โดย ดร.ป๋วย อุ่นใจ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล
ตอนเด็กๆ ผมเคยแอบฝันอยากลองเป็นคนจัดรายการวิทยุดูสักครั้ง และในช่วงใกล้จบปริญญาเอกก็โชคดี มีโอกาสได้ลองทำอาชีพในฝันของตัวเองไปเป็นคนอ่านข่าวภาคภาษาอังกฤษให้สถานีวิทยุมีชื่อแห่งหนึ่งแถวๆ วิภาวดี เลยได้ลองฝึกใช้โปรแกรมตัดต่อเสียงอยู่พักใหญ่ ใครจะรู้ ตอนนี้ผันตัวมาสวมบทบาทเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในยุควิกฤต เลยจำเป็นต้องคิดรื้อฟื้นความหลัง งัดสกิลเก่าเอามาอัปเป็นสกิลใหม่อีกรอบ ทั้งตัดต่อเสียง ตัดต่อคลิปแบบจัดเต็ม
ในเวลานี้ ครูและอาจารย์หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มต้องสวมวิญญาณเอนเตอร์เทนเนอร์ คล้ายๆ แนวดีเจ หรือคาสต์เกม
อาจารย์บางคนเริ่มมีเปิดเพลงก่อนรายการสอน เพื่อช่วยให้นักเรียนนักศึกษาได้ผ่อนคลายก่อนจะเริ่มบทเรียนที่แสนตึงเครียด
แต่การสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่อาจารย์หลายคนล้วนเเล้วแต่เหนื่อยและไม่สนุกในการที่จะทำ ด้วยทรัพยากรส่วนตัวที่มีอยู่อย่างจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งยามเวิร์กฟรอมโฮมทำให้การจัดการห้องเรียนทำได้อย่างกระเบียดกระเสียร
บางคนรวมทั้งผมด้วย เน้นการอัดเลกเชอร์เอาไว้ ให้นักเรียน นักศึกษาได้ไปดู แล้วค่อยจัด Q&A แบบไลฟ์สดอีกรอบ ซึ่งหนักกว่าการสอนในห้องเรียนอยู่อย่างเห็นได้ชัด เพราะเหมือนต้องทำงานอย่างน้อยสองรอบ อัดรอบนึง ตอบคำถาม Q&A อีกรอบนึง
ซึ่งในเดือนที่ผ่านมาก็เริ่มมีลุ้นว่าโรงเรียนและสถานศึกษาจะเปิดทำการได้อีกรอบหรือไม่ หลายโรงเรียนเริ่มเปิดการเรียนการสอนออนไซต์ ทำให้อาจารย์และครูหลายคนต่างก็เริ่มมีความหวังว่าชีวิตจะได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ หรือใกล้เคียงปกติ
แต่เปิดได้เเป๊บเดียวก็งานเข้า กลายเป็นเรื่องโกลาหลกันยกใหญ่ เมื่อโควิดติดในโรงเรียน ซึ่งที่จริงแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะในตอนแรกที่ไวรัส SARS-CoV-2 ระบาดใหม่ๆ จากเมืองอู่ฮั่น แม้จะมีการรายงานการติดเชื้อในผู้ใหญ่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่พบว่าการติดเชื้อในเด็กนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก จนหลายคนคิดว่าโรคนี้น่าจะไม่เป็นปัญหาอะไรสำหรับเด็ก
เมื่อปีที่แล้วหลายประเทศพิจารณาเรื่องการเปิดโรงเรียน ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี ซึ่งผลการายงานการติดเชื้อค่อนข้างดูดี ในอังกฤษอัตราการติดเชื้อในโรงเรียนนั้นมีเพียงแค่ราวๆ 70 คน จากจำนวนเด็กทั้งหมดราวๆ หนึ่งล้านหกแสนกว่าคนในระบบ ผลของอิตาลีก็เช่นกัน พวกเขาเปิดโรงเรียนไปหกหมื่นห้าพันกว่าแห่ง แต่มีรายงานติดจริงอยู่แค่พันกว่าแห่งเท่านั้น
ซึ่งต้องถามว่าคุ้มเสี่ยงไหมที่จะเปิด
ถ้ามองประสิทธิภาพของการศึกษา นโยบายย้อนกลับไปเปิดเรียนปกติอาจจะคุ้มก็ได้ในปีก่อน เพราะถ้าเทียบว่าความปลอดภัยนั้นต้องแลกมาด้วยคุณภาพการศึกษาที่ด้อยประสิทธิภาพลงอย่างเห็นได้ชัด
จากการวิเคราะห์เชิงลึกโดยบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติระดับแนวหน้าของโลกอย่างแมกคินซีย์แอนโค (McKinsey & Company) บ่งชี้ว่าในช่วงเรียนจากบ้าน เลิร์นฟรอมโฮมนั้น ทักษะกระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กนักเรียนในสหรัฐอเมริกาถดถอยลงไปอย่างน้อยหกเดือนถึงหนึ่งปี
ไม่อยากจินตนาการว่าถ้ามาวิเคราะห์วิธีจัดการเรียนการสอนแบบอัดเข้าหัว กะให้จำแบบนกแก้วนกขุนทองตามแบบวิถีที่ปฏิบัติกันมาในบางประเทศ ตัวเลขแห่งความถดถอยจะสาหัสขนาดไหน
ประเด็นคือในตอนนั้นโควิดสายพันธุ์จีนมีโอกาสติดกลุ่มเด็กและวัยรุ่นน้อยมาก ทำให้แม้จะมีการระบาดบ้างในโรงเรียน ความเสี่ยงที่จะกลายขยายตัวไปเป็นคลัสเตอร์ใหญ่นั้นยังไงก็ยังถือว่ามีไม่มาก เรียกว่าโอกาสที่โรงเรียนจะกลายเป็น hotspot ได้นั้นค่อนข้างต่ำ
แม้จะมีการติดเชื้อให้เห็นอยู่บ้าง อย่างเช่นในเคสของประเทศอิสราเอลและชิลี
แต่หลังจากที่หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวง ทบวง กรม ที่ควรดูแลตรงนี้ ได้ลองสรตะและไตร่ตรองพิจารณาความเสี่ยงและโอกาสกระจายโรคเทียบกับคุณภาพการศึกษาที่ต้องยอมเสียไป คิดแล้วว่าคุ้มเสี่ยง นโยบายที่เกี่ยวข้องจึงได้ประกาศออกมา ให้อาจารย์ผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ในสถานศึกษาใกล้เคียงกับการเรียนการสอนในห้องเรียนตามปกติ แต่ก็อาจจะมีการปรับแต่งอินฟราสตรักเจอร์สักเล็กน้อย เพื่อให้ตอบโจทย์นโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่เชื้อ
ทั้งนี้การติดเชื้อและการระบาดของโรคอุบัติใหม่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีสองปัจจัยสำคัญ
อย่างแรกคือความเข้ากันได้ (compatibility) ถ้าเชื้อโรคไม่สามารถจับกับโปรตีนตัวรับในร่างกายมนุษย์ได้ เช่น มีการกลายพันธุ์ของเซลล์มนุษย์ทำให้จับกับโปรตีนหนามของไวรัสไม่ได้ โอกาสในการติดเชื้อก็จะลดลงไปด้วย หรือแม้แต่การสร้างภูมิโดยการให้วัคซีนที่จะช่วยลดความเข้ากันได้ระหว่างเชื้อโรคกับคน เพราะถ้ามีภูมิคุ้มกันมาขวาง เชื้อ ก็อาจจะติดเชื้อได้ยากยิ่งขึ้น
และอย่างที่สองก็คือต้องมีโอกาสในการประสบพบเจอกัน (encounter) เพราะถ้าไม่เจอคือไม่ติด การกักตัวหรือล็อกดาวน์จะช่วยลดโอกาสในการกระจายไวรัสได้อย่างชะงัดถ้าทุกคนให้ความร่วมมือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”
มาตรการล็อกดาวน์และการกักตัวผู้เสี่ยงสูงจะช่วยลดโอกาสในการเจอกันของเชื้อกับผู้ที่มีโอกาสในการติดเชื้อได้ อีกทั้งการใส่มาสก์ที่จะช่วยในการกรองเชื้อออกไปและการเว้นระยะห่างทางสังคมก็จะมีส่วนช่วยลดโอกาสในการประสบพบเจอและการสัมผัสเชื้อเช่นกัน
ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วจึงเริ่มกระจายชุดตรวจแบบ rapid test ที่สามารถตรวจแยงจมูกหรือใช้น้ำลายตรวจได้ด้วยตนเองที่บ้าน เพื่อให้รู้ไวที่สุดว่าจุดเสี่ยงอยู่ตรงไหน การระดมตรวจเชิงรุกเช่นนี้จะช่วยลดภาระและช่วยลดความเสี่ยงของแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขได้มาก อีกทั้งยังช่วยให้การค้นพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นได้ไวขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนมาตรการในการควบคุมโรค แยกน้ำออกจากปลาหรือแยกปลาออกจากน้ำได้ดียิ่งขึ้น การเฝ้าระวังแบบช่วยกันจับตามองแบบนี้น่าจะช่วยกดให้ขนาดของคลัสเตอร์ไม่กระจายไปจนใหญ่เกินกว่าจะรับมือไหว
แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะให้ผลได้เพอร์เฟกต์ตั้งแต่ต้น ในช่วงระยะแรกของการปรับใช้ชุดตรวจแบบตรวจเองที่บ้าน แน่นอนว่าก็อาจจะมีผลบวกปลอมหรือผลลบปลอมออกบ้าง ซึ่งทางการก็จำเป็นต้องออกมาสร้างไกด์ไลน์ในการตรวจให้ชัดเจน อีกทั้งรณรงค์และให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องว่าหากท่านเป็นผู้เสี่ยงสูง แม้ผลตรวจ rapid test จะเป็นลบ แต่ก็ยังต้องกักตัวให้ครบตามจำนวนวันที่เหลืออยู่และต้องมีการตรวจซ้ำอยู่ดี
แต่ถ้าผลเป็นบวกเลย อันนั้นเรียกว่าแจ็กพอต ก็สามารถรีบแจ้งเพื่อขอตรวจยืนยันได้ทันที และอาจจะเริ่มหาเตียงเผื่อไว้ในกรณีที่อาการทรุดหนัก แม้ว่าในตอนแรกอาจจะจำเป็นต้องทำ home isolation กักตัวเฝ้าดูอาการที่บ้านไปก่อนจนกว่าจะเริ่มมีอาการรุนแรงถึงจะค่อยเข้าไปแอดมิตในโรงพยาบาล
สภาวการณ์แบบนี้น่าจะกลายเป็นนอร์มหรือวิถีปกติในยุคต่อไปของวิกฤตโควิด 19 ตราบจนกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะเริ่มสามารถรับมือกับสึนามิแห่งการระบาดขนาดยักษ์ที่กำลังถาโถมโจมตีประเทศของเราอยู่ในขณะนี้ได้ไหว
ดังนั้นกลยุทธ์เชิงรุกคือสิ่งสำคัญ มันคงจะไม่ผิดถ้าเราจะเร่งระดมฉีดวัคซีนให้กลุ่มประชากรเสี่ยงสูงก่อน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือกลุ่มที่มีอายุมากแล้ว เพราะถ้าบุคคลเหล่านี้ไม่ป่วย จำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและห้องไอซียูที่มีอยู่อย่างจำกัดก็น่าจะมีไม่มากนัก ซึ่งอาจจะช่วยทำให้แพทย์และพยาบาลมีเวลาได้หายใจหายคอ และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากและดียิ่งขึ้น
แคมเปญการระดมฉีดวัคซีนเชิงรุกของอิสราเอลได้ชื่อว่าเป็นการรณรงค์และระดมกระจายฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดที่หนึ่งในโลก หลายๆ ประเทศมองอิสราเอลเป็นกรณีตัวอย่างอย่างลุ้นไปด้วย เพราะในขณะที่ในประเทศตัวเองยังไม่มีวัคซีนดีๆ มากพอจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มประชาการของตนเอง จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
ตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแบบแทบจะไม่ผงกหัวขึ้นเลยในอิสราเอลแม้ว่าจะมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์กลายใหม่ที่ร้ายกว่าเดิมและกำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลกแบบนี้ ทำให้นักวิชาการหลายกลุ่มเริ่มตื่นเต้น เพราะนี่อาจจะเป็นตัวอย่างแรกของประเทศที่เริ่มเห็นอานิสงส์ของภูมิคุ้มกันหมู่ที่เริ่มจะเกิดแล้วเนื่องจากการระดมฉีดวัคซีนให้คนหมู่มากก็เป็นได้
แต่แนวโน้มในตอนนี้ดูจะเริ่มมีปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ระดมฉีดวัคซีนให้คนหมู่มากไปแล้ว
วิวัฒนาการของเชื้อก่อโรคคือปัญหาที่น่ากลัวทางการแพทย์และสาธารณสุข …เวลาเปลี่ยน โควิดก็เปลี่ยน
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศอิสราเอล บ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์เดลตา สามารถติดได้ทั้งในเด็กและในเยาวชนได้ และเทรนด์นี้ไม่ได้พบเจอได้เฉพาะในอิสราเอลเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักรก็เจอปรากฏการณ์แบบเดียวกัน
เห็นได้ชัดว่าพลวัติในการติดเชื้อของไวรัสในเวลานี้ได้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในเวลานี้ จำนวนผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด 19 กว่าครึ่งคือ วัยรุ่น วัยทีนเอเจอร์ อายุ 19 ปี หรือต่ำกว่า
เหตุผลหนึ่งที่น่าจะอธิบายสถานการณ์การติดเชื้อแบบนี้ได้ก็คือ ไวรัสได้วิวัฒน์ไปแล้ว ซึ่งไม่แปลก เพราะถ้าอยากรอดก็ต้องใฝ่หาโอกาสที่จะอยู่รอด ไม่เฉพาะแต่คน ไวรัสก็เช่นกัน
วิวัฒนาการจะหาช่องทางเพื่อการอยู่รอดเสมอ ติดเชื้อไวขึ้น ดื้อต่อวัคซีน ติดกลุ่มคนกลุ่มใหม่ที่ยังไม่ได้วัคซีนอย่างเช่นเด็กและเยาวชน การเปิดตลาดใหม่เมื่อตลาดเดิมเริ่มวายทำให้ไวรัสสายพันธุ์กลายเจนใหม่ยังสามารถคงอยู่ต่อไปได้
ถ้าเป้าหมายเดิมของไวรัสคือกลุ่มคนวัยทำงานและผู้สูงอายุซึ่งได้รับวัคซีนกันไปเกือบหมดแล้ว (ในประเทศที่พัฒนาแล้ว) แต่กลุ่มใหญ่ของประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและพอติดเชื้อได้ก็คือกลุ่มเด็กและเยาวชน
“โรคโควิด 19 นั้นได้กลายเป็นโรคสำหรับคนที่ยังไม่ได้วัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มเยาวชน” โจชัวร์ โกลสไตน์ (Joshua Goldstein) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์กล่าว
เราควรกันไม่ให้ไวรัสเปิดตลาดใหม่ได้สำเร็จใช่หรือไม่ ?
คำถามคือถ้าในหลายประเทศ ผู้สูงอายุและประชาชนกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเลย แล้วมันจะเป็นการ “เห็นแก่ตัว” หรือไม่ ถ้าประเทศที่พัฒนาแล้วจะเริ่มหันเอาวัคซีนมาฉีดให้ประชากรกลุ่มที่เสี่ยงน้อยกว่า อย่างเช่นเด็กและเยาวชน
เพราะอย่าลืมว่าเมื่อไรก็ตามที่ยังมี hotspot อยู่ จะไม่มีใครปลอดภัยจากโควิด เพราะเมื่อใดไวรัสยังติดเชื้อได้ การกลายพันธุ์ก็คงจะเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก
ถ้ามีเด็กติดเชื้อ 1 คน นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องแบกรับ
“แม้จะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบพิเศษอะไร (เพราะมักไม่พบอาการรุนแรง) แต่เด็กที่ติดเชื้อก็จำเป็นที่จะต้องไปพบกับแพทย์เรื่อยๆ เป็นเวลาอาจจะนานถึงหกเดือนหลังจากติดเชื้อ” แคริน แมกนัสซัน (Karin Magnusson) นักระบาดวิทยาจากสถาบันสาธารณสุขนอร์เวย์ (Norwegian Institute of Public Health) เผย นี่คือภาระโรคที่ชัดเจน และถ้าพิจารณาถึงความเสี่ยงในการเป็นพาหะโรคที่อาจจะทำให้เกิดการอุบัติเป็นระลอกใหม่ของโรคอีกครั้ง ถึงยังไงก็คงต้องหาวิธีสร้างภูมิให้เด็กและเยาวชนให้ได้
ตอนนี้เห็นแนวโน้มไฟมาต้องรีบดับ เพราะถ้าปล่อยไปอาจจะเป็นไฟลามทุ่งที่ดับได้ยากก็เป็นได้
นี่คือสถานการณ์แบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดไม่ออกอย่างแท้จริง เพราะการตัดสินใจผิด มันอาจหมายถึงหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไป
ในตอนนี้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลก็ได้เริ่มนโยบายกระตุ้นภูมิวัคซีนให้เด็กและเยาวชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคิดว่าคงมีอีกหลายประเทศจะเริ่มๆ วางนโยบายเดินไปข้างหน้าในแนวๆ เดียวกัน
แต่ท้ายสุด อย่างที่บอกไปแล้วในตอนต้น ถ้าอยากรอด ทุกคนต้องรอดไปด้วยกัน
ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดคือคงต้องหาวิธีอัปเลเวลกำลังการผลิตให้สามารถผลิตวัคซีนที่ดีและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคออกมาให้เพียงพอที่จะฉีดให้กับทุกคนให้ได้
และนั่นอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำพามวลมนุษยชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ไปได้