ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘แมลง’ กำลังเป็นเทรนด์อาหารทางเลือกมาแรงและเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต เพราะนอกจากแมลงจะมีโปรตีนสูงกว่าเนื้อวัว หมู และไก่แล้ว การเพาะเลี้ยงแมลงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่ามาก เนื่องจากใช้พื้นที่ น้ำ และอาหารในการเพาะเลี้ยงไม่มาก แถมยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าหลายเท่าตัว ดังจะเห็นได้จากวลีที่เป็นกระแสเปลี่ยนแปลงโลกว่า ‘Eat Insects to Save The Planet’ ซึ่งแมลงที่ได้รับความนิยมขณะนี้ คือ “จิ้งหรีด (Cricket)” หนึ่งในแมลงอุตสาหกรรมของไทย
จิ้งหรีด
คุณธนาภูมิ ม่วงเอี่ยม Co-founder & Chief Farming (CFO) บริษัท โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย จำกัด บริษัทผู้ผลิตและส่งออกจิ้งหรีดแปรรูป ชี้ตัวเลขแนวโน้มทางเศรษฐกิจของตลาดแมลงทั่วโลกโดยอ้างอิงจาก Meticulous Research ว่า ธุรกิจนี้มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี (2561 – 2566) โดยคาดว่าขนาดตลาดของประเทศไทยจะขยายจาก 23.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็น 80.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 18.9
“ผลิตภัณฑ์แมลงที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกมีหลายชนิด ทั้งในรูปแบบแมลงทั้งตัว (Whole Insect) และในรูปแบบอาหารแปรรูป เช่น แมลงผง โปงตีนเชค โปรตีนบาร์ เครื่องดื่ม ลูกอม เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนตลาดสูงสุดคือแมลงผง (ร้อยละ 24)”
เมื่อแนวโน้มตลาดธุรกิจแมลงกินได้ขยายวงกว้างมากขึ้น นับเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก แต่การจะทำฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อตีตลาดโลกได้นั้น ประตูด่านแรกที่ผู้ประกอบการต้องผ่านให้ได้ คือ มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) 8202-2560 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
รศ.ดร.จิราพร กุลสาริน อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร ผู้มีส่วนช่วยกำหนดแนวปฏิบัติการใช้มาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มจิ้งหรีดอธิบายว่า มาตรฐานนี้มีขึ้นเพื่อรับรองความสะอาด ปลอดภัย และการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากมีมาตรฐานออกมาเรียบร้อยแล้ว คณะเกษตรศาสตร์ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันศึกษาและพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการเลี้ยงจิ้งหรีดสู่ Smart Farming และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับการถ่ายทอดแล้วมากกว่า 500 ราย
“ตู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด” ตัวอย่างการพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด
“ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดที่ผ่านมาตรฐาน GAP ต่างประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคต่างเลือกสินค้าที่มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทำให้ปัจจุบันมีความต้องการที่ล้นหลามจนไม่สามารถผลิตได้ทัน โดยใบรับรองมาตรฐาน GAP ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นใบเบิกทางในการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย เพราะมาตรฐาน GAP เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างไรก็ตามบางประเทศอาจมีข้อกำหนดเฉพาะที่แตกต่างออกไป”
“วัสดุเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด” ตัวอย่างการพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด
“ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดที่ผ่านมาตรฐาน GAP ต่างประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคต่างเลือกสินค้าที่มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทำให้ปัจจุบันมีความต้องการที่ล้นหลามจนไม่สามารถผลิตได้ทัน โดยใบรับรองมาตรฐาน GAP ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นใบเบิกทางในการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย เพราะมาตรฐาน GAP เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างไรก็ตามบางประเทศอาจมีข้อกำหนดเฉพาะที่แตกต่างออกไป”
นอกจากการพัฒนาฟาร์มและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อให้ได้การยอมรับจากตลาดโลกแล้ว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยเฉพาะการเจาะตลาด Functional Food ยังเป็นกุญแจสำคัญในการแปรรูปอาหารและสร้างความต้องการอาหารจากแมลงให้เพิ่มสูงขึ้น
รศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะนำว่า จุดขายของจิ้งหรีด คือ การเป็นทางเลือกในการบริโภคโปรตีน ประจวบเหมาะกับความนิยมในการบริโภคโปรตีนเพื่อดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว ดังนั้นจิ้งหรีดจึงเป็นหนึ่งในโปรตีนที่น่าจับตามองไม่ต่างกับเวย์ (Whey) โปรตีนจากนมวัว เพราะมีจุดขายที่เสริมมาอีกขั้นคือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“สำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจอาหารจากจิ้งหรีด ผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่แนะนำให้ผลิตคือ ‘แมลงผง’ เพราะผู้บริโภคในตลาดโลกส่วนใหญ่ยังให้การยอมรับในรูปแบบนี้มากกว่าแบบแมลงทั้งตัว (Whole Insect) และรูปแบบผงยังนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มโปรตีนได้ง่าย เช่น โปรตีนเชค โปรตีนบาร์ พาสต้า ขนมปัง และขนมขบเคี้ยว หากสนใจที่จะแปรรูปเพื่อจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการสามารถทำวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอาหารแมลง รวมถึงศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์”
อย่างไรก็ดี โอกาสในการทำธุรกิจทางด้านแมลงเป็นของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยแล้ว หากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจทางด้านแมลง (หรือทางด้านอื่นๆ) ต้องการยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการทำวิจัย ก็สามารถขอทุนสนับสนุนจาก สวทช. ได้ผ่าน 2 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CTAP) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิต
โดยทั้ง 2 โครงการนี้นอกจาก สวทช. จะให้ทุนสนับสนุนในการทำวิจัยแล้ว ยังช่วยจับคู่ความต้องการในการพัฒนาเทคโนโลยีของท่านกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาโครงการจนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เป็นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ภายใต้แนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG (Bio-Circular-Green) Economy Model