Headlines

“สายพันธุ์โควิด” ชื่อนั้นสำคัญไฉน?

โดย ดร.ป๋วย อุ่นใจ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


          สำคัญมากครับเพราะถ้าชื่อเมืองได้ถูกขนานนามเป็นชื่อสายพันธุ์โควิด ไม่ว่าจะคิดเดินทางไปที่ไหน ก็เป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นใจของเจ้าบ้านที่หมายจะไปเยือน

          ยิ่งถ้าเป็นสายพันธุ์ดังๆ ด้วยแล้ว เชิงรุกที่ด่านกักกันต้องมา จัดไปเข้มๆ เเบบเต็มสตรีม

          นักวิชาการเขาอุตส่าห์หาชื่อจำยากๆ บางทีก็มาจากการวิเคราะห์วงศ์วานว่านเครือ บางทีก็มาจากการจัดจำแนกต้นตอ ความใกล้ชิดและความสัมพันธ์กันทางวิวัฒนาการ

          ที่เอามาใช้บ่อยเรียกว่า ระบบแพนโกลิน (PANGO Lineage) ซึ่งจะใช้ตัวอักษร A B C ตามด้วย . (จุด) และตัวเลขตามความห่างชั้นหรือใกล้เคียงกันของเทือกเถาเหล่ากอ

          เช่น B.1.1.7, B.1.351, B.1.617.2 และ C.36.3

          ซึ่งเอาตรงๆ เป็นระบบที่อาจจะจำยากไปไม่นิดเลยล่ะ เเต่เจอบ่อยในสื่อ คนก็เลยเริ่มชินชา เรียกไปเรียกมาก็พอติดปากกันพอสมควร

          แม้ชื่อแบบระบบแพนโกลินนี้จะสามารถบ่งชี้ความสัมพันธ์กันของเชื้อแต่ละสายพันธุ์ได้ดีระดับหนึ่ง แต่หลายคนกลับมองว่ามันจำยาก และมันแทบจะไม่ได้สื่ออะไรเลยใน สายตาของคนทั่วไป เพราะจะว่าไปคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จะสนใจตัวเลขโค้ดลับของแต่ละสายพันธุ์นั้นเท่าไรหรอก มิหนำซ้ำกลับต้องจำตัวเลขเยอะเเยะเต็มไปหมด อ่านไปอ่านมางง สับสนชีวิตได้อีก

          ง่ายที่สุด ไม่คิดมาก ตั้งมันตามที่ที่เจอดีกว่า จะได้รู้ว่าต้นตอมาจากไหน เจอที่ไหน ให้ขนานนามตามชื่อเมืองหรือประเทศนั้นไปเลย จัดไปให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่สถานที่ที่พบเป็นครั้งแรกแบบเน้นๆ เช่น สายพันธุ์เคนต์หรือสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล และอื่นๆ อีกมากมาย

          แบบหลังสุดนี้ สื่อชอบ เอาแบบคุ้นๆ จำง่าย ใกล้ตัว จนหลายคนถึงกับค่อนขอดว่าสื่อนั่นแหละที่ใช้เอาไปเรียกกันเองเพราะชื่อแบบนี้มันง่ายและมีความหมายในตัว

          สายพันธุ์ชื่อเมืองจึงถูกกระจายใช้ไปทั่ว และในทันทีที่ชื่อประเทศหรือชื่อเมืองถูกเอามาใช้ ดราม่าจะบังเกิดขึ้นในบัดดล

          ดราม่าแรกมาตั้งแต่ไวรัสนี้ยังไม่ได้ชื่ออย่างเป็นทางการ เพราะแม้หลายคนจะเรียกชื่อไวรัสนี้ว่า nCoV-2019 หรือ novel coronavirus-2019 แต่กระเเสในสื่อฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกากลับเรียก “ไวรัสจีน (China virus)” บ้าง ไวรัสอู่ฮั่น (Wuhan virus) บ้าง

          จนต่อมา ภายหลังจากการประชุมที่เผ็ดร้อนอยู่หลายครั้ง องค์การอนามัยโลกก็ได้เสนอชื่ออย่างเป็นทางการให้ไวรัสนี้ว่า SARS-CoV-2 หรือ Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2

          และหลังจากการรณรงค์อยู่พักใหญ่ คำว่าไวรัสอู่ฮั่นหรือไวรัสจีนจึงค่อยๆ ซาหายไปจากสื่อ แต่แม้คำว่าอู่ฮั่นและจีนจะถูกลบหายไปจากชื่อ แต่พอมีสายพันธุ์กลายโผล่มา ก็ยังเรียกชื่อแบบป้ายประเทศอยู่ดี

          อังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก โดนกันมาหมดแล้ว ทุกตัวได้พื้นที่สื่อหมดและได้กลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง ถ้วนทั่วและเท่าเทียม

          ซาลิม อับดุล คาริม (Salim Abdool Karim) อดีตประธานคณะที่ปรึกษาคณะทำงานโควิด 19 ของประเทศแอฟริกาใต้ หนึ่งในผู้ร่วมตั้งชื่อไวรัสสายพันธุ์กลายในตำนานว่า 501Y.V2 ตามตำแหน่งการกลายพันธ์ุบนโปรตีนหนามที่กรดอะมิโนตำแหน่ง 501 และลำดับในการเจอสายพันธุ์กลายสุดแสบตัวนี้ว่าเป็นเวอร์ชัน 2

          501Y.V1 คือสายพันธุ์ไวรัสจากอังกฤษที่ระบาดได้ไวกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เคยระบาดอยู่ในช่วงแรกอยู่เยอะ จนยึดพื้นที่การระบาดไปในหลายประเทศในยุโรป เรียกว่าเบียดเอาสายพันธุ์ดั้งเดิมชิดซ้ายหายไปเลย จนถูกจับขึ้นทำเนียบ “สายพันธุ์ที่ควรกังวล” หรือ “variants of concern”

          ตระกูล 501Y แสบทุกตัว เวอร์ชัน 2 จากแอฟริกาใต้ และเวอร์ชัน 3 จากบราซิลก็ร้ายไม่แพ้เบอร์ 1 แม้จะระบาดไม่ดุเท่า แต่ดันมีการกลายพันธุ์ที่วัคซีนเอาไม่อยู่ ก็เลยถูกจับขึ้นทำเนียบ “สายพันธุ์ที่ควรกังวล” ไปอยู่กะรุ่นพี่เบอร์ 1

          “แต่ชื่อ 501Y.V2 มันเรียกยาก แถมยังเป็นชื่อที่เห่ยมาก ใครจะอยากเรียก 501Y.V2 บ่อยๆ” ซาลิมกล่าว และแม้จะมีชื่อเรียกตามระบบแพนโกลินว่า B.1.351 แต่ก็ยังฟังดูยากอยู่ ท้ายสุด คนก็หันกลับไปเรียกสายพันธุ์แอฟริกาใต้อยู่ดี

          และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ทางสาธารณสุขของอังกฤษนั้นได้ขนานนามไวรัสสายพันธุ์ใหม่ C.36.3 ที่มีการเจอในนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศอียิปต์ แต่เคยถูกรีพอร์ตในฐานข้อมูล GISAID ไว้โดยนักวิทยาศาสตร์ไทย ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ไทย/อียิปต์ ซึ่งนั่นทำให้หลายภาคส่วนออกมาดิ้นว่าห้ามเรียกแบบนี้ เพราะจะทำให้ความมั่นใจของประชาชนลดลง

          ที่จริงแล้ว ใครไม่โดนกับตัว อาจจะไม่เข้าใจ เพราะการเรียกชื่อสายพันธุ์ไวรัสตามถิ่นที่พบนั้น สร้างปัญหาอย่างมหาศาลในท้องถิ่น เพราะในความรู้สึกของประชาชน มันไม่ได้เป็นเกียรติเป็นศรีอะไรเลยที่ท้องถิ่นนั้นได้ค้นพบสายพันธุ์ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ๆ ที่อาจจะมีพิษสงรุนแรงกว่าเดิม แต่กลับเหมือนเป็นการป้ายโทษ ปักหมุดว่าท้องถิ่นนี่แหละคือต้นตอ คือ hotspot คือจุดเริ่มระบาด ทั้งที่จริงแล้ว การเจออาจจะเจอแค่ใน state quarantine แต่ยังไม่ได้มีการระบาดก็ได้

          นี่เป็นประเด็นอ่อนไหว และอาจจะทำให้นักการเมืองและกลุ่มผู้บริหารเริ่มไม่สบายใจ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการรายงานสถานการณ์ของการติดเชื้อ และถ้าหากข้อมูลถูกบิดเบือนไปมากจนประชาชนหมดความเชื่อถือ และเพิกเฉยต่อการออกมาตรการควบคุมโรคจากภาครัฐ ก็จะเกิดเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระดับ​ประเทศชึ้นมาได้

          นักวิทย์มากมายจึงเริ่มออกมาทักท้วงและขอรณรงค์ให้ประชาคมโลกเลิกเรียกและเลิกขนานนามไวรัสตามชื่อประเทศ แต่ให้หาวิธีมาตรฐานในการเรียกชื่อไวรัส จดหมายมากมายร่อนไปตามสื่อต่างๆ ทั้งวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง Science, The Lancet และ Nature รวมทั้งกระทุ้งแรงๆ ให้องค์การอนามัยโลกรีบออกมาหาเกณฑ์ในการเรียกชื่อไวรัสเสียใหม่ให้เหมาะสม

          ในที่สุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เจนีวาก็ได้ออกมาประกาศเกณฑ์ใหม่ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งรายละเอียดจะลงเผยแพร่ในวารสาร Nature Microbiology อีกที

          ถ้าว่าตามองค์การอนามัยโลก ตอนนี้สายพันธุ์กลายที่สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสายพันธุ์กลายควรกังวล (variant of concern) และสายพันธุ์กลายควรจับตามอง (variant under investigation) จะได้ชื่อกรีก ในขณะที่ตัวไม่ค่อยสำคัญหรือดูแล้วไม่น่าจะมีแววร้ายก็จะละเอาไว้ก่อน คนจะได้ไม่สับสน

          สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ  ตอนนี้ได้ชื่อเป็น แอลฟา

          สายพันธุ์ B.1.351 หรือสายพันธุ์เเอฟริกาใต้  ตอนนี้ได้ชื่อเป็น บีตา

          สายพันธุ์ P.1 หรือสายพันธุ์บราซิล ตอนนี้ได้ชื่อเป็น แกมมา

          สายพันธุ์ B.1.617.2 หรือสายพันธุ์อินเดีย  ตอนนี้ได้ชื่อเป็น เดลตา

          ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ที่เบากว่า ก็จะได้ชื่อเป็นอักษรกรีกเช่นกัน อย่างเอปไซลอน ซีตา และอื่นๆ  ไปก่อน

          คำถามคือมีชื่อใหม่แล้วคนจะใช้หรือไม่ ?

          จากการสัมภาษณ์ผู้อ่านของวารสารเนเจอร์ หรือเนเจอร์โพล จำนวน 1362 คน ซึ่งประมาณการได้ว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นพวกนักวิชาการ อาจารย์ และนักวิจัย พบว่าโดยส่วนมากราวๆ สี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็ยินดีและพร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอแนะเกณฑ์การตั้งชื่อใหม่ของ WHO

          ในขณะที่ราวๆ สามสิบเปอร์เซ็นต์บอกว่ายินดีใช้ แต่อาจจะใช้ร่วมๆ รวมๆ กับของเก่าไปก่อนตามสถานการณ์ กันคนไม่เข้าใจ

          แต่แม้ WHO จะพยายามออกมามีบทบาทในการตั้งชื่อไวรัสให้ใหม่ แต่ก็ยังคงมีคนยืนกรานว่าจะยังคงยึดมั่นกับการเรียกตามสถานที่อยู่ดี เพราะมีความรู้สึกว่าจำง่ายและสามารถเชื่อมโยงได้ในชีวิตจริงมากกว่าแค่ตัวอักษณกรีกตัวนึง

          และยังมีอยู่ราวๆ สิบเปอร์เซ็นต์ที่อาจจะละวางการเรียกสายพันธุ์ตามประเทศ ​แต่จะอาจจะยังเรียกตามเคลดหรือตามระบบแพนโกลินแทนก็เป็นได้

          และสายพันธุ์ไทย/อียิปต์ …ดีแล้วที่ยังไม่ดัง และยังเเพร่ไม่หนัก เพราะถ้าดังและแพร่กระจายเมื่อไร มันก็อาจจะได้ชื่อภาษากรีกมา และท้ายที่สุดก็อาจจะมีคนย้อนรอยไปจนเจอได้อยู่ดีว่าไวรัสนี้ค้นพบในประเทศไหน แต่ตอนนี้ เท่าที่ผมเริ่มเห็น …​ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีครับ เพราะสื่อส่วนใหญ่เริ่มยอมรับเเละทำให้ตอนนี้ปัญหาในเรื่องการเพ่งโทษประเทศที่พบนั้นลดลงไปได้ไม่มากก็น้อย​…

          ทว่านักวิทย์หลายคนยังแอบหงุดหงิดและกังวล เพราะรู้สึกว่าตัวอักษรกรีกมันไม่ได้มีมากขนาดนั้น และถ้าไวรัสสายพันธุ์กลายมันอุบัติขึ้นมาเยอะจนเกินจำนวนจะทำยังไง !

          สำหรับผม ได้แต่หวังว่าอย่าให้มีอุบัติใหม่เกิดขึ้นมามากขนาดนั้นเลย ปล่อยบางตัวฟรีไว้บ้างก็ได้ ให้มีตัวอักษรเหลือเยอะๆ จะดีมาก

          เพราะไม่อยากเจอตัวใหม่จริงๆ บ่องตง​


อ่านเพิ่มเติม

About Author