ดร.ป๋วย อุ่นใจ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นที่ช็อกวงการวัคซีนและสาธารณสุขทั่วโลกเมื่ออินเดีย ประเทศผู้ผลิตวัคซีนเบอร์หนึ่งของโลกต้องประสบวิกฤติที่กลายมาเป็นโศกนาฏกรรมสยองขวัญ
การระบาดระลอกใหม่ของอินเดียนั้นสาหัสสากรรจ์ขนาดที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทะลุสถิติไปแตะที่ระดับ 400,000 เคสต่อวัน เล่นเอาระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ล่มสลายไม่เป็นท่า
มิต่างไปจากบราซิลที่เจอการระบาดแบบสาหัสสากรรจ์มาก่อนเมื่อต้นปีที่ตอนนี้ก็ยังกดกราฟไม่ลง เรียกว่ามาตรการ flatten the curve ล้มเหลวเละเทะ
ด้วยการติดเชื้อแบบมหากาพย์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงไปทั่วโลก ประมาณการกันว่าในบราซิล น่าจะมีคนติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ ซึ่งถ้าว่ากันตามทฤษฎีแล้ว น่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว
และนั่นทำให้ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิลเชื่อมั่นว่าโรคระบาดนั้นน่าจะคุมได้และความวุ่นวายกำลังจะจบ
เขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรีบซื้อวัคซีน ในเมื่อสถานการณ์น่าจะใกล้ยุติ
เพราะถ้ามีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นจากการติดเชื้ออย่างมหาศาลแล้ว ก็ไม่ควรจะเห็นการติดเชื้อแบบเอาไม่อยู่นั้นพุ่งพรวดขึ้นมาอีก
แต่ทว่าสถานการณ์ในบราซิลยังคงย่ำแย่และไม่มีทีท่าจะดีขึ้นแต่ทว่าเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 บราซิลก็ประสบวิกฤติอีกครั้ง การระบาดระลอกนี้ยากนักที่จะควบคุม
แต่บราซิลก็ยังคงมีวัคซีนอย่างจำกัด
การติดเชื้ออย่างหนักทำให้บราซิลมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ของตัวเองอุบัติขึ้นมาแล้วหลายตัว และก่อปัญหาเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ที่เด่นๆ และมีอิทธิฤทธิ์ไม่ด้อยกว่าสายพันธุ์กลายแสบๆ จากอังกฤษหรือแอฟริกาใต้ ก็คือ P.1 และ P.2
“ความพยายามในการควบคุมโรคระบาดในประเทศกับการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น ไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆ เลยจากการกระจายวัคซีนที่เชื่องช้าในประเทศ” ริคาร์โด แกซซิเนลลิ นายกสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาของบราซิลกล่าว
ในตอนนี้ มีประชากรเพียงแค่หนึ่งในสิบเท่านั้นที่ได้รับวัคซีน ถ้าการกระจายฉีดไม่ขยายขึ้นให้ไวกว่านี้ ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะถึงห้าแสนคนในอีกไม่ถึงสองเดือน ถ้าว่าตามโมเดลทำนายจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา
“น่าเศร้ายิ่งนักในศตวรรษที่ 21 เรากำลังล้มเหลวในระดับชาติแค่ในการเอาเครื่องมือเครื่องไม้เก่าๆ ที่มีประสิทธิภาพที่น่าจะช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้นับหมื่นมาใช้ก็ยังทำไม่ได้” เจเซม โอเรลลานา นักระบาดวิทยาจากศูนย์วิจัยออสวัลโดครูซ กล่าว
ในขณะที่ทุนวิจัยวิทยาศาสตร์ในประเทศโดนตัดไปอย่างมหาศาล และกระบวนการขอทุนต่างๆ ก็ล้าหลังและไม่เอื้อต่อการทำงาน
การสนับสนุนจากภาครัฐถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะผลักดันให้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคนั้นประสบผล
แต่การสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ ภาคประชาชนต้องยินดีจะให้ความร่วมมือด้วย
“มันยากมากที่จะบังคับใช้มาตรการป้องกันอะไรเมื่อข้อมูลเท็จนั้นออกมาจากรัฐบาลโดยตรง” นาตาเลีย พาสเทเเนก นักจุลชีววิทยาจากเซาเปาโลกล่าว ความเห็นแบบนี้อาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ยิ่ง
ความเชื่อมั่นของประชาชนนั้นจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญ แต่ทว่าเปราะบางยิ่งนัก
ความลังเลในการฉีดวัคซีนก่อปัญหาในหลายประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และในยุโรป เพราะแอนติเเวกเซอร์แค่ไม่กี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้
แต่คำถามที่แท้จริงก็คือจะทำยังไงให้ทุกคนเชื่อมั่นและยอมทำตามนโยบายควบคุมโรค หรืออย่างน้อยก็ยอมไปฉีดวัคซีนโดยไม่ต่อต้าน
แต่ถึงจะสามารถรณรงค์ดึงดูดให้คนไปฉีดวัคซีนได้ถึงเป้า 70 เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าจะพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ทว่าตัวเลขนี้ไม่ได้จะคงที่ดั่งสลักไว้ในหิน มันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามอัตราในการแพร่เชื้อของไวรัส ที่เรียกว่าค่า R0 (อาร์นอจท์)
ถ้าไวรัสติดต่อได้เยอะ ค่า R0 ก็จะยิ่งสูง เช่น ถ้าคนติดเชื้อหนึ่งคน ติดเชื้อไปยังคนได้อีกสองคน นั่นคือ R0 จะเท่ากับ 2 (ซึ่งคาดการณ์ว่า 70 เปอร์เซ็นต์น่าจะพอสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับสถานการณ์การระบาดที่มีค่า R0 ราวๆ 3)
ดังนั้นถ้ามีไวรัสสายพันธุ์ใหม่วิวัฒนาการขึ้นมาจนมีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ค่า R0 ก็จะเพิ่มขึ้น และนั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นายแพทย์โรคติดเชื้อชื่อดังอย่างแอนโทนี เฟาซี ต้องออกมาเปลี่ยนตัวเลขเป้าหมายของผู้ฉีดวัคซีนจาก 70 เปอร์เซ็นต์ เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ เป็น 90 เปอร์เซ็นต์ จนตอนนี้บอกว่าไม่สนตัวเลขแล้ว ฉีดให้ได้มากที่สุด ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้เป็นดี
เพราะวิวัฒนาการคือศัตรูตัวฉกาจ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังมีการระบาดของโรคอยู่ และตัวอย่างก็คือไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดได้ดีกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมก็มีโผล่มาให้เห็นแล้วหลายตัว เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักร (B.1.1.7) และสายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย (B.1.427 และ B.1.429)
และที่สำคัญ ค่าเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะเป็นจริงตามที่คำนวณได้นั้นแค่ในกรณีที่วัคซีนมีประสิทธิผลเต็มเปี่ยม 100 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ถ้าประสิทธิผลของวัคซีนที่เอามาใช้ไม่ถึงร้อย จำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้ฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรที่จำเป็นในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั้นก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
โชคไม่ดีที่ไวรัสสายพันธุ์กลายหลายสายพันธุ์ อาทิ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์บราซิล (P.1) นั้นมีการกลายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ ประสิทธิผลของวัคซีนจึงด้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง
บางคนเริ่มกังวลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย (B.1.617) เชื่อว่ามันคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการะบาดระลอกใหม่ที่หนักหนาสาหัสจนถึงขั้นวิกฤติในประเทศอินเดีย
ภาพโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 แสดงตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่สำคัญทั้ง 2 ตำแหน่ง L452R และ E484Q ที่ทำให้ไวรัสชนิดนี้ถูกเรียกว่าดับเบิลมิวเทชัน
เพราะไวรัสกลายสายพันธุ์นี้ได้รวมเอาการกลายพันธุ์ที่ทำให้ติดได้ง่ายขึ้น (L452R) ดังที่พบในสายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย เข้ากับการกลายพันธ์ุที่ทำให้เชื้อไวรัสดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้ (E484Q) ดังที่พบในสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล (สายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิลมีการกลายพันธุ์เป็น E484K)
โครงสร้างโครงลวด 3 มิติโปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ B.1.617
สายพันธุ์นี้จึงน่าที่จะทั้งระบาดได้ไวขึ้น แถมยังลดประสิทธิผลของวัคซีนอีก การควบคุมจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
หลายคนคิดว่าไวรัสสายพันธุ์กลายอินเดียนั้นน่าจะพึ่งเกิดมาในช่วงระยะเวลาของการระบาดระลอกใหม่นี้ และกระจายสร้างปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่ที่จริงแล้วไวรัสสายพันธุ์นี้อุบัติขึ้นมาเนิ่นนานตั้งแต่เดือนตุลาคมของปี พ.ศ. 2563
การระบาดของมันเพิ่งจะมาเริ่มพีกเอาช่วงใกล้เทศกาลกุมภเมลา หรือพิธีการอาบน้ำมงคลในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิที่มีผู้ศรัทธาเข้าร่วมนับล้านคน กลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดมโหฬารที่กระจายเชื้อไปอย่างรวดเร็ว
แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะรีบออกมาพยายามขอความร่วมมือให้ระวังในเรื่องของการระบาด แต่ก็สายเกินไป การระบาดระลอกใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วคราวนี้ ทั้งรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา และในเวลานี้ไม่ว่าจะทำอย่างไร ตัวเลขก็ยังไม่ยอมลดลงมาง่ายๆ
“เรามีเครื่องมือแล้วก็มีความสามารถที่จะช่วยประเทศได้ แต่เราถูกมองข้ามและขาดการสนับสนุนจากผู้นำประเทศ” มอริซิโอ โนกุเอรา นักไวรัสวิทยา จากเซา โฮเซ ดู ริโอ เพรโต ประเทศบราซิล กล่าว “การเมืองทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้สึกไร้ค่า”
วิทยาศาสตร์อาจจะมีคำตอบและคำอธิบายลึกๆ กับหลายๆ ปัญหา แต่ทว่าเสียงของนักวิทยาศาสตร์กลับมักถูกมองข้าม นี่คือประเด็นปัญหาที่พบไม่ต่างกันในหลายๆ ประเทศ จนวารสารงานวิจัยชั้นนำของโลกอย่างเนเจอร์ต้องเขียนถึงจนแทบเป็นซีรีส์ย่อมๆ ทั้งกรณีบราซิล กรณีอินเดีย
และนั่นคือบทเรียนที่เห็นได้ชัดเจนในหลายประเทศ ไม่แน่นะ บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองมาลองฟังเสียงจากนักวิจัยตัวจริงดูบ้าง…
เพราะว่าบางปัญหาอาจจะเป็นเพียงแค่เส้นผมที่บังภูเขา!