ธรรมชาติของวงจรชีวิตยุง มักแพร่พันธุ์ในบริเวณที่มีแหล่งน้ำชื้นแฉะ หรือที่มีน้ำขัง โดยภายในอาคารมักพบยุงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณที่มืดและอับชื้น
นายธีรวิทย์ ผ่านภูวงษ์ นักวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนวัตกรผู้คิดค้นและพัฒนา “เครื่องดูดยุงชนิดโค้ง” ร่วมกับ ดร.รวีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล คือ หนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้พยายามเอาชนะอุปสรรคในการควบคุมและกำจัด “ยุง” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการเกิดโรคเขตร้อนต่างๆ ของโลก
นายธีรวิทย์ ผ่านภูวงษ์ นักวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออกเดงกี่ ไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคชิคุนกุนยา ไข้ซิก้า ฯลฯ ล้วนมียุงเป็นพาหะ และอาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต
หนึ่งในวิธีการป้องกันโรค คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงเพื่อลดความเสี่ยงจากยุงกัด ซึ่งต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพก่อนวางจำหน่าย แต่ปัญหาสำคัญที่มักพบในการทดสอบผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง คือ ข้อจำกัดในการดูดยุงออกจากที่แคบ หลังจากทดสอบผลิตภัณฑ์แล้ว
“เครื่องดูดยุงชนิดโค้ง” ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นนี้ ประกอบด้วย “ตัวเครื่อง” ที่ทำจากท่อพีวีซีชนิดหนา แต่มีน้ำหนักเบา และ “ท่อดูด” ที่ทำจากอะคริลิคชนิดใส โดยได้ออกแบบให้เป็นรูปทรงกระสวยที่มีส่วนปลายโค้งงอ ด้วยวัสดุต้นทุนต่ำภายในประเทศ เพื่อให้สามารถดูดยุงได้แม้ในที่แคบ รวมทั้งตัดปัญหาเรื่องการดูดขน เกล็ดปีกยุง และสารกำจัดแมลงเข้าสู่ร่างกาย
แม้ปัจจุบัน “เครื่องดูดยุงชนิดโค้ง” จะมีการใช้ประโยชน์เพียงเพื่อการบริการทดสอบผลิตภัณฑ์การศึกษาวิจัยทางกีฏวิทยาการแพทย์ ในการประเมินประสิทธิภาพสารกำจัดแมลงของภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น แต่ในอนาคตจะได้มีการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210