สีสันของอัญมณี

เรื่องโดย ผศ. ดร.ณัฐพงศ์ โมนฤมิตร


เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารสีหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” หากเอ่ยถึงบทกลอนนี้ เชื่อว่าหลายท่านน่าจะคุ้นเคย หรือเคยได้ยินผ่านหูกันมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความนิยมชมชอบในเรื่องของอัญมณี เพชร พลอย และเครื่องประดับต่าง ๆ

ในนิทานโมร็อกโก แม่มดใจร้ายลักขโมยเด็กจากหมู่บ้านมาใช้แรงงานเยี่ยงทาส เด็กคนไหนเหน็ดเหนื่อยไม่มีแรงก็จะถูกสาปเป็นอัญมณีสีต่าง ๆ ประดับบนกิ่งไม้ในสวน ผู้ชายคนหนึ่งลักลอบเข้ามาในสวนของแม่มด พอรับรู้เรื่องราวจากพวกเด็ก ๆ เลยเสนอตัวจะช่วยเหลือพวกเขา ผู้ชายคนนั้นท้าทายแม่มด ไม่เชื่อว่าแม่มดจะเสกเด็ก ๆ เป็นอัญมณีได้จริง แม่มดเลยพิสูจน์ให้ดูด้วยการแปลงตัวเองเป็นโกเมนสีแดงก่ำ ชายหนุ่มได้โอกาสรีบคว้าโกเมนโยนลงบ่อน้ำ พอแม่มดจมน้ำตาย อัญมณีบนกิ่งไม้ก็กลับกลายมาเป็นเหล่าเด็ก ๆ ผู้ชายคนเดิมต้องนั่งเรือไปส่งเด็ก ๆ คืนตามหมู่บ้าน เลยตัดต้นไม้ทิ้ง และในลำต้นนี้เอง เขาก็เจอกับอัญมณีจริงหลากหลายสีสันซ่อนอยู่ภายใน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจัดเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยของเราในแต่ละปีค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศไทยของเรานั้นมีแหล่งทรัพยากรธรณี โดยเฉพาะพลอยสีชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่แทบทุกภูมิภาค นอกจากนั้นประเทศไทยยังอุดมไปด้วยช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในการปรับปรุงคุณภาพพลอย ตลอดจนการเจียระไน และการทำเครื่องประดับ จึงทำให้เป็นศูนย์กลางในการค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำสู่ผู้บริโภคในที่สุด

โดยมูลค่าหรือราคาของพลอยสีแต่ละชนิดนั้นล้วนขึ้นอยู่กับคุณภาพของพลอยแต่ละเม็ด นักอัญมณีวิทยา จะทำหน้าที่ประเมินคุณภาพอัญมณีโดยยึดตามหลักเกณฑ์เบื้องต้น นั่นคือหลัก 4Cs ได้แก่ สี (color) ความสะอาด (clarity) รูปแบบการเจียระไน (cutting) และน้ำหนักของพลอย (carat) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทั้ง 4 อย่างดังกล่าวนั้น สี จัดเป็นปัจจัยที่นำมาพิจารณาในเบื้องต้นได้ง่ายที่สุด เนื่องจากเป็นคุณลักษณะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมากมาย ในเบื้องต้นใช้เพียงแค่ดวงตาของเราและแสงสว่างเท่านั้น อย่างไรก็ตามการพิจารณาขั้นสูงเพื่อประเมินคุณภาพพลอยสี นักอัญมณีวิทยาจะใช้อุปกรณ์เฉพาะทางเพื่อเทียบมาตรฐานของสีให้มีความถูกต้องแม่นยำ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและเป็นข้อมูลสำคัญส่วนหนึ่งในการออกใบรับรองคุณภาพอัญมณี (certificate)

สำหรับการประเมินคุณภาพสีของอัญมณีหรือพลอยสีต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการนั้น นักอัญมณีวิทยาจะใช้แหล่งกำเนิดแสงมาตรฐาน หรือที่เราเรียกว่า หลอดไฟ ที่มีค่าอุณหภูมิสีที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ตัวอย่างพลอย อ้างอิงตามคณะกรรมการนานาชาติเรื่องการส่องสว่าง (CIE) โดยหลอดไฟแต่ละประเภทจะมีค่าอุณหภูมิสีที่แตกต่างกันและส่งผลต่อสีของพลอยที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นการเลือกแหล่งกำเนิดแสงที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

การเทียบสีของอัญมณีอย่างง่ายนิยมใช้อุปกรณ์เทียบสีมาตรฐานที่มีลักษณะเป็นแท่งพลาสติกเทียบสีและมีการอธิบายค่าสี ซึ่งจะพิจารณาคุณลักษณะทางสี 3 ส่วน ได้แก่ สีสัน (hue) ความสว่าง (tone) และความอิ่มตัวของสี (saturation) โดยแท่งพลาสติกเทียบสีแต่ละชิ้นนั้นจะมีรหัสสี (color code) กำกับอยู่ ทั้งนี้ในการเทียบสีด้วยวิธีดังกล่าวยังต้องอาศัยประสบการณ์ของนักอัญมณีวิทยา ความสามารถในการรับรู้และการประมวลผลของสายตาและสมองของมนุษย์ จึงทำให้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นได้

นักอัญมณีวิทยาจึงได้คิดค้นวิธีการเทียบสีมาตรฐานด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เพื่อลดความคลาดเคลื่อนดังกล่าว ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือวัดสี (colorimeter) อาศัยหลักการของระบบสี CIELAB Munsell Index โดยนำตัวอย่างอัญมณีไปเข้าเครื่องมือดังกล่าว ซึ่งแยกสีที่ดวงตามนุษย์ไม่สามารถแยกได้ แสดงผลออกมาเป็นตัวเลข ข้อมูลที่ได้จึงมีค่าความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสจากดวงตามนุษย์ โดยค่า L* สื่อถึงค่าความสว่าง ค่า a* และ b* สื่อถึงค่าแม่สี (แดง, เขียว, เหลือง, น้ำเงิน) และนำมาพิจารณาประกอบกันเราจะได้ค่าสีของอัญมณีตามที่ตรวจวิเคราะห์ได้จริงในแต่ละตัวอย่าง โดยจะเป็นค่าเฉพาะตัวของอัญมณีนั้น ๆ ไม่ว่าผู้ทำการตรวจวิเคราะห์จะมีประสบการณ์มากหรือน้อยก็ตาม ค่าที่ตรวจวัดได้จะเป็นค่าเดียวกันเสมอ

นอกจากการตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินคุณภาพสีดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ในงานวิจัยเชิงลึกที่เกี่ยวกับสีของอัญมณีพบว่า นักอัญมณีวิทยาสนใจเกี่ยวกับการอธิบายสาเหตุการเกิดสีของอัญมณี ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพสีของอัญมณีด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยใช้หลักการและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างอะตอมและโมเลกุลของอัญมณีแต่ละชนิด ร่วมกับองค์ความรู้ทางฟิสิกส์ เคมี รวมถึงแร่วิทยา มาสร้างทฤษฎีสำหรับอธิบายสาเหตุการเกิดสีของอัญมณีต่าง ๆ มากมายซึ่งจะมีความจำเพาะเจาะจงกับการเกิดสีของอัญมณีแต่ละชนิด เช่น ทฤษฎีศูนย์กลางสี (color center) ทฤษฎีสนามผลึก (crystal field) ทฤษฎีแถบพลังงาน (energy band) รวมไปถึงการเกิดสีโดยปรากฏการณ์ทางกายภาพ (physical phenomena) องค์ความรู้ดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในเชิงวิชาการและเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนมากขึ้น เป็นองค์ความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นไปในแต่ละวัน

About Author