เรื่องและภาพโดย “ไอซี” วริศา ใจดี
Cosmic Calendar หรือ ปฏิทินจักรวาล เป็นปฏิทินที่รวบรวมประวัติศาสตร์ทุกอย่างของจักรวาล เริ่มตั้งแต่ปรากฏการณ์บิกแบง (Big Bang) จนถึงปัจจุบันนี้มาบรรจุไว้ในปีเดียว ปฏิทินจักรวาลจึงจำเป็นอย่างมากในการเรียนการสอนวิชาดาราศาสตร์ เพราะเป็นวิธีการอธิบายด้วยการอ้างอิงห้วงเวลาที่สัมพันธ์กับมนุษย์เรา เพื่อง่ายต่อการเข้าใจ และทำให้เราได้มองเห็นภาพรวมวิวัฒนาการของทุกสิ่งในจักรวาลว่ามีความเป็นมาอย่างไรในช่วงเวลานั้นเปรียบเทียบเป็นปีปฏิทินบนโลก โดยคุณคาร์ล เซแกน (Carl Segan) เป็นผู้คิดค้นหลักการอธิบายนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1977 และได้เผยแพร่ในหนังสือ The Dragons of Eden
ข้อมูลจาก Wikipedia
สาระวิทย์ในศิลป์ฉบับนี้ฉันขอนำเสนอภาพปฏิทินจักรวาลซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ฉันได้วาดขึ้นมาเอง โดยอ้างอิงข้อมูลเมื่อ 13,800 ล้านปี ย่อส่วนลงเป็น 1 ปี นั่นหมายถึง 1 เดือนในปฏิทินนี้เทียบเท่ากับ 1,150 ล้านปี , 1 วัน = 38 ล้านปี, 1 ชั่วโมง = 1.6 ล้านปี และ 1 วินาที = 440 ปีที่แล้ว
ถ้าไล่ดูตั้งแต่แถวแรก เริ่มจากเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน หรือราวสี่ร้อยล้านปีแรกของจักรวาล มีเหตุการณ์นับตั้งแต่บิกแบงจนถึงการก่อตัวของกาแล็กซีทางช้างเผือกและระบบสุริยะที่โลกของเราเป็นสมาชิกอยู่ นับต่อจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่ช่วงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก จากสัตว์เซลล์เดียวมาจนถึงไดโนเสาร์และมนุษย์ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ตามมา โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม แล้วย่อยลงไปเป็นวัน เป็นชั่วโมง ไปจนถึงวินาที ไปที่ 0 ของวันสุดท้ายของเดือนธันวาคมในปฏิทินจักรวาล ซึ่งก็คือเวลา ณ ปัจจุบันนั่นเอง
ทั้งนี้เราสามารถคำนวณคร่าว ๆ ได้ว่าในวันเกิดของเรามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้นในจักรวาล ซึ่งการคำนวณนั้นก็ใช้หลักการเทียบบัญญัติไตรยางค์โดยมี 365 ปีเทียบเท่ากับอายุของจักรวาล 13.797 พันล้านปี
โดยสรุปเป็นสูตรได้ว่า
โดย Tdays = จำนวนวันจาก 1 มกราคม, TGyr = จำนวนปีนับถอยหลังไปจากปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเกิดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นั่นนับเป็นวันที่ 50 จาก 1 มกราคม เมื่อแทนค่าเข้าในสูตรก็จะได้
แก้หาค่า TGyr ได้ออกมาเท่ากับ 11.91 พันล้านปีที่แล้ว ถ้าเราไปดูในปฏิทินจักรวาลก็จะพบว่าเหตุการณ์สำคัญทางจักรวาลที่ใกล้เคียงกับวันที่ 20 กุมภาพันธ์คือ วันที่ 26 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่กาแล็กซีแรกถือกำเนิดขึ้น
เพื่อน ๆ ลองคำนวณกันดูนะ หรือจะคำนวณผ่านเกมที่ฉันทำขึ้นมาก็ได้ ลองเข้าไปเล่นได้ตามลิงก์นี้เลย iseej.github.io/CosmicCalendar/