จะทำอย่างไรถ้าหัวใจหยุดเต้นบนอวกาศ

เรื่องโดย ปาลิตา สุฤทธิ์


          ภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือ cardiac arrest ถือเป็นหนึ่งในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และคุกคามต่อชีวิต ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากผลการสำรวจข้อมูลทั่วโลกในปี พ.ศ. 2561 พบว่าอัตราการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลอยู่ที่ 20-140 คนต่อประชากร 100,000 คน ส่วนใหญ่นั้นเกิดขณะอยู่ในบ้านพักอาศัย ซึ่งอัตราการรอดชีวิตมีเพียงแค่ร้อยละ 2-11 ส่วนประเทศไทยอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.5-8.5

          สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นที่เรียกว่า “CPR” (cardiopulmonary resuscitation) มีตั้งแต่ระดับ BLS (basic life support) หรือการช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การกดหน้าอก (chest compression) การใช้เครื่องกระตุกคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (automated external defibrillator: AED) และการช่วยเหลือในระดับที่มีการใช้อุปกรณ์หรือบุคลากรที่มีความชำนาญ ที่เรียกว่า ALS (advanced life support) เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ การให้ยาหรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

          ทั้งนี้มีงานวิจัยหลายฉบับที่ชี้ให้เห็นว่าการทำ CPR นั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิต เช่นในงานวิจัยชิ้นหนึ่งเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังเกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นซึ่งเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลในประเทศไทย พบว่าการช่วยเหลือด้วยการทำ CPR และการเข้าช่วยเหลือของทีมแพทย์ฉุกเฉิน (emergency medical services: EMS) ที่รวดเร็วมีผลต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association: AHA) บอกว่าการทำ CPR นั้นสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 2-3 เท่า ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าการทำ CPR มีความสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น

          แต่ทว่าการทำ CPR เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ข้างต้น ต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ไม่เพียงเพื่อสร้างแนวปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังรวมไปถึงประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อนำแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง แต่ก่อนจะทราบแนวทางปฏิบัติสำหรับการทำ CPR เราต้องเข้าใจคอนเซปต์กันก่อน

          การทำ CPR เปรียบเสมือนวิธีการหนึ่งที่เข้าไปช่วยพยุงหรือกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนเลือดที่หยุดทำงานไปกลับมาทำงานอีกครั้ง หนึ่งในวิธีการสำคัญของการทำ CPR คือ “การกดหน้าอก” คือการใช้แรงกดจากมือของผู้ช่วยเหลือนวดไปยังตำแหน่งหัวใจของผู้ป่วย ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการไหลเวียนเลือดอีกครั้ง โดยตำแหน่งของการกดหน้าอกที่ถูกต้องอยู่ที่บริเวณกึ่งกลางหน้าอกส่วนล่างของกระดูกอก (sternum) การกดหน้าอกประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 4 อย่างได้แก่ 1) สัดส่วนของการกดหน้าอกเทียบกับช่วงเวลาในการทำ CPR ทั้งหมดต้องมากกว่าร้อยละ 80 2) อัตราในการกดหน้าอกอยู่ที่ 100-120 ครั้งต่อนาที 3) ความลึกในการกดอยู่ที่ 5-6 เซนติเมตร และ 4) ในทุก ๆ การกดหนึ่งครั้งต้องเกิด chest recoil หรือการปล่อยหน้าอกกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมก่อนจะกดครั้งต่อไป โดยทั้ง 4 อย่างนี้ช่วยให้การทำ CPR มีประสิทธิภาพสูงสุด

          ย้อนกลับไปที่ชื่อเรื่อง “จะทำอย่างไรถ้าหัวใจหยุดเต้นบนอวกาศ” มีประเด็นที่น่าสนใจว่า การทำ CPR บนโลกมีขั้นตอนการช่วยเหลือและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ขาดเพียงเรื่องของบุคคลให้การช่วยเหลือ แต่การทำ CPR บนอวกาศ (CPR in microgravity) กลับตรงกันข้าม  จำนวนของผู้ช่วยเหลือไม่ใช่ปัญหา หากแต่เป็นเรื่องของขั้นตอนและอุปกรณ์ สำหรับโอกาสเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นบนอวกาศพบว่า อัตราการเกิดต่อนักบินอวกาศ 1 คนอยู่ที่ร้อยละ 0.017 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าบนโลก แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง การรับมือหรือวิธีการช่วยเหลือที่ยังไม่ชัดเจนก็นำมาซึ่งความกังวลและเกิดการตั้งคำถามถึงวิธีการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งจากการท่องเที่ยวอวกาศ (space tourism) หรือแม้แต่โครงการสำรวจอวกาศอย่างอาร์เทมิส (Artemis) ที่มีระยะเวลาเดินทางในอวกาศยาวนาน รวมถึงการเข้าถึงอวกาศของคนกลุ่มใหม่

          อย่างที่ทราบกันดีว่าสภาพแวดล้อมที่แตกต่างระหว่างพื้นโลกกับอวกาศที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของแรงโน้มถ่วง ยิ่งเราห่างออกไปจากโลกมากเท่าไหร่ ระยะทางหรือรัศมีที่เพิ่มมากขึ้นนั้นยิ่งทำให้แรงที่ดึงระหว่างวัตถุ 2 อย่างลดลง (ตามกฎของนิวตัน) เมื่ออยู่บนอวกาศตัวเราจะลอยเคว้ง และเป็นเรื่องยากหากเราต้องทำ CPR ให้ใครสักคนบนอวกาศ เพราะเพียงแค่ประคองตัวทำกิจกรรมง่าย ๆ อย่างเช่นการเดินก็ยากมากแล้ว

          ในปี พ.ศ. 2493-2503 AHA  และสภาการกู้ชีพแห่งยุโรป (European Resuscitation Council: ERC)  ศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้าง CPR guideline ให้เข้ากับลักษณะของมนุษย์และสถานการณ์ที่มีความเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการทำ CPR สำหรับผู้ใหญ่ เด็ก คนจมน้ำ คนตั้งครรภ์ หรือแม้แต่ผู้ป่วยโรคโควิด 19 แต่ทว่าการทำ CPR บนอวกาศซึ่งเป็นสถานการณ์เฉพาะกลับยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน หลายคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่าเพราะอะไร ทำไมเราถึงยังไม่มีแนวปฏิบัติสำหรับคนเหล่านั้น ทั้งที่การเดินทางสำรวจอวกาศเกิดขึ้นมานานกว่า 6 ทศวรรษ อีกทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ก็ก้าวกระโดดนับตั้งแต่มีการสำรวจอวกาศมา แน่นอนว่าการสำรวจ ทดลอง ศึกษาวิจัยต่างก็มีอุปสรรคอยู่ในตัวมัน เรื่องนี้ก็เช่นกัน ด้วยข้อจำกัดมากมายที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องของจำนวนครั้งของการเดินทางไปอวกาศ ลักษณะของนักบินที่ได้รับการทดสอบสมรรถนะและฝึกฝนร่างกายมาเป็นอย่างดี ทำให้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ภาวะหัวใจหยุดเต้นบนอวกาศ ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ว่าวิธีการที่คิดค้นมานั้นมีประสิทธิภาพสูงสุดแล้วหรือยัง สิ่งเหล่านี้เองจึงถือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างแนวปฏิบัติสำหรับสภาพแวดล้อมอย่างอวกาศ

          ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2504 ที่มนุษย์เริ่มเดินทางสำรวจอวกาศเป็นครั้งแรก ในขณะนั้นมีทีมที่เรียกว่า medical emergency during spaceflight ซึ่งมีหน้าที่ฝึกอบรมลูกเรือ (crew) ให้พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2511 มีข้อมูลที่พูดถึงการทำ CPR บนอวกาศ เกี่ยวกับการกดหน้าอกและการช่วยหายใจในลูกเรือที่เกิดภาวะขาดออกซิเจนฉับพลัน (acute hypoxia) แต่ก็ยังไม่มีการอธิบายวิธีการที่ชัดเจน

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 NASA ทดสอบอุปกรณ์สำหรับการกดหน้าอกในตำแหน่งที่แตกต่างกัน

          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า CMRS (Crew Medical Restraint System) ใช้สำหรับการจัดท่าเพื่อทำการกดหน้าอก เกิดขึ้นในภารกิจ STS-81 หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจ เกิดการศึกษาและทดลองต่าง ๆทั้งการทดสอบใน parabolic flight และการจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการหรือเทคนิคในการกดหน้าอกที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป


CMRS (The Crew Medical Restraint System) อุปกรณ์ในการจัดท่าเพื่อใช้ในการกดหน้าอกบนอวกาศ
ที่มาภาพ : https://www.flickr.com/photos/nasa2explore/44162930831/in/photostream/
https://www.nasa.gov/mission_pages/station/multimedia/gallery/iss036e003301.html

          จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2565 มีการตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่อง “Cardiopulmonary resuscitation (CPR) during spaceflight – a guideline for CPR in microgravity” ตีพิมพ์โดย DGLRM และ ESAM-SMG (องค์กรการแพทย์และอวกาศของเยอรมนีและยุโรป) พูดถึงวิธีการทำ CPR บนอวกาศซึ่งประกอบไปด้วย การกดหน้าอก การดูแลทางเดินหายใจ การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ การให้สารน้ำ รวมไปถึงการใช้ระบบสื่อสารแพทย์ทางไกล (telemedicine) โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

การกดหน้าอก

          การกดหน้าอกเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของการทำ CPR สำหรับการออกแบบวิธีการกดหน้าอกในสภาพแวดล้อมที่มีความเฉพาะอย่างอวกาศถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย เนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ลดลงทำให้ทั้งตำแหน่งการกดหน้าอกและการจัดท่าของผู้ป่วยนั้นยากต่อการปฏิบัติ ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้รวบรวมวิธีการในการจัดท่าสำหรับการกดหน้าอกถึง 5 วิธีด้วยกัน โดยอ้างอิงข้อมูลพื้นฐานจากแนวปฏิบัติ CPR บนโลก

          วิธีที่ 1 standard position มีลักษณะคล้ายกับการกดหน้าอกบนโลกทั่วไป ทดสอบด้วยการใช้ parabolic flight โดยให้ผู้ช่วยเหลือใช้สายรัด 2 เส้นในการจัดท่าผู้ป่วย สายรัดเส้นหนึ่งรัดที่เอวของผู้ป่วย ส่วนอีกหนึ่งเส้นรัดที่หน้าแข้ง เพื่อผูกยึดให้ตัวผู้ป่วยแนบกับ CMRS ขณะที่ผู้ช่วยเหลือทำการกดหน้าอกที่ด้านข้างลำตัวของผู้ป่วย


ตัวอย่างท่ากดหน้าอกด้วยวิธี standard position
ที่มาภาพ : NASA via https://archive.org/details/STS081-318-031

          วิธีที่ 2 straddling position วิธีนี้ทำเช่นเดียวกับวิธีที่ 1 เพียงแต่ตำแหน่งของผู้ช่วยเหลือเปลี่ยนไป โดยใช้เข่าทั้ง 2 ข้างล็อกตัวผู้ป่วยในลักษณะคร่อมด้านบนแล้วทำการกดหน้าอก

          วิธีที่ 3 reverse bear hug (RBH) วิธีนี้ดัดแปลงมาจากท่าปฐมพยาบาลผู้ที่มีภาวะสำลักสิ่งแปลกปลอมด้วยการรัดกระตุกที่ท้องเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ หรือที่เรียกว่า Heimlich-maneuver ผู้ช่วยเหลือจะกดหน้าอกจากด้านหลังโดยที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อย่าง CMRS จึงเป็นวิธีที่ทำได้รวดเร็ว

          วิธีที่ 4 handstand (HS) วิธีนี้คล้ายกับ RBH คือไม่ต้องผูกยึดผู้ป่วยกับ CMRS แต่ใช้วิธีจัดให้หลังของผู้ป่วยแนบกับพื้นหรือผนังเรียบบนยานสำรวจอวกาศ ส่วนผู้ช่วยเหลืออยู่ในท่าที่แขนทั้ง 2 ข้างเหยียดขึ้นตรงเหนือศีรษะ มือทั้งสองอยู่ในตำแหน่งกระดูกอก ปลายเท้าทั้งสองข้างยันกับผนังอีกฝั่งของยาน  ลักษณะของผู้ช่วยเหลืออยู่ในแนวตั้งฉากกับผู้ป่วย ส่วนแรงที่ใช้ในการกดหน้าอกเกิดจากการงอเข่าและสะโพกของผู้ช่วยเหลือ ซึ่งวิธี handstand นี้นำมาสู่การพัฒนาวิธีที่ 5

          วิธีที่ 5 Evetts-Russomano (ER) วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องผูกยึดผู้ป่วยเหมือนกับวิธี HS และเป็นวิธีใหม่ที่ได้รับการยอมรับว่าเหมาะจะใช้ในภาวะฉุกเฉินเมื่ออยู่บนอวกาศมากที่สุด โดยมีแนวทางการปฏิบัติคือ ใช้ขาด้านซ้ายของผู้ช่วยเหลือล็อกไปที่ไหล่ขวาของผู้ป่วย ส่วนขาด้านขวาล็อกที่ข้างลำตัวฝั่งตรงข้าม ปลายเท้าทั้งสองข้างประสานกันที่ตำแหน่งกลางหลังของผู้ป่วยแล้วค่อยทำการกดหน้าอก วิธีนี้มีระยะห่างระหว่างมือกับตำแหน่งในการกดหน้าอกใกล้กับผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้มีผลต่อแรงในการกดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแม้วิธีนี้จะทำได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์และสะดวกต่อการเปิดทางเดินหายใจ แต่การเข้าช่วยเหลือโดยไม่มีการผูกยึดผู้ป่วยนั้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ เพราะขณะที่ลอยเคว้งอยู่บนอวกาศก็มีโอกาสที่จะเคลื่อนไปชนอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในยานสำรวจ เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้


https://www.nstda.or.th/r/yeNjY
QR code เอกสารออนไลน์ เรื่่อง Knowledge Transfer from Space Medicine to Global Health on Earth โดย Prof. Thais Russomano แสดงภาพการกดหน้าอกด้วยวิธี reverse bear hug, handstand และ Evetts-Russomano ในหน้าที่่ 9

          แน่นอนว่าการกดหน้าอกให้เกิดประสิทธิภาพนั้น นอกเหนือจากการจัดตำแหน่งแล้ว ความถี่และความลึกในการกดหน้าอกก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย ในงานวิจัยนี้ก็กล่าวถึงความลึกและความถี่ของการกดหน้าอกในแต่ละวิธีได้อย่างน่าสนใจ โดยพบว่าวิธี ER เป็นวิธีเดียวที่มีช่วงอัตราการกดหรือความถี่อยู่ที่ 100-109 ครั้งต่อนาที ในขณะที่วิธีอื่น ๆ พบอัตราที่ต่ำกว่า 100 และมากกว่า 120 ครั้งต่อนาที ในขณะเดียวกันความลึกของการกดหน้าอกของวิธี ER กลับไม่สอดคล้องกัน โดยค่าของความลึกที่วิเคราะห์ได้นั้นกลับมีค่าไม่คงที่ มีค่าตั้งแต่ 1.9-4.8 เซนติเมตร ในขณะที่วิธี HS และ RBH มีค่าความลึกใกล้เคียงกันที่ 5 เซนติเมตร และเป็นค่าที่อยู่ในช่วงของการกดหน้าอกที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลแล้วจะพบว่าในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องทำการกดหน้าอก วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นควรเริ่มจากวิธี ER แต่ถ้าหากผู้ช่วยเหลือไม่สามารถกดหน้าอกได้ก็เปลี่ยนไปใช้วิธี RBH แต่ถ้าในกรณีที่ยานอวกาศมีเตียงสำหรับผูกยึดผู้ป่วย การใช้วิธี HS จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากความลึกและความถี่ของการกดอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ

          จะเห็นว่าแต่ละวิธีต่างมีข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นจะเลือกใช้วิธีใดควรพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละเหตุการณ์ โดยสิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญไม่ใช่เรื่องของตำแหน่ง แต่เป็นการเข้าไปช่วยกดหน้าอกให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่สำหรับการปฐมพยาบาลบนอวกาศนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างมากเพื่อเคลื่อนย้าย (คงจะพอจินตนาการได้ เพราะแค่การเดินเฉย ๆ คนเดียวก็ยากลำบากแล้ว)

การดูแลทางเดินหายใจ

          สำหรับการดูแลเรื่องทางเดินหายใจบนอวกาศนั้นมีการพูดถึงการใส่อุปกรณ์และการดูดเสมหะ (suction)  เพื่อเปิดทางเดินหายใจ สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจมุ่งเน้นไปที่การใส่ท่อช่วยหายใจ (endotracheal tube) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล (gold standard) ในการจัดการเรื่องทางเดินหายใจขณะทำ CPR แต่สำหรับสภาพแวดล้อมอย่างอวกาศที่มีข้อจำกัด ทำให้การใส่ท่อช่วยหายใจเกิดอุปสรรค จากการศึกษาทดลองของนักวิจัย 2 ท่าน พบอัตราความสำเร็จในการใส่ท่อช่วยหายใจขณะที่ผู้ป่วยถูกผูกยึดสูงกว่าอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับขณะที่ผู้ป่วยลอยอิสระ  จึงเป็นเหตุผลสำหรับคำแนะนำว่าควรผูกยึดผู้ป่วยก่อนถ้าหากมีความจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ส่วนการดูดเสมหะบนอวกาศยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงประโยชน์ต่อการทำ CPR อย่างชัดเจน มีเพียงแค่การทดสอบการทำงานของเครื่องดูดเสมหะสำหรับการจัดการผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกมาก (bleeding control) ใน parabolic flight

การกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

          ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอสำหรับการศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างเครื่อง AED บนอวกาศ แต่เนื่องจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจถือเป็นหัวใจสำคัญ (crucial step) สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด ventricular tachycardia/ventricular fibrillation (VT/VF) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากต้องใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจบนอวกาศ ต้องผูกยึดผู้ป่วยและอยู่ห่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างบนยานอวกาศ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาแน่ ๆ

การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและการให้ยา

          การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำมีความสำคัญในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับการเปิดเส้นเลือดเพื่อให้สารน้ำและยาทางหลอดเลือดดำบนอวกาศ ซึ่งประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นการเปิดเส้นเลือดเพื่อให้สารน้ำมีความสำคัญน้อยกว่าการกดหน้าอก การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ และการเปิดทางเดินหายใจ แต่ถ้ามีการใช้ประโยชน์จากการเปิดเส้นเลือดดำนี้เพื่อให้ยากระตุ้นการทำงานของหัวใจอย่างเช่น เอพิเนฟริน (epinephrine) ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก

การแพทย์ทางไกล

          ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ระบบการแพทย์ทางไกลกับการทำ CPR โดยตรง มีเพียงแค่หัตถการ เช่น การใส่สายระบายที่ทรวงอก (chest drain) ซึ่งประสบความสำเร็จ แม้ว่าการแพทย์ทางไกลในยุคปัจจุบันฟังดูเหมือนจะเป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วย แต่ด้วยสถานการณ์อย่างการทำ CPR ซึ่งต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว จึงนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากลูกเรือมีทักษะในการทำ CPR โดยพึ่งพิงความช่วยเหลือจากศูนย์ควบคุม (mission control) น้อยที่สุดน่าจะเป็นผลดีกว่า นอกจากนี้ในบางสถานการณ์ เช่น การเดินทางไปดาวอังคารที่การติดต่อสื่อสารกับโลกล่าช้ากว่าความเป็นจริงถึง 23 นาที การใช้การแพทย์ทางไกลอาจจะไม่ส่งผลดีนัก แต่ถึงอย่างนั้น หากเกิดสถานการณ์ที่ลูกเรือไม่สามารถตัดสินใจได้เองและต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์ควบคุม การติดต่อสื่อสารผ่านระบบการแพทย์ทางไกลไว้ตั้งแต่เริ่มก็ฟังดูไม่ได้ไร้ประโยชน์นัก

          และทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาเกี่ยวกับอวกาศซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรง แม้ปัจจุบันแนวปฏิบัติสำหรับการทำ CPR บนอวกาศยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานอย่างเช่นบนโลก อีกทั้งยังขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติในสถานการณ์จริง รวมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อการศึกษาทดลอง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าตราบใดที่มนุษย์ไม่หยุดตั้งคำถามและหาคำตอบ สักวันหนึ่งเราจะก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นและสามารถพัฒนาจนเกิดแนวทางปฏิบัติที่นำไปใช้ได้อย่างแท้จริง


อ้างอิง

About Author