จากที่มีข่าวการตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในสุนัข 2 ตัว แมว 1 ตัว ในฮ่องกง และ แมว 1 ตัว ในประเทศเบลเยียมนั้น แม้ผลการตรวจเชื้อจะระบุว่า “weakly positive” ซึ่งหมายถึงพบไวรัสมีปริมาณที่ต่ำ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า สุนัขได้รับเชื้อมาจากเจ้าของจริง หรือว่าเป็นเพียงการ “ปนเปื้อน” ไวรัส SARS-CoV-2 จากสารคัดหลั่งของเจ้าของ โดยสุนัขอาจจะเลีย หรือใช้จมูกสัมผัสตัวอย่างที่มีไวรัสอยู่ แต่กระนั้นข่าวนี้ได้สร้างคำถามขึ้นในสังคมมากมายว่า สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ COVID-19 หรือไม่?
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ และในฐานะนักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และสัตว์ในห้องทดลองกับความสามารถในการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ออกมาจำนวนมาก ตัวอย่างผลการศึกษาที่น่าสนใจ ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลจาก Dr.Siddharth Sridhar จากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง (The University of Hong Kong) สรุปได้ว่า มีการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสโรค COVID-19 ใน สุนัข 2 ตัว และ แมว 2 ตัว ในฮ่องกง และเบลเยียม โดยเจ้าของของสุนัขและแมวทั้งหมดเป็นผู้ป่วย COVID-19 และเจ้าของน่าจะเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสดังกล่าวให้สัตว์เลี้ยงของตัวเอง
“นอกจากนี้ยังมีการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยการนำเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทดสอบการติดเชื้อในสัตว์หลายประเภท คือ แมว หนูแฮมสเตอร์ เฟอร์เร็ต สุนัข และลิง พบว่า สัตว์เหล่านี้สามารถติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้ แต่มีความสามารถแพร่เชื้อได้ไม่เท่ากัน เช่น สุนัขแพร่เชื้อได้น้อยกว่าแมวและหนูแฮมสเตอร์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่าการทดลองในห้องปฏิบัติการดังกล่าวมีการใช้เชื้อไวรัสเพื่อทำให้สัตว์ติดเชื้อในปริมาณที่สูงมาก และสูงเกินกว่าที่จะพบได้ในสภาวะปกติหรือในธรรมชาติทั่วไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ แม้สัตว์เหล่านี้จะติดเชื้อไวรัสได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันว่า สัตว์เหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 มาสู่คน เนื่องจากสัตว์ไม่มีอาการป่วยเหมือนในคน หรืออาจเพราะปริมาณไวรัส SARS-CoV-2 ในสัตว์เลี้ยงมีปริมาณน้อยมากๆ จนไม่สามารถแพร่สู่คนได้”
นอกจากนี้ ในอดีตยังเคยมีงานวิจัยที่ใช้ไวรัส SARS-CoV ซึ่งก่อโรคซาร์ส เป็นไวรัสโคโรนาที่มีความใกล้เคียงไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 ในปัจจุบัน มาทดลองเกี่ยวกับความสามารถในการติดเชื้อของสัตว์เลี้ยง ซึ่งก็ไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงสู่คนเช่นเดียวกัน
ดร.อนันต์ กล่าวว่า มีผลงานวิจัยชิ้นแรกตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในปี 2003 โดยกลุ่มนักไวรัสระดับโลกจากประเทศเนเธอแลนด์ รายงานไว้ชัดเจนว่า แมว เป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถติดเชื้อไวรัส SARS-CoV ได้ และแมวที่ติดเชื้อนั้นสามารถแพร่เชื้อไปที่แมวตัวอื่นที่เลี้ยงอยู่ด้วยกันได้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากคือแมวทุกตัวที่ได้รับเชื้อ SARS-CoV ไม่มีอาการป่วยเลย และในการศึกษาครั้งนั้นก็ไม่มีการยืนยันว่าพบการติดเชื้อไวรัสจากแมวสู่คน
ดังนั้นแม้ในช่วงนี้จะมีข่าวว่าตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว อย่าได้ตระหนกหรือด่วนสรุปว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้เป็นอันตรายจนถึงขั้นนำไปปล่อยหรือทอดทิ้ง ส่วนข้อปฏิบัติในการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงในช่วงการระบาด COVID-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส แนะนำว่า
- อย่าให้สัตว์เลียหน้า มือ หรือ หน้ากากอนามัย
- งดการจูบ หรือ หอมสัตว์เลี้ยง
- เล่นกับสัตว์เลี้ยงได้ แต่ต้องล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลัง
- ทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกที่ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงนำมาแทะเล่นได้
- ถ้าเป็นไปได้ อย่านำอาหารที่เรารับประทาน “เหลือ” ให้สัตว์เลี้ยง
เพียงเว้นระยะห่าง ลดการคลุกคลีระหว่างตัวเรากับสัตว์เลี้ยง และเฝ้าระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงไปสัมผัสกับสิ่งของภายนอกบ้าน ก็สามารถป้องกันทั้งตัวเราและสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัยจากโรค COVID-19