ม.มหิดล เดินหน้าวิจัยประสิทธิภาพและความปลอดภัย “ยาขับเหล็กสูตรใหม่” เพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เตรียมขยายโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศ

          การส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ประเทศไทยถือเป็นนโยบายแห่งชาติ (national policy) ซึ่งเบื้องหลังของการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว คือ พลังจากนักวิจัย ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การรักษา และบริบททางด้านสังคมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

          เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมถ์ ในฐานะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์” ประจำปี 2565


ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต
อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย และในโลก แม้ปัจจุบันจะมีการคิดค้นวิธีการรักษาให้หายขาดด้วยยีนบำบัด แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียโดยทั่วไปยังไม่อาจเข้าถึงได้ จึงยังจำเป็นต้องเข้ารับการรับเลือด และรับประทาน “ยาขับเหล็ก” อย่างต่อเนื่อง

          นอกจากความทุ่มเททำงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ และพัฒนาการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียอย่างตรงจุดด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ตลอดเวลาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังให้ความสำคัญต่อการทำงานวิจัยที่ครอบคลุมไปถึงบริบทด้านสังคมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนด้วยทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) สหรัฐอเมริกา และสมาคมโลหิตวิทยาสหรัฐอเมริกา

          ซึ่งจากแนวทางการสร้างองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทุกด้าน ทำให้ได้เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชาวไทยได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการทำความเข้าใจในบริบทที่ต้องการศึกษา ผ่านการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Study) ที่ใช้วิธีการศึกษาจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (focus group) และใช้คำถามวิจัย (questionaire) ที่ออกแบบขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการรักษาและสอบถามอาการของผู้ป่วย

          ผลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านชุมชนและสังคม ประจำปี 2565 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มขึ้นอีกรางวัล

          นอกจากการรักษาด้วยยีนบำบัดที่กำลังพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้ได้เข้าถึงต่อไปในอนาคตแล้ว ปัจจุบันผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ยังใช้วิธีการรักษาแบบเดิม ยังจะได้รับยาขับเหล็กสูตรใหม่ “ดีเฟอราซิร็อค” (deferasirox) ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นยารับประทานชนิดเม็ด ราคาถูกกว่ายาเดิมที่เป็นชนิดฉีด

          โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้รับทุนวิจัยจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ องค์การเภสัชกรรม เพื่อทำการวิจัยศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียชาวไทย และจะได้มีการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในต่างประเทศต่อไปอีกด้วย

          “ประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญต่อการทำงานวิจัย เพื่อสามารถพึ่งพาตนเองให้เกิดความยั่งยืน จึงอยากให้มีการส่งเสริมการวิจัยในทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่โอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักทางเศรษฐกิจโลกต่อไปให้ได้มากที่สุด” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต กล่าวทิ้งท้าย

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author