แพทย์หญิงพิมพ์พรรณ พิสุทธิ์ศาล
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
“โรคไข้เลือดออก” เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในหลายๆ ประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งมีการระบาดทุกปี จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้มีฝนตกนอกฤดูกาล ส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค รวมถึงการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น ทำให้เกิดการกระจายโรคข้ามพื้นที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง
ไข้เลือดออกเป็นโรคในเมือง ดังนั้น พี้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้น การแพร่กระจายของโรคจึงมากขึ้นตาม แหล่งเพาะพันธุ์ยุงจะมีทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ยางรถยนต์ จาน ชาม แจกันดอกไม้ ไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย และพบได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้มีกิจกรรมในช่วงกลางวัน เนื่องจากยุงลายจะกัดในเวลากลางวัน และผู้ที่อยู่ใกล้บริเวณแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรืออยู่ในบริเวณที่กำลังมีการระบาดของโรค สถิติในประเทศไทยมักพบว่า ผู้ป่วยสูงสุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 5- 14 ปี และอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25-34 ปี
ลักษณะอาการของผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกค่อนข้างกว้าง ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ๆ หรือบางรายอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อย มีไข้ต่ำๆ 1-2 วันอาการก็จะดีขึ้น หรือบางรายมีไข้สูง เมื่อพบแพทย์ตรวจหาอาการ พบว่าเป็นไข้เลือดออกแล้วหายเองได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งอาจจะมีอาการุนแรง เกิดภาวะช็อค และอาจเสียชีวิตได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป มักจะเป็นผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากไวรัสไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ดังนั้น แต่ละคนจึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งหมด 4 ครั้ง เมื่อเป็น 1 ครั้งแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นๆตลอดชีวิต แต่ยังมีโอกาสเป็นสายพันธุ์อื่น ๆ ที่เหลือได้ ดังนั้น คนที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และมีการติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะพบว่ามีอาการรุนแรงมากกว่าครั้งแรก เนื่องจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น ผู้ที่ติดเชื้อไข้เลือดออกมักจะไม่มีอาการที่จำเพาะต่อการติดเชื้อระบบใดระบบหนึ่งของร่างกาย เช่น ไอ น้ำมูก มีเสมหะ ท้องเสีย ปัสสาวะขัด แต่มักจะเป็นอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น ไข้สูงลอย หนาว ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร บ่อยครั้งอาจมีผื่นแดงร่วมด้วยได้ เป็นต้น
การรักษาโรคไข้เลือดออกจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ และสามารถรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้ ที่สำคัญคืออาการไข้สูงลอย ที่กินยาลดไข้แต่ไข้ไม่ค่อยลง มักเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ต้องอาศัยการเช็ดตัวและอาบน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายด้วย โดยเฉพาะเด็กเล็ก อาจเกิดภาวะชักจากไข้สูงได้ ผู้ป่วยต้องรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอ นอกจากผู้ป่วยจะรับประทานได้น้อยแล้ว ร่างกายยังสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากการที่มีอุณหภูมิสูง รวมถึงสูญเสียน้ำออกจากหลอดเลือดจากกลไกของการติดเชื้อไข้เลือดออกเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ และทำให้เกิดภาวะช็อคได้ การดื่มน้ำผสมเกลือแร่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญ นอกจากนั้นแล้วการติดเชื้อไข้เลือดออกยังทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายลดลงจากกลไกต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข็งตัวของเลือด เกล็ดเลือดที่ลดต่ำลงอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หยุดยากขึ้น หรือมีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ จึงควรมีการเฝ้าระวัง เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในทางเดินอาหาร อาเจียนมีเลือดปน เลือดออกในทางเดินหายใจ ไอเสมหะมีเลือดปน หรือเลือดออกในอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น ช่องท้อง หรือในสมอง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออก และหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร หรือยาแก้ปวดรุนแรงในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นต้น เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ หากผู้ติดเชื้อรายใดมีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง หรือ มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจจะพิจารณาให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวัง หรืออาจให้สารน้ำหรือส่วนประกอบของเลือดทางหลอดเลือดดำ
โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) ในประเทศไทย กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าในปี 2567 อาจจะพบผู้ป่วยมากขึ้นกว่า 2.7 แสนราย โดยมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 3 เท่าตัว การกำจัดโรคให้หมดไปอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็น ได้แก่ การกำจัดยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคได้กำหนดไว้ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน อย่าให้มีมุมอับ หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงเกาะในบ้านได้ เก็บขยะ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ เก็บน้ำ ปิดฝา หรือเทน้ำทิ้งไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เมื่อพบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการพ่นยาเพื่อกำจัดยุง วิธีป้องกันอีกทาง คือ ควรป้องกันการถูกยุงกัด โดยใช้ยาทากันยุงซึ่งมีให้เลือกทั้งชนิดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีหรือสารจากธรรมชาติ เพื่อป้องกันการถูกยุงกัดโดยเฉพาะในเวลากลางวัน หากอยู่ในบ้านควรมีมุ้งกันยุง และมุ้งลวดป้องกันให้เรียบร้อย และในปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ที่สามารถช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงหรือความรุนแรงในการติดเชื้อ เพียงเท่านี้ ก็จะห่างไกลจาก “โรคไข้เลือดออก”