“ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์” ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายของโลกในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติกำลังใกล้สูญสลาย ซึ่งในปัจจุบัน สัตว์น้ำโดยเฉพาะ “ปลา” ซึ่งถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของ SDG14 (Life Below Water) ที่นอกจากจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงแหล่งอาหารโปรตีนอันอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ทั้งโลกแล้ว ปลายังเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืดที่มีเพียง 3% ทั่วโลก ปลาน้ำจืดจึงมีโอกาสที่จะคาดการได้ถึงภาวะการสูญพันธุ์ได้ใน อนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ทองหนูนุ้ย อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ผู้มีผลงานวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องตีพิมพ์มากมายในวารสารวิชาการนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS ซึ่งก่อให้เกิดคุณูปการต่อวงการอนุรักษ์ปลาน้ำจืดของไทยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
หนึ่งในผลงานที่นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ได้แก่ การศึกษาการอพยพย้ายถิ่นวางไข่ปลาน้ำจืด ซึ่งเป็นข้อมูลที่พบน้อยมากในประเทศไทยสู่ระดับนโยบายของกรมประมง เพื่อป้องกันการจับปลาในฤดูวางไข่ โดยสามารถขยายระยะเวลาจาก 2 เดือน เป็น 4 เดือน
ซึ่งจากการลงพื้นที่ศึกษา “ลำห้วยบีคลี่” อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พบว่ามีปลาหลากชนิดที่ยังคงต้องการวางไข่มากกว่า 2 เดือนใน “ฤดูน้ำแดง” ซึ่งเกิดในช่วงฝนตกหนักจนน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น โดยสีแดงของแม่น้ำเกิดจากฝนที่ตกลงมา แล้วชะล้างเอาแร่ธาตุบนหน้าดินละลายลงแม่น้ำ ทำให้เกิดเป็นน้ำแดงซึ่งเป็นสัญญาณทางธรรมชาติที่ทำให้ปลาน้ำจืดอพยพจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ขึ้นมาวางไข่ในบริเวณต้นน้ำของลำห้วยบีคลี่
นอกจากนี้ ยังได้พานักศึกษาสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ลงพื้นที่ศึกษาพันธุ์ปลาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง ในจังหวัดกาญจนบุรี และอุทัยธานี เพื่อเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลา และตรวจวัดคุณภาพน้ำ เปรียบเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งจากการลงพื้นที่ดังกล่าวทำให้นักศึกษาได้สัมผัสและเรียนรู้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมประสบการณ์อันทรงคุณค่าจากได้ค้นพบปลาชนิดใหม่ของโลกประมาณ 15 ชนิดในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง
ตลอดจนได้ศึกษาวิจัยจนสามารถสร้างนวัตกรรมซึ่งสามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับประเมินและวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อทำนายการสูญพันธุ์ของปลาน้ำจืดไทย
โดยพบว่าปลาบางชนิดแม้จะสามารถทนต่อสภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งอาจเกิดการสูญพันธุ์ได้ หากไม่ได้รับการอนุรักษ์และรักษาระบบนิเวศแหล่งน้ำกับสภาวะแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ด้วยศาสตร์แห่ง “ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์” ยังช่วยต่อชีวิตปลาไทยสายพันธุ์ดั้งเดิมให้สืบต่อถึงรุ่นลูกหลาน โดยใช้หลักการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อผลิตลูกพันธุ์ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ทองหนูนุ้ย มองว่าควรเป็นการพัฒนาจากพ่อ-แม่พันธุ์ท้องถิ่นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่เขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ
โดยงานพัฒนาสายพันธุ์ปลาน้ำจืดเชิงอนุรักษ์ จะเน้นการใช้พ่อ – แม่พันธุ์ปลาสายพันธุ์ดั้งเดิมเพื่อรักษาพันธุกรรมเดิมไว้ จึงเป็นงานที่แตกต่างจากงานพัฒนาสายพันธุ์ปลาน้ำจืดแบบผสมข้ามสายพันธุ์ (Hybridization) หรือเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ในด้านการตัดต่อทางพันธุกรรม ซึ่งเหมาะสำหรับการพัฒนาพันธุ์ปลาในเชิงเศรษฐกิจมากกว่า
จากประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานด้านการอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ทองหนูนุ้ย ได้กลายเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะสร้าง “แหล่งธรรมชาติวิทยาเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ” (Aquarium) ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับลุ่มน้ำแม่กลองที่เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์ปลา สัตว์น้ำต่างๆ และเป็นแหล่งพันธุ์ปลาน้ำจืดที่มีชื่อเสียงระดับโลก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี “แหล่งธรรมชาติวิทยาเพื่อการอนุรักษ์ปลาและสัตว์น้ำ” จะสามารถเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ วิจัยทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยต่อไป
โดยเป็นการสานต่อจากการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายระดับนานาชาติจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกึ่งร้อน มีพันธุ์ปลาน้ำจืดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า พันธุ์ปลาน้ำจืดจากลุ่มน้ำแม่กลองหลายชนิดมีชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ อาทิ ปลากระเบนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาหมอแคระ ปลาหลดแม่กลอง และกลุ่มปลาค้อภูเขา เป็นต้น
ด้วย 3 ปัจจัยหลักที่ว่าด้วยเรื่องของอากาศ น้ำ และการพัฒนาชุมชน หากมีการบริหารจัดการที่สมดุลและมีประสิทธิภาพ เชื่อมั่นว่าจะสามารถอนุรักษ์และป้องกันการสูญพันธุ์ของปลาน้ำจืดไทยให้พ้นวิกฤติได้ ทั้งนี้ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนที่ยังคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศแหล่งน้ำ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210