Data Analytics วิเคราะห์การตลาด ฉลาดบริโภค ท่องเที่ยวไทย-อังกฤษ

          เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทบทุกด้าน รวมทั้งในทางการตลาดที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจได้หลากหลายมากขึ้น ในขณะที่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อยลง

          รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด กลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ผู้สร้างองค์ความรู้เพื่อบุกเบิกการตลาดแนวใหม่ จากการริเริ่มทำงานวิจัยโดยประยุกต์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) เข้ากับ Generative AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยในการออกแบบและสร้างเนื้อหา (Content) ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น


รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด กลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)

          นอกจากการเป็นอาจารย์ประจำสอนวิชาการตลาดที่ MUIC แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ มีผลงานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติกว่า 30 เรื่อง ภายใน 9 ปี อาทิ “Place Branding and Public Diplomacy” และ “Journal of Place Management and Development” ที่นอกจากได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังได้รับการยกย่องในฐานะ Outstanding Paper

          และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ “Tourism Management” จากเรื่อง “Analysing TripAdvisor reviews of tourist attractions in Phuket, Thailand, “International Journal of Hospitality Management” จากเรื่อง “How was your meal?” Examining customer experience using Google maps reviews” และ “International Journal of Tourism Research” จากเรื่อง “Traveller-generated destination image: Analysing Flickr photos of 193 countries worldwide” เป็นต้น

          ในระดับนานาชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ ได้รับเกียรติในฐานะ Senior Fellow แห่ง Institute of Place Management (IPM), Manchester Metropolitan University สหราชอาณาจักร ร่วมมือทำงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาเมืองในสหราชอาณาจักร เช่น การวิเคราะห์ความคิดเห็นออนไลน์เกี่ยวกับ “ตลาดค้าปลีก” ในสหราชอาณาจักรเพื่อพัฒนาประสบการณ์ และการวิเคราะห์สิ่งอำนวยความสะดวกในย่านนวัตกรรม (Innovation Districts) ทั่วโลก

          ก้าวต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ อยู่ในระหว่างการร่วมมือกับนักวิจัยในสถาบันวิจัย IPM นำข้อมูลใน OSM – Open Street Map มาวิเคราะห์และพยากรณ์ว่าพื้นที่ในเมืองมี football หรือจำนวนคนเดินมากเท่าไร

          ในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ อาจล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เช่นเดียวกับการทำวิจัยซึ่งจะเป็นความท้าทาย ที่คอยผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อวันหน้าที่ดีขึ้นต่อไปอยู่เสมอ

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author