เรียบเรียงโดย
ปริทัศน์ เทียนทอง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เมื่อ NASA เตรียมส่งนักบินอวกาศเดินทางสำรวจอวกาศด้วยระยะทางที่ไกลจากโลกมากกว่าที่เคย ทาง NASA เองจึงมีเป้าหมายที่จะยกระดับการผลิตแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตที่สำคัญ นั่นคือ “อาหาร”
การใช้เทคโนโลยีในการผลิตอาหารเพื่อนักบินอวกาศในอนาคต สิ่งที่ต้องใส่ใจก็คือ คุณค่าทางโภชนาการ ความอร่อย และความรู้สึกพึงพอใจ ในภารกิจอวกาศที่มีระยะเวลายาวนาน จะช่วยทำให้พวกเขามีพลังงานที่จำเป็นในการค้นพบอันยิ่งใหญ่ต่อสิ่งที่มนุษย์ยังไม่เคยรู้จักมาก่อนในห้วงอวกาศ
NASA ได้ทำงานร่วมกับ Canadian Space Agency (องค์การอวกาศแคนาดา) เชิญชวนให้ผู้คนทั่วโลกได้ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีหรือระบบการผลิตอาหารที่เป็นนวัตกรรมและมีความยั่งยืน โดยต้องการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดและผลิตของเสียให้น้อยที่สุดอีกด้วย ภายใต้การแข่งขันที่เรียกว่า “Deep Space Food Challenge” โดยมีกติกาคือ ให้ทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน ออกแบบ สร้าง และสาธิตต้นแบบของเทคโนโลยีการผลิตอาหาร ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางโภชนาการหรืออาหารที่เป็นจริง
อย่างที่เราทราบกันดีว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานเรื่อยๆ อาหารจะสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการลงไป นั่นหมายความว่าสำหรับภารกิจหลายปีบนดาวอังคาร การนำอาหารสำเร็จรูปมาบรรจุเป็นอาหารอวกาศไม่เหมาะสำหรับการรักษาสุขภาพร่างกายของนักบินอวกาศ นอกจากนี้ ความไม่มั่นคงด้านอาหารยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่สำคัญของโลก ทั้งในชุมชนเมืองและในชนบท
ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการขาดแคลนอาหารย่ำแย่ลงไปอีก ดังนั้นเพื่อให้เกิดทางออกของปัญหานี้ การพัฒนานวัตกรรมขั้นสูงของระบบผลิตอาหารที่มีขนาดกะทัดรัด เช่น การแข่งขัน “Deep Space Food Challenge” ของ NASA อาจช่วยให้มีอุปกรณ์ผลิตอาหารใช้ในบ้านหรือชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถปรับใช้ได้อย่างรวดเร็วหลังเกิดภัยพิบัติ
และในตอนนี้ NASA และ Canadian Space Agency ได้ร่วมกันเปิดเฟสที่ 2 ของโครงการแข่งขัน Deep Space Food Challenge โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบการผลิตอาหารแบบใหม่สำหรับภารกิจห้วงอวกาศระยะยาว โดยในการแข่งขันเฟสที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ทาง NASA ได้มอบเงินรางวัลให้กับทีมที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 18 ทีม รวมเป็นเงิน 450,000 เหรียญสหรัฐฯ (เฉพาะทีมที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ) สำหรับสนับสนุนแนวคิดด้านเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ใช้ผลิตอาหารที่ปลอดภัย ยอมรับได้ ลดการใช้ทรัพยากร มีคุณภาพสูง น่ารับประทาน และมีคุณค่าทางโภชนาการ
นอกจากนี้ทาง NASA และ Canadian Space Agency ยังได้ประกาศยกย่องทีมจากนานาชาติ จำนวน 10 ทีม ที่ผลงานได้ชนะการประกวดในประเภททีมนานาชาติ สามารถดูรายชื่อทั้ง 10 ทีม ได้ที่ลิงก์ https://www.deepspacefoodchallenge.org/winners
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าทีม KEETA จากประเทศไทย ก็เป็น 1 ใน 10 ทีม ที่ได้ชนะการประกวดในประเภททีมนานาชาติของเฟส 1 นี้ด้วย ดังที่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อของไทยเมื่อไม่นานมานี้ สามารถรับชมการสัมภาษณ์ทีม KEETA ได้ที่ลิงก์ https://youtu.be/ovhdsEqzQEQ
NASA ได้เชิญชวนทั้งทีมที่จะสมัครใหม่และทีมจากเฟสที่ 1 เข้าสู่การแข่งขันในเฟสที่ 2 ซึ่งกำหนดให้ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องสร้างและสาธิตเครื่องต้นแบบการผลิตอาหาร โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากสหรัฐอเมริกาสามารถแข่งขันในเฟสที่ 2 เพื่อชิงเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อต่อยอดสู่การผลิตอาหารสำหรับนักบินอวกาศ 4 คน ที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในอวกาศนาน 3 ปี
สำหรับการเปิดรับสมัครในเฟสที่ 2 หมดเขตวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ที่สนใจสามารถสมัครทางออนไลน์ได้ที่ลิงก์ https://www.deepspacefoodchallenge.org/register และร่วมส่งกำลังใจให้กับทีม KEETA จากประเทศไทยในการเข้าร่วมแข่งขันเฟสที่ 2 เพื่อประกาศถึงความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้ชาวโลกได้รับรู้