‘เห็ดพิษ’ ภัยร้ายในฤดูฝน

เรื่องโดย
วัชราภรณ์ สนทนา


          เมื่อฝนเริ่มโปรยปราย เห็ดป่าหลายชนิดเริ่มผลิบาน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอุบัติการณ์ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทาน ‘เห็ดพิษ’ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่าในแต่ละปีพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษจำนวนมาก และในปี 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 141 ราย เสียชีวิต 5 ราย โดยจากสถิติที่ผ่านมาผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบในภาคอีสานและภาคเหนือ สำหรับอาการของผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หลังจากกินเห็ดพิษประมาณ 20 นาทีถึง 24 ชั่วโมง บางรายมีอาการรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตด้วยอาการตับวาย ไตวาย ภายใน 1-8 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดและชนิดของพิษที่รับประทาน

          ธิติยา บุญประเทือง ทีมนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์เห็ดรา ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษมาจากเห็ดพิษบางชนิดมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับเห็ดกินได้อย่างมาก จึงทำให้ชาวบ้านสับสน ดังนั้นความเชี่ยวชาญของผู้เก็บเห็ดจึงสำคัญอย่างมาก เพราะผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่พบล้วนเป็นผู้ที่ไม่ชำนาญในการเก็บเห็ด

          “รายงานข้อมูลผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษส่วนใหญ่มักเป็นมือสมัครเล่นที่ไม่รู้จักเห็ดดีพอ หลายกรณีเป็นลูกหลานที่กลับบ้านหลังจากการทำงานในเมือง พอเห็นเห็ดก็อยากเก็บมารับประทาน และคิดว่าเป็นเห็ดชนิดเดียวกับที่พ่อแม่เคยทำให้ทาน แต่ไม่รู้ว่ามีกลุ่มเห็ดพิษที่รูปร่างคล้ายกัน จึงทำให้เกิดอันตรายได้ สะท้อนให้เห็นการขาดช่วงการสืบทอดความรู้ในการจำแนกเห็ดป่าจากปู่ย่าตายายจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน อีกกรณีหนึ่งคือป่าบ้านตนเองแทบไม่เหลือเห็ดแล้ว จึงย้ายไปเก็บเห็ดในป่าพื้นที่อื่น ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่  และเก็บเห็ดพิษมาบริโภค นอกจากนี้แล้วพฤติกรรมการเก็บเห็ดในตอนกลางคืนหรือเช้ามืดก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะชาวบ้านจะแย่งกันเก็บ ใครมาก่อน มีสิทธิ์ก่อน ดังนั้นก็ก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ เพราะกลางคืนมีแสงน้อย”

          ด้วยปัญหาการระบาดของเห็ดพิษในประเทศไทย ทีมนักวิจัยพิพิธภัณฑ์เห็ดรา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ได้ร่วมกับกลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำการตรวจวินิจฉัยชนิดของเห็ดป่าที่เป็นพิษตั้งแต่ปี 2551 เพื่อรวบรวมข้อมูลการจัดจำแนกเห็ดพิษเบื้องต้น และจัดทำเป็นองค์ความรู้ในการสังเกตเห็ดพิษสำหรับถ่ายทอดและรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษ

          ธิติยา กล่าวว่า ตัวอย่างเห็ดพิษและเห็ดกินได้ที่ชาวบ้านสับสนกันมากที่สุด เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เป็นเห็ดพิษที่รับประทานไม่ได้และมีการเก็บผิดเป็นประจำทุกปี โดยจะมีความคล้ายคลึงกับเห็ดนกยูง และเห็ดกระโดงที่รับประทานได้ โดยในช่วงที่เป็นดอกอ่อนจะคล้ายกันมาก เมื่อเห็ดเริ่มแก่สปอร์ของเห็ดหัวกรวดครีบเขียวจะเปลี่ยนสีและทำให้ครีบใต้ดอกมีสีเขียวปนเทา ส่วนเห็ดนกยูงสปอร์จะเป็นสีขาวไม่เปลี่ยนสี เมื่อแก่ครีบใต้ดอกจะมีสีขาว สำหรับอาการที่เกิดจากการบริโภคเห็ดชนิดนี้ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียภายใน 5 นาที-1 ชั่วโมง

ภาพจาก https://gnews.apps.go.th/news?news=42188

          “เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตและพบระบาดเป็นประจำ คือ กลุ่มเห็ดระโงกพิษ เช่น เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก มีพิษร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือเห็ดไข่ห่านที่รับประทานได้ หากสังเกตเบื้องต้นจะพบว่าเห็ดระโงกหินมีเกล็ดขาวขนาดเล็ก ฝุ่นผงสีขาวปกคลุมบนหมวกดอก และก้านกลวง ขณะที่เห็ดระโงกขาวหมวกเรียบมัน กลางหมวกดอกอมเหลืองเล็กน้อย และก้านตันเนื้อแน่น หากแต่ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภคเห็ดระโงกขาวในช่วงดอกเห็ดบานแล้ว แต่จะนิยมเก็บช่วงเห็ดอ่อน ซึ่งมีลักษณะดอกเห็ดตูมคล้ายไข่ กลมรี ยากต่อการจำแนก แต่จากงานวิจัยพบวิธีจำแนกเบื้องต้นว่า หากจะเก็บระโงกช่วงเห็ดอ่อน ต้องนำมาผ่าเพื่อดูชั้นผิวด้านใน ถ้าผ่าเห็ดตูมแล้วเห็น ‘สีเหลือง’อยู่ที่เปลือกชั้นที่ 2 จากด้านบน คือ ‘เห็ดระโงกขาวกินได้’ แต่หากผ่าแล้วเห็นเป็น ‘สีขาวล้วน’ คือ ‘เห็ดระโงกพิษแน่นอน ฉะนั้นต้องผ่าเห็ดทุกครั้งก่อนเก็บหรือต้ม”

          นอกจากนี้ยังมี ‘เห็ดระโงกพิษสีน้ำตาล’ ที่คล้ายกับเห็ดระโงกยูคาจนไม่สามารถจำแนกด้วยตาเปล่า มีพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและเป็นชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย รวมถึง กลุ่มเห็ดคล้ายกับเห็ดโคน ที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิต พบระบาดได้มากเพราะเหมือนกับเห็ดโคนที่ได้รับความนิยมมาก

          ธิติยา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ เห็ดป่ามีจำนวนมาก และมีความคล้ายกันมาก ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาวิจัยเห็ดป่าแต่ละชนิดทั้งด้านกายภาพและชีวโมเลกุล เพื่อจัดจำแนกเห็ดพิษได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้พยายามหายีนที่แสดงออกความเป็นพิษของเห็ด เพื่อใช้ตรวจสอบเห็ดชนิดอื่นๆ พร้อมกับจัดทำบาร์โค้ดเห็ดพิษในประเทศไทย สำหรับเป็นองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงชนิดของเห็ดพิษที่ต้องระวังมากขึ้น

          “สำหรับข้อควรระวังในการรับประทานเห็ดช่วงนี้ แนะนำว่าถ้าไม่มีความชำนาญในการแยกชนิดของเห็ด ไม่ควรเก็บเห็ดป่ามาบริโภคเด็ดขาด เพราะการจำแนกเห็ดจะดูลำพังเพียงหมวกหรือสีไม่ได้ ต้องดูเห็ดครบทุกลักษณะ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และควรเลี่ยงการเก็บเห็ดที่โดนฝนชะโดยตรงซึ่งอาจจชะเอาเกล็ดบนหมวกของเห็ดให้หลุดไปหรือทำให้ลักษณะบางอย่างของเห็ดเปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญก่อนเก็บเห็ดหรือก่อนปรุงอาหารต้องพิจารณาเห็ดทุกดอกอย่างรอบคอบ เพราะเห็ดที่มีพิษเพียงดอกเดียวทำให้เกิดที่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ส่วนประชาชนทั่วไปควรเลือกซื้อเห็ดกับร้านค้าที่เชื่อถือได้ เลือกเห็ดที่สด และควรบริโภคทันที ไม่ควรเก็บเห็ดไว้นานเพราะอาจมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย”

          อย่างไรก็ดี ‘เห็ด’ ถือเป็นอาหารท้องถิ่นที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นควรบริโภคเห็ดอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เห็ดเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษคร่าชีวิต

 

About Author