การทำงานก่อให้เกิดการเรียนรู้ และชีวิตที่มีคุณค่า แม้ในยามวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้ทุกชีวิตต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกวิถีใหม่ เช่นเดียวกับที่ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ได้มีการกำหนดหัวข้อรณรงค์เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงานของโลก (World Day for Safety and Health at Work) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 เมษายน ที่จะถึงนี้ เพื่อการเฝ้าระวังและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
เมื่อมาถึงจุดที่ต้องหยุดพักจากการทำงานเพื่อตั้งหลักและทบทวนในยามที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ และนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวแนะนำว่า เมื่อยามใดที่เกิดวิกฤติให้หยุดคิด และพิจารณาว่าเรากำลังกลัวอะไร ซึ่งการมีสติอยู่เสมอ คือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
การมีสตินั้นสามารถฝึกได้ในทุกขณะจิต เพียงแค่ได้หยุดอยู่กับตัวเอง แม้ตอนหายใจ โดยการฝึกเป่าลมเข้าปากช้าๆ นับ 1-2-3 ในใจ แล้วเป่าลมออกยาวๆ ประมาณ 1-2 นาที หรือดื่มน้ำช้าๆ โดยรับรู้รส กลิ่น และสัมผัส ตลอดจนการได้อยู่กับธรรมชาติโดยเอาเท้าสัมผัสพื้น
จากนั้นให้เปิดใจยอมรับว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วมา “จัดห้องใหม่” หรือจัดระเบียบความคิดที่ทำให้เกิดปัญญา ซึ่งทุกปัญหามีทางแก้ไข ถ้าทำอย่างมีสติ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ในชีวิตนี้ เราอยากเป็นคนที่มีคุณค่าแบบใด” ซึ่งไม่ว่าเราจะจัด “ห้องใหม่” ออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรมีอยู่ในห้อง คือ ความอดทน รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ช่วยเหลือ แบ่งปัน กตัญญู และให้อภัย เป็นองคาพยพสู่ชีวิตวิถีใหม่
“ยิ่งจำ ยิ่งคิด ยิ่งอ่อนแอ ยิ่งตำหนิผู้อื่น” เมื่อให้อภัยตัวเองได้แล้ว อย่าลืมให้อภัย และลองมองสิ่งดีๆ ของผู้ที่อยู่รอบข้าง จะทำให้เราสามารถ “ปลดตะขอ” เพื่อพร้อมรับสิ่งใหม่อย่างมีสติ แม้จะเกิดวิกฤติอีกสักกี่ครั้ง ก็จะสามารถผ่านไปได้อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพใจที่แข็งแรงได้ในที่สุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210