกรรม ปัจจุบันนำไปใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงใช้ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐ 12 แห่งทั่วประเทศ เช่น บ้านบางแคในกรุงเทพฯ บ้านธรรมปกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่
อวท. ทำเลดีมีครบทุกฟังก์ชัน
ธีรพงศ์ยอมรับว่าการที่เขาเลือกตั้งบริษัทอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. คือปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเกื้อหนุนให้ซีเมดเมดิคอลเติบโตขึ้นจนถึงทุกวันนี้ เพราะด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นต้นกำเนิดนวัตกรรมของบริษัท และยังใกล้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทำให้บริษัทฯ ได้จ้างงานทั้งบัณฑิตจบใหม่และนักศึกษาฝึกงานที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือใกล้ผู้เชี่ยวชาญ ใกล้หน่วยงานวิจัย และใกล้แหล่งทุน
“เราเริ่มต้นจากบริษัทเล็กมาก ๆ ที่มาเช่าออฟฟิศเพียงหนึ่งห้อง มีพนักงานหนึ่งคนคือผมเอง ที่เลือกมาตั้งที่ สวทช.เพราะว่าเราต้องการความร่วมมือจากทางภาครัฐคือ สวทช.และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้นในช่วง 2 ปีแรกจึงสู้มาก ต้องทำเองคนเดียวทั้งการวิจัยพัฒนา การขาย และการบริการต่าง ๆ แต่เราสามารถทำธุรกิจได้รวดเร็ว เพราะว่าเราเลือกเฉพาะส่วนที่เป็นแกนหลักคือส่วนงานวิจัยและงานขายให้อยู่ใน สวทช. ยกเว้นส่วนการผลิตที่จ้างโรงงานผลิตข้างนอก ทำให้บริษัทเครื่องมือแพทย์ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งโรงงานอยู่ที่นี่ด้วย”
ผ่านมา 8 ปี จากออฟฟิศ 1 ห้อง ขยายเป็น 3 ห้อง มีพนักงานเพิ่มขึ้นทุกแผนก ยอดขายเติบโตจาก 5 ล้านบาทใน 2 ปีแรก เป็น 40 ล้านบาทในปัจจุบัน ธีรพงศ์บอกว่าเขาคิดถูกแล้วที่เลือกทำเลที่ตั้งบริษัทอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยที่เป็นเหมือนศูนย์เบ็ดเตล็ดของผู้ประกอบการ มีพร้อมทุกอย่างทั้งศูนย์วิจัย ศูนย์ทดสอบ ห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญ ทีมที่ปรึกษา และเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย โดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2567 บริษัทซีเมดฯ ได้รับทุน TED Fund Market Scaling Up (โครงการส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม) จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อขยายตลาดและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น
“เนื่องจากเราเป็นบริษัทนวัตกรรมด้านการแพทย์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ A-MED กลุ่มวิจัยด้านการแพทย์ของ สวทช. เวลาที่มีกิจกรรมออกบูท อวท.ก็จะเชิญเราไปออกบูทด้วย รวมถึงกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ อวท.ก็จะเชิญเราไปด้วย ดังนั้นถ้าคุณกำลังมองหาคอนเน็กชัน ไม่ว่าจะเป็นคอนเน็กชันของกลุ่มบริษัทที่ทําเหมือนคุณ เป็นบริษัทด้านนวัตกรรมแบบเดียวกัน ผมว่าที่นี่พร้อมที่สุด และยังมีความพร้อมด้านคอนเน็กชันจากภาครัฐด้วย”
ท้ายสุดธีรพงศ์ยังฝากข้อคิดในการทำธุรกิจนวัตกรรมว่า บริษัทควรต้องมีนักวิจัยที่เป็นคีย์แมน ควรลงทุนกับการทำวิจัยมากขึ้น และเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะแม้ปัจจุบันการตลาดจะนำธุรกิจ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทําให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกคือความเป็นนวัตกรรม ฟังก์ชันที่ตอบสนองได้มากกว่า และความน่าเชื่อถือของบริษัท
สำหรับโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยสนใจเยี่ยมชมและทดลองสินค้าของบริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด ติดต่อ ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ โทร. 08 7028 4784 อีเมล Teerapong.s@cmedmedical.com เว็บไซต์ www.cmedmedical.com