ม.มหิดล ฝ่าวิกฤติโรคระบาดในฟาร์มจระเข้กระทบส่งออกผลิตภัณฑ์จระเข้ไทย เตรียมจัดอบรมผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการ – จุดประกายพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในจระเข้ครั้งแรก
วันที่ 26 ธันวาคม ตรงกับ “วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ” เมื่อกล่าว “จระเข้” ซึ่งในปัจจุบันเป็นทั้ง “สัตว์ป่า” และ “สัตว์เศรษฐกิจ” ทำให้นึกย้อนไปถึงวิถีชีวิตและความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยที่แสดงถึงความผูกพันกับ “จระเข้” ไม่ว่าจะเป็นจากตำนานเรื่องไกรทอง วรรณคดีขุนช้างขุนแผน ตอน พลายชุมพลปราบจระเข้ หรือตำนานพื้นบ้านต่างๆ รวมทั้งวัตถุมงคลและพิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น จนเมื่อเวลาผ่านไปความผูกพันนั้นดูเหมือนจะเริ่มลดทอนลง จนเหลือแต่เพียงในตำนาน เมื่อในทุกวันนี้พบว่า “จระเข้สยาม” ซึ่งเป็นจระเข้น้ำจืดของไทยกำลังใกล้จะสูญพันธุ์ โดยมีชีวิตรอดเพียงจำนวนหลักสิบตามธรรมชาติเท่านั้น
รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงสถานการณ์จระเข้ไทยในปัจจุบันว่ากำลังน่าเป็นห่วง ด้วยมาตรฐานการบริหารจัดการฟาร์มที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดของจระเข้ในฟาร์ม ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ส่งออกจากจระเข้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการอนุรักษ์ จนในเวทีโลกได้หยิบยกเป็นเรื่องกีดกันทางการค้า
“ก่อนหน้านี้หนังจระเข้และผลิตภัณฑ์จากหนังจระเข้ของไทยเป็นที่นิยมอย่างมาก มีมูลค่าการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศมหาศาลหลายพันล้านบาทต่อปี สำหรับเนื้อจระเข้นั้นก็เคยมีราคาสูงถึงหลักพัน แต่ปัจจุบันขายเพียงกิโลกรัมละ 10 – 15 บาท และยังไม่นับรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวฟาร์มจระเข้ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มจระเข้ถึงร้อยละ 25 ต้องเลิกกิจการตั้งแต่เกิดปัญหาโรคระบาดในฟาร์มจระเข้ และวิกฤติ COVID-19 ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนสมาคมผู้เลี้ยงจระเข้ต่างๆ ฯลฯ จะต้องมาคุยกันถึงทางรอดของจระเข้ไทยว่าจะไปต่อได้อย่างไร” รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาสัตว์น้ำ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงโรคระบาดในฟาร์มจระเข้สยามที่พบมากในประเทศไทยในปัจจุบัน คือ “โรคคลามัยเดีย” ซึ่งสามารถติดต่อได้จากสัตว์ปีก เช่น ไก่สดที่ให้เป็นอาหารจระเข้ โดยมักแสดงอาการความรุนแรงจากน้อยไปหามาก คือ คอแดง เยื่อตาขาวอักเสบ และกระดูกสันหลังคด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อร่วมกันระหว่างคลามัยเดียและไวรัสบางชนิด ซึ่งส่งผลให้มีอาการรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น นอกจากการเลี้ยงจระเข้ในคอกที่มีพื้นไม่เรียบ และน้ำไม่ดีแล้ว ยังมีโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดรอยตำหนิที่ผิวหนังจระเข้ ซึ่งส่งผลต่อการนำหนังจระเข้ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกอีกด้วย
สัตวแพทย์หญิงนรีรัตน์ สังขะไชย ผู้ช่วยวิจัยประจำงานระบาดวิทยาและอายุรศาสตร์สัตว์ป่า ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเสริมในส่วนของการอนุรักษ์ว่า “จระเข้สยาม” เป็นจระเข้น้ำจืดของไทยที่โดยปกติไม่ดุร้ายหากไม่ได้อยู่ในฤดูวางไข่ ไม่เหมือนกับจระเข้น้ำเค็มที่พร้อมจู่โจมตามสัญชาตญาณทางธรรมชาติ ภารกิจเร่งด่วนของนักอนุรักษ์คือทำอย่างไรให้คนกับจระเข้อยู่ด้วยกันได้ โดยการให้องค์ความรู้เรื่องชีววิทยา และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่ง “จระเข้สยาม” นอกจากจะไม่ดุร้ายแล้ว ยังมีส่วนช่วยรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ กำจัดปลาที่ป่วยออกไปจากระบบนิเวศ ทำให้น้ำไม่เน่าเสียอีกด้วย
ระหว่างวันที่ 20 – 21 มกราคม 2565 เวลา 08.30 – 12.30 น. คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ สมาคมฟาร์มจระเข้ไทย จัดอบรมสัมมนา “คนเลี้ยงอยู่ได้ จระเข้ไทยอยู่รอด” ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงนลิน อารียา หัวหน้าภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ถึงความมุ่งหมายในการจัดอบรมสัมมนาดังกล่าวโดยหวังให้เป็นแนวทางสำหรับอนาคตของการเลี้ยงจระเข้ไทย ฝ่าวิกฤติจากปัญหาการส่งออก การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในฟาร์มจระเข้ และผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 โดยคาดว่าองค์ความรู้ที่มอบให้จากการอบรมสัมมนาดังกล่าวจะสามารถนำไปต่อยอดจนผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ได้
ซึ่งการอบรมสัมมนาจัดขึ้นทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากเรื่อง “การจัดการและหลักสุขาภิบาลเบื้องต้นในการเลี้ยงจระเข้” “โรคและการจัดการสุขภาพเบื้องต้นสำหรับจระเข้” “การใช้ประโยชน์และผลิตภัณฑ์จากจระเข้” “อุตสาหกรรมการผลิตจระเข้กับอนาคตของผู้เลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย” แล้ว ยังมีการเสวนาเรื่อง “ข้อกฎหมาย การตลาด และทางรอดของจระเข้ไทย”
วิทยากรนำโดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนจากกรมประมง สมาคมฟาร์มจระเข้ไทย ภาคเอกชนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้ และกลุ่มผู้เลี้ยงจระเข้ ฯลฯ
รวมทั้งจะมีการบรรยายเรื่อง “สถานการณ์โรคติดเชื้อคลามัยเดียในประเทศไทย” ซึ่งจะได้มีการพูดถึงแนวโน้มการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวในฟาร์มจระเข้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้ของประเทศไทยต่อไปอีกด้วย
ติดตามรายละเอียดการจัดอบรมสัมมนา “คนเลี้ยงอยู่ได้ จระเข้ไทยอยู่รอด” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 มกราคม 2565 เวลา 08.30 – 12.30 น. ได้ที่ Facebook : คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล Faculty of Veterinary Science, Mahidol University
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
Cr: ภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงวรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาสัตว์น้ำ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210