Headlines

เรื่องของ “วัว” ล้วน ๆ : กำเนิดวัวเลี้ยงในไทย

เรื่องโดย ดร.อธิวัตน์ วัฒนะพิทักษ์สกุล


ทุกวันนี้ “วัว” และเพื่อนใกล้ชิดอย่าง “ควาย” ที่มักจะเรียกแบบมัดรวมกัน ว่า “วัวควาย” อาจจะห่างหายจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ของคนไทยไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เราไม่สามารถเจอสัตว์เหล่านี้ได้แล้ว นอกจากในสวนสัตว์ มีเพียงต่างจังหวัดและชนบทที่อยู่ห่างไกลออกไปเท่านั้นที่ยังเลี้ยงวัวอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็เลี้ยงเพียงเพื่อเป็นอาหารและให้นมเป็นหลัก ต่างจากในอดีตที่วัวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญอย่างมาก

เนื่องด้วยครัวเรือนไทยในอดีตมักประกอบการเกษตรเป็นหลัก จึงใช้แรงงานวัวในการเกษตร ทั้งทำไร่ไถนา ตลอดจนนำมาเทียมเข้ากับเกวียนเพื่อใช้ขนย้ายข้าวของ หรือใช้เกวียนเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวยามย้ายถิ่นไปตามที่ต่าง ๆ เปรียบเป็นดั่งรถกระบะหรือรถบ้านในสมัยนี้ ความสำคัญของวัวเลี้ยงจึงมีอย่างมากมายและกว้างขวาง จนเกิดเป็นอาชีพ “นายฮ้อยวัว” ในภาคอีสาน ซึ่งคล้ายกับคาวบอยต้อนวัวเป็นฝูงที่รับซื้อตามรายทางมาขายไกลถึงกรุงเทพฯ พร้อมกับแลกเปลี่ยนสินค้าอื่น ๆ กับชุมชนต่าง ๆ ในภูมิภาคระหว่างการเดินทาง


วัวเทียมเกวียน

ดังนั้นวัวเลี้ยงในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างมากทั้งเป็นอาหาร ใช้เป็นแรงงาน เป็นพาหนะ และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานจนทำให้เรารู้สึกว่าวัวเลี้ยงมีถิ่นกำเนิดที่ไทยนี่แหละ หรือไม่ก็มาจากวัวป่าในท้องถิ่นมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ในแง่ของการจำแนกทางอนุกรมวิธานและพันธุศาสตร์พบว่าวัวเลี้ยงไม่ได้เกี่ยวข้องวัวป่าอย่างกระทิง วัวแดง รวมไปถึงกูปรีที่กลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้วในประเทศไทยแต่อย่างใด

นั่นหมายความว่าวัวเลี้ยงไม่ได้เป็นสัตว์ท้องถิ่นของเรามาตั้งแต่เดิม แต่เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดจากพื้นที่อื่น แล้วนำเข้ามาในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง แม้จะมีรูปร่างคล้ายกับวัวป่าในประเทศไทยก็ตาม

แล้ววัวที่เลี้ยงกันทุกวันนี้มีต้นกำเนิดมาจากไหน…

วัวเลี้ยงในไทย รวมถึงวัวเลี้ยงส่วนใหญ่ทั่วทั้งโลก มีต้นกำเนิดจาก วัวป่าออรอช (Bos primigenius) วัวป่าขนาดใหญ่ที่ถูกคนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างยาวนานจนกลายเป็นวัวที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มีอยู่สองชนิด ได้แก่ วัวทัวรีนและวัวซีบู ซึ่งมีขนาดเล็กลงจากบรรพบุรุษอย่างมาก และแต่ละชนิดมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกัน เกิดจากการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัย


วัวป่าออรอช บรรพบุรุษของวัวเลี้ยงที่เลี้ยงกันส่วนใหญ่บนโลก
ที่มาภาพ : Wikimedia

วัวทัวรีน (Bos taurus) เป็นวัวที่ไม่มีตะโหนกหรือโหนก (hump) มีกำเนิดจากวัวป่าออรอชเมื่อราว 10,000 ปีมาแล้ว มีต้นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันตก แล้วนำไปเลี้ยงอย่างกว้างขวางในเขตอบอุ่นที่มีฝนตกชุกและมีหญ้าปกคลุมอย่างหนาแน่น ต่อมามีการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้เนื้อและนมที่เราบริโภคกันทุกวันนี้ เช่น วัววากิว วัวออสเตรเลีย


วัวทัวรีน เป็นวัวไม่มีตะโหนก มักเลี้ยงในเขตอบอุ่น

วัวซีบู (Bos indicus) เป็นวัวที่มีตะโหนก กำเนิดจากชนิดย่อยของวัวป่าออรอชในอนุทวีปอินเดียเมื่อราว 7,000 ปีมาแล้ว แล้วนำไปเลี้ยงอย่างกว้างขวางในพื้นที่เขตร้อน เนื่องจากวัวซีบูมีตะโหนก ซึ่งอาจเป็นที่กักเก็บน้ำ อีกทั้งยังมีอัตราเมแทบอลิซึมและความต้องการน้ำที่ต่ำกว่าวัวทัวรีน แต่มีจำนวนต่อมเหงื่อที่มากกว่า วัวซีบูจึงทนร้อนได้ดีกว่า รวมทั้งยังทนต่อโรคภัยและปรสิตได้ดีกว่าวัวทัวรีน นอกจากนี้วัวซีบูยังมีพฤติกรรมรวมฝูงมากกว่าวัวทัวรีนที่มักอยู่เดี่ยว ๆ และกระจายตัวไปทั่วทั้งทุ่งหญ้า เป็นวัวที่เลี้ยงเพื่อกินเนื้อและใช้งาน เช่น วัวอเมริกันบราห์มัน สายพันธุ์วัวที่เลี้ยงในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน


วัวซีบู วัวที่มีตะโหนก มักเลี้ยงในเขตร้อน

และแม้ว่าวัวทั้งทัวรีนและซีบูจะมีการปรับตัวและมีถิ่นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่เรามักพบวัวทั้งสองชนิดนี้เลี้ยงอยู่ในพื้นที่เดียวกันและนำมาผสมระหว่างสายพันธุ์อยู่เสมอ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดี ปรับตัวเข้าสภาพแวดล้อม และทนต่อโรคได้อย่างดี

ปัจจุบันมีวัวพันธุ์พื้นเมืองถึง 4 สายพันธุ์ที่เลี้ยงอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ วัวขาวลำพูน วัวอีสาน วัวลาน และวัวชน ซึ่งก็มีรูปร่างภายนอกที่แตกต่างกันไม่มาก ทั้งขนาดตัว ขนาดของตะโหนก เหนียง และสีของลำตัว โดยผลการศึกษาสารพันธุกรรมของวัวในประเทศสรุปได้ว่า วัวเลี้ยงพื้นเมืองในประเทศไทยมาจากวัวซีบู


วัวพันธุ์พื้นเมืองในบริเวณบ้านไร่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

แม้จะได้ข้อมูลทางสายพันธุ์ของวัวในปัจจุบันแล้วในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้รู้เรื่องกำเนิดที่แท้จริงของวัวเลี้ยงในไทย นักพันธุศาสตร์จึงมุ่งไปที่การวิจัยหาสารพันธุกรรมในฟันและกระดูกของวัวในแหล่งโบราณคดีหลายแหล่ง


โครงกระดูกวัวอายุ 800 ปี ขุดค้นพบที่พระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
ที่มาภาพ : โครงการการค้นหาหลักฐานดีเอ็นเอจากกระดูกวัวโบราณที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงชนิดของวัวเลี้ยง จากวัวทัวรีนมาเป็นวัวซีบู ที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทย ในสมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา

จากการศึกษาไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอของกระดูกและฟันของวัวที่พบในแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย อาทิ แหล่งโบราณคดีมรดกโลกบ้านเชียงและบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อายุราว 3,550-1,700 ปีมาแล้ว บ่งชี้ว่า วัวเลี้ยงโบราณที่พบในแหล่งโบราณคดีทั้งหมดเป็นวัวทัวรีนที่มีความใกล้ชิดหรือมีบรรพบุรุษร่วมกับวัวทัวรีนโบราณที่พบในประเทศอิหร่าน (วัวโบราณจากอิหร่านที่นำมาศึกษามี2 ช่วงอายุ คือ 8,700-8,200 ปีมาแล้ว และ 2,000-1,600 ปีมาแล้ว ซึ่งทั้งหมดก็ใกล้ชิดกับวัวโบราณของไทย) และยังใกล้ชิดกับวัวทัวรีนโบราณจากประเทศจีน (ซึ่งมีตัวอย่างมาจากหลายช่วงเวลา ในช่วง 4,500-2,300 ปีมาแล้ว)

ผลจากข้อมูลทางพันธุศาสตร์ดังกล่าวทำให้นักวิจัยได้สรุปไว้ว่า วัวทัวรีนถูกนำมาเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ผ่านทางการติดต่อกันระหว่างชุมชนในจีนโบราณกับชุมชนโบราณต่าง ๆ ในประเทศไทย แล้วอาจถูกแทนที่ด้วยวัวซีบูในภายหลังเมื่อ 1,700 ปีมาแล้ว เพราะยังไม่ปรากฏข้อมูลวัวทัวรีนหลังจากนั้น คาดว่าวัวซีบูน่าจะเข้ามาพร้อมกับการติดต่อค้าขาย การเผยแพร่อารยธรรมและศาสนาที่ได้รับจากอินเดีย ด้วยที่วัวซีบูมีความอดทนต่อโรคได้มากกว่า เป็นแรงงานได้ดี และเหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเรา จึงอาจนำมาเลี้ยงแทนวัวทัวรีนที่มีมาก่อนหน้า และเลี้ยงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนกลายเป็นวัวพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทยในที่สุด อย่างไรก็ตามการศึกษาวัวโบราณยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น หากมีข้อมูลการศึกษาที่มากขึ้น ผู้เขียนจะนำข้อมูลมานำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาวัวโบราณในโอกาสต่อไป


การย่อยชิ้นกระดูกของสัตว์โบราณ อาทิ วัวโบราณ เพื่อนำมาหาสารพันธุกรรม ณ ห้องปฏิบัติการภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

สุพจน์ ศรีนิเวศน์ และ ปิยะศักดิ์ สุวรรณี, 2562ก. เทคโนโลยีปศุสัตว์: พาไปรู้จัก …สายพันธุ์วัวนมยอดนิยม, เทคโนโลยีชาวบ้าน, https://www.technologychaoban.com/livestock-technology/article_127797

สุพจน์ ศรีนิเวศน์ และ ปิยะศักดิ์ สุวรรณี, 2562ข. เทคโนโลยีปศุสัตว์: รู้จัก “วัวบราห์มัน” ในประเทศไทยให้มากขึ้น, เทคโนโลยีชาวบ้าน, https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_3082

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ, 2566. มารู้จักกับ โคเนื้อ-โคขุน ในประเทศไทย. https://www.bedo.or.th/project/articledetail?id=3779

วรรณรดา สุราช, 2562. การใช้ดีเอ็นเอเพื่อศึกษาวิวัฒนาการและโบราณคดีของวัวและสุกรเลี้ยง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Bradley, D. G., Loftus, R. T., Cunningham, P., and MacHugh, D. E., 1998. Genetics and domestic cattle origins. Evolutionary Anthropology: Issues, News, and Reviews: Issues, News, and Reviews, 6(3): 79-86.

Sinding, M. H. S. and Gilbert, M. T. P., 2016. The draft genome of extinct European aurochs and its implications for de-extinction. Open Quaternary, 2 (7): 1–9.

Siripan, S., Wonnapinij, P., Auetrakulvit, P., Wangthongchaicharoen N., and Surat, W., 2019. Origin of prehistoric cattle excavated from four archaeological sites in central and northeastern Thailand, Mitochondrial DNA Part A. https://doi.org/10.1080/24701394.2019.1597072

Wangkumhang, P., Wilantho, A., Shaw, P. J., Flori, L., Moazami-Goudarzi, K., Gautier, M., Duangjinda, M., Assawamakin, A., and Tongsima, S. (2015). Genetic analysis of Thai cattle reveals a Southeast Asian indicine ancestry. PeerJ, 3, e1318.

About Author