โดย ภัทริน เกียรติกมลกุล
เราได้ยินคำว่า “ลิขสิทธิ์” กับ “สิทธิบัตร” จากสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง และหลายครั้งก็มีการใช้คำทั้งสองนี้ผิดความหมายไปจากที่ควรจะเป็น อย่างการพูดถึงสิทธิบัตร แต่เรียกเป็นลิขสิทธิ์ อาจเกิดจากความคุ้นชินของคนทั่วไปที่ในชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์มากกว่า ไม่ว่าจะจากเพลง หนังสือ หรือภาพยนตร์ และอาจจะมาจากความที่ชื่อก็ค่อนข้างคล้ายกันเลยเกิดความสับสน หรือบางคนอาจจะไม่สับสนแต่ยังแยกความแตกต่างระหว่างลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตรไม่ออก ความจริงแล้วลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาคนละประเภทกัน มีวัตถุประสงค์ในการใช้แตกต่างกันอย่างชัดเจน
เริ่มกันที่ ลิขสิทธิ์ (copyright) ที่มีสัญลักษณ์ © คือ การให้ความคุ้มครองความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แก่เจ้าของผลงาน ซึ่งต้องใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานนั้น ๆ ขึ้นมา โดยกฎหมายจะให้ความคุ้มครองงานที่ได้สร้างสรรค์มาโดยอัตโนมัติ (automatic protection) ซึ่งงานสร้างสรรค์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มี 9 ชนิด ได้แก่
- งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ บทความ บทกลอน โปรแกรมคอมพิวเตอร์
- นาฏกรรม เช่น ท่าเต้น ท่ารำ ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว
- ศิลปกรรม เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย
- ดนตรีกรรม เช่น ทำนองเพลง เนื้อร้อง
- โสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดีคาราโอเกะ
- ภาพยนตร์
- สิ่งบันทึกเสียง เช่น ซีดีเพลง
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการโทรทัศน์
- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เช่น การเพนต์ศิลปะบนร่างกาย
ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำอะไรกับงานของตัวเองก็ได้ คนที่จะนำผลงานนั้นไปใช้ก็ต้องขออนุญาตจากเจ้าของก่อน หากนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็อาจเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ความพิเศษอีกอย่างของงานลิขสิทธิ์คือ จะได้รับความคุ้มครองทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน แต่เจ้าของผลงานจะแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้เช่นกัน โดยผลงานจะได้รับความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 7 กำหนดให้งานบางอย่าง ไม่ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ งานเหล่านั้นได้แก่
- ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร เว้นแต่มีการนำข้อมูลดังกล่าวมาเรียบเรียงจนมีลักษณะเป็นงานวรรณกรรม เช่น การวิเคราะห์ข่าว บทความ ผลงานนั้นอาจได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานวรรณกรรม
- รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
- ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือหนังสือตอบโต้อื่นใดของหน่วยงานของรัฐ
- คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตามข้อ 1) ถึง 4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
- ความคิดขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์
นั่นหมายความว่าคนทั่วไปใช้งานเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่แนะนำว่าควรอ้างอิงแหล่งที่มาของงานเพื่อให้เครดิตแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วย
ในขณะที่สิทธิบัตร (patent) จะคุ้มครองงานที่เป็นการประดิษฐ์ (invention) ที่ต้องใช้กระบวนการในการวิจัยและพัฒนา เช่น สูตรสารเคมี กรรมวิธีการผลิต กลไกหรือองค์ประกอบของอุปกรณ์หรือเครื่องจักร และการออกแบบผลิตภัณฑ์ (product design) เช่น รูปทรงโทรศัพท์มือถือ รูปทรงรถยนต์ โดยรัฐจะออกหนังสือสำคัญให้เพื่อคุ้มครองงานดังกล่าวในช่วงระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น อายุการคุ้มครอง 20 ปี
- อนุสิทธิบัตร จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใหม่ ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น อายุการคุ้มครอง 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี
- สิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ จะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ รูปร่าง สีสัน ลวดลายภายนอกของผลิตภัณฑ์ที่ใหม่เท่านั้น โดยไม่คุ้มครองถึงกลไกการทำงานภายในแบบผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อายุการคุ้มครอง 10 ปี
สิทธิบัตรทั้ง 3 ประเภทต้องประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ โดยเจ้าของงานต้องไปยื่นขอจดทะเบียนต่อสำนักสิทธิบัตรในประเทศที่ต้องการได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดและสาระสำคัญของงานประดิษฐ์นั้น ดังนั้นหากต้องการทำการตลาดหรือส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ สิ่งที่ควรทำคือ ยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศที่สินค้าจะออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบสินค้าในประเทศนั้น และเป็นประโยชน์ในการบังคับใช้สิทธิทางกฎหมาย
เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้นระหว่างลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตร ขอยกตัวอย่างมาอธิบายดังนี้
ตัวอย่างแรก ขออธิบายให้เข้าใจก่อนว่าเมื่อเราผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหนึ่งชิ้น เราขอรับความคุ้มครองได้ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร หรือแค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผลิตภัณฑ์นั้นเข้าตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายหรือไม่ ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ เรายื่นขอจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในส่วนโครงสร้างหรือระบบการทำงานของโทรศัพท์ได้ ส่วนรูปทรงของโทรศัพท์ก็ยื่นขอจดสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ และส่วนที่เป็นคู่มืออธิบายฟังก์ชันและวิธีการใช้งาน หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ ก็จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์
ตัวอย่างต่อไปขอยกตัวอย่างความแตกต่างระหว่างลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตรในเรื่องซอฟต์แวร์ (software) ที่หลายคนมักเข้าใจว่าซอฟต์แวร์ได้รับการคุ้มครองด้วยลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรมเท่านั้น ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองเป็นสิทธิบัตรได้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้อาจติดหูมาจากการรณรงค์ให้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ แต่แท้จริงแล้วถึงซอฟต์แวร์จะได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองรหัสต้นฉบับ (source code) ขณะที่สิทธิบัตรก็จะไม่ให้แก่การประดิษฐ์ที่เป็นซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มีรหัสต้นฉบับเพียงอย่างเดียว ต้องมีระบบการทำงานที่เป็นรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการการควบคุม/สั่งการ หรือลักษณะการเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบด้วย พูดง่าย ๆ คือ ซอฟต์แวร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นนั้นต้องมีการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ เช่น ระบบควบคุมเครื่องจักร ระบบการมอนิเตอร์และแสดงผล
จากตัวอย่างเรื่องโทรศัพท์ ถ้ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีระบบการทำงานร่วมกับตัวโทรศัพท์ ก็จะจดสิทธิบัตรได้ เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ (software-related invention) ที่มีการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีซอฟต์แวร์เป็นตัวควบคุมนั่นเอง
แม้ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรมีความแตกต่างกัน แต่ในความต่างกันนั้นก็ยังมีความเหมือนกันในความเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาในแง่การให้สิทธิความเป็นเจ้าของกับเจ้าของผลงานเพียงผู้เดียว ยกเว้นมีการตกลงไว้เป็นอย่างอื่น การเป็นรางวัลตอบแทนในการคิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ให้แก่ผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบ การสร้างให้เกิดวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ท้ายสุดนี้หากต้องการนำผลงานของคนอื่นที่มีลิขสิทธิ์หรือมีสิทธิบัตรคุ้มครองไปใช้ วิธีที่ดีที่สุดคือต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงานก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการทำความผิด ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม เพราะถึงแม้ว่าเจ้าของผลงานจะไม่ได้ระบุว่าห้ามลอกเลียนแบบ ห้ามนำไปใช้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราสามารถลอกเลียนแบบ หรือนำไปใช้ได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจได้อย่างถูกต้องว่าลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตรนั้นต่างกันอย่างไร
แหล่งข้อมูล: กรมทรัพย์สินทางปัญญา (www.ipthailand.go.th)