ท่ามกลางความรุ่มรวยทางวัตถุของโลกยุคปัจจุบัน การดำรงจิตใจให้อยู่ในภาวะสงบเย็น ไม่เคร่งเครียด เร่าร้อน หรือวิ่งตามแรงปลุกเร้าของสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางการรับรู้ของอายตนะทั้ง 5 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ผู้คนทุกวันนี้ไม่ว่าจะอยู่ในเพศ วัย ฐานะ ศาสนา และเชื้อชาติใด ควรมี “เครื่องมือภายใน” ที่จะช่วยให้อยู่กับโลกที่สับสนวุ่นวาย แข่งขันเร่งรีบ และกดดันอย่างรู้เท่าทัน ถูกกระทบให้น้อยที่สุด มีความสงบเย็นเป็นปกติให้มากที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวอธิบายถึง “จิตตปัญญาศึกษา” ว่า คือ การศึกษาที่เน้นการพัฒนาจากภายใน เพื่อให้เกิดสติ หรือความตื่นรู้ ที่จะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และเผชิญกับโลก ที่จะนำมาซึ่งความถูกต้อง และเกิดผลที่สร้างความสุขเย็นให้กับตนเองและสังคมรอบข้าง เป็นการศึกษาที่เน้นการเติบโตจากภายในสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทพยายามนำหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับ “จิตตปัญญาศึกษา” เข้าไปเชื่อมโยงกับการศึกษาและการพัฒนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการจะจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการจัดฝึกอบรม โดยหวังจะสร้างเมล็ดพันธุ์แห่ง “การตื่นรู้” ให้เติบโตงอกงามในทุกหัวใจ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายแค่คนไทย แต่ได้มองไปถึงการขยายผลออกไปสู่ระดับภูมิภาคต่อไปอีกด้วย
“มีวิธีการมากมายที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับความนิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา การทำสมาธิ ทั้งที่เป็นเทคนิคพื้นฐาน หรือเป็นเทคนิคในเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าวัด การฟังดนตรีที่สงบเย็น การเดิน การสวดมนต์ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในหลักของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม หัวใจสำคัญของการเข้าไปเผชิญกับปัญหาต่างๆ อยู่ที่ “การจัดการภายใน” สังคมภายนอกจะเป็นอย่างไร หากใจเรามี “สติ” ตื่นรู้ เราก็จะสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ภายนอกได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และทุกข์น้อยลง”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบสุขภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้บริการด้วย “หัวใจของความเป็นมนุษย์” หรือ “Humanized Healthcare” ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร จนถึงเวรเปล ฯลฯ หากเรามีความเข้าใจในมิติแห่งความตื่นรู้ต่างๆ ผ่านการรับฟัง ความเข้าใจผู้อื่น การบริการก็จะออกมาดี จากการรู้จักให้อภัย เข้าใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง กล่าว
เช่นเดียวกับ หลักการของ “Mindfulness Campus” เพื่อการตื่นรู้ที่ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทพยายามใช้ประสบการณ์ 15 ปีที่สั่งสมมาต่อยอดสร้างเป็นแพลทฟอร์มถ่ายทอดสู่วิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขยายแนวคิด Mindful Education สู่ชุมชน เพื่อให้เกิด “การตื่นรู้” เติบโตเบ่งบานในทุกหัวใจต่อไป
25 – 26 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดจัดงานประชุมวิชาการ “จิตตปัญญาสิบห้าปีการเติบโตจากภายในสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ขอเชิญผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ www.ce.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย
วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210