โลกร้อน ทะเลเดือด กับวิกฤตการณ์ ‘ปะการังฟอกขาว’ ทั่วโลกในรอบทศวรรษ

เรื่องโดย วีณา ยศวังใจ


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรง อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุกขณะกลายเป็นปัจจัยคุกคามที่นำมาสู่การเกิด ‘ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว’ (coral bleaching) ซึ่งทำลายพื้นที่แนวปะการังไปแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก

ล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ โนอา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) โดยหน่วยเฝ้าระวังแนวปะการัง (Coral Reef Watch: CRW) ได้เปิดเผยผลการสำรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรและแนวปะการังทั่วโลกช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567 พบว่าเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวแผ่ขยายเป็นวงกว้างในทะเลและมหาสมุทรทั่วทั้งเขตร้อน ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงทะเลแคริบเบียน ทะแลแดง อ่าวเปอร์เซีย อ่าวเอเดน ไม่เว้นแม้แต่แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ของออสเตรเลีย โดยครั้งนี้นับเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 ตั้งแต่ที่หน่วยเฝ้าระวังแนวปะการังของโนอาได้สำรวจและบันทึกไว้ และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้พบการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงระดับโลกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 ครั้งถัดมาในปี พ.ศ. 2553 และครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2557-2560


ภาพเปรียบเทียบปะการังปกติที่มีสีสันสวยงาม (ซ้าย) กับปะการังที่อยู่ในภาวะฟอกขาว (ขวา)

มีรายงานเพิ่มเติมจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Science: AIMS) ที่ทำงานร่วมกับองค์การอุทยานทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef Marine Park Authority) ในการติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงบริเวณแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 พบว่าเกิดปะการังฟอกขาวจำนวนมากและแผ่ขยายเป็นวงกว้าง นับว่าเป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่รอบที่ 5 ของเกรตแบร์ริเออร์รีฟในช่วงเวลา 8 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 หรืออาจกล่าวได้ว่าแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟเกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ทุก 1-2 ปี และการเกิดขึ้นถี่ทำให้ปะการังไม่มีเวลาเพียงพอที่จะฟื้นตัวได้อย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกันในประเทศไทยก็เริ่มพบการเกิดปะการังฟอกขาวแล้วเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานผลการติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวและติดตามอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณเกาะยา จังหวัดตรัง พบปะการังเริ่มมีสีซีดจางและพบปะการังฟอกขาวประมาณร้อยละ 1 ของปะการังมีชีวิตในพื้นที่สำรวจ โดยพบที่ระดับความลึกน้ำ 2–5 เมตร อุณหภูมิของน้ำทะเลมีค่าเฉลี่ย 31.80±0.37 องศาเซลเซียส (ระหว่างวันที่ 2–19 เมษายน พ.ศ. 2567)

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวมาจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งน้ำทะเลบนโลกนี้มีปริมาณมหาศาล การที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้นแสดงว่าโลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับคนเราอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบมากนัก แต่กับปะการังแล้ว อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเพียงองศาเดียวหมายถึงความเป็นความตายของปะการัง

ทั้งนี้ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว  คือ ภาวะที่ปะการังมีสีซีดจางจนมองเห็นเป็นสีขาว ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียสาหร่าย Symbiodinium สาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง โดยปกติสาหร่ายกับปะการังจะอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากัน ปะการังให้ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย ขณะที่สาหร่ายสังเคราะห์ด้วยแสงช่วยสร้างอาหารและคาร์บอนให้ปะการังใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างโครงสร้างหินปูน และยังมีส่วนช่วยสร้างสีสันสวยงามให้แก่ปะการังที่ปกติจะมีเพียงเนื้อเยื่อใส ๆ เท่านั้น แต่เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น สาหร่ายจะผลิตออกซิเจนปริมาณมากซึ่งเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อของปะการัง ปะการังจึงขับสาหร่ายออกจากเนื้อเยื่อเพื่อลดปริมาณออกซิเจน เมื่อไม่มีสาหร่ายอาศัยอยู่แล้ว ปะการังเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสที่เผยให้เห็นโครงสร้างหินปูนสีขาวที่อยู่ภายใน จึงเป็นที่มาของคำว่า “ปะการังฟอกขาว”

อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ของหน่วยเฝ้าระวังแนวปะการัง โนอา ได้เปิดเผยอีกว่าหากน้ำในมหาสมุทรยังคงอุ่นขึ้น ภาวะปะการังฟอกขาวก็จะยิ่งถี่และรุนแรงมากขึ้น และหากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นรุนแรงและยืดเยื้อยาวนานเกินไป อาจส่งผลทำให้ปะการังตาย สร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบนิเวศในทะเลและส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้คนที่ต้องพึ่งพาแนวปะการังในการดำรงชีวิต


เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะยา จังหวัดตรัง  (ที่มาภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างมากในท้องทะเล แม้ว่าแนวปะการังจะครอบคลุมพื้นที่ใต้ทะเลแค่ประมาณร้อยละ 1 ของพื้นที่ใต้ทะเลทั้งหมด แต่ว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลประมาณร้อยละ 25 ใช้ประโยชน์จากปะการัง ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร อนุบาล และที่หลบภัย อีกทั้งยังมีประชากรกว่า 500 ล้านคนบนโลกที่ต้องอาศัยพึ่งพาประโยชน์จากแนวปะการัง มีประมาณการว่ามูลค่าที่ได้จากแนวปะการังทั่วโลกนั้นสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมาจากอุตสาหกรรมด้านการประมงและการท่องเที่ยว

การฟอกขาวของปะการังที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่หากความเครียดที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดการฟอกขาวลดลงในช่วงเวลาที่ยังไม่สายเกินไป ปะการังก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้และเป็นที่พึ่งพิงให้แก่สรรพชีวิตบนโลกใบนี้ต่อไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

About Author