ความมหัศจรรย์ของชีวิตมนุษย์ เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนคลอดออกมาเป็นทารกวัย 9-12 เดือน เมื่อพบว่ามีภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติโดยอัตโนมัติจากแม่สู่ลูก ผ่านทางรก
ในขณะที่วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่ที่ใช้ฉีดกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน สามารถป้องกันได้เฉพาะในเด็กวัย 9 ขวบขึ้นไปเท่านั้น
จึงทำให้เด็ก ๆ ซึ่งหมดภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติแล้วจากมารดาในกลุ่มช่วงวัย 1-9 ปี ต้องเสี่ยงมากต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษแล้วที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย นักวิจัยของสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) ได้คิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่
โดยเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) และนานาประเทศ จนสามารถทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่ได้ถึง 4 สายพันธุ์ในเข็มเดียวกัน และสามารถฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีได้
โดยทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ยาวนานถึง 5 ปี จนล่าสุดมีบริษัทเอกชนมารับช่วงต่อไป โดยอยู่ระหว่างการทดสอบ และพัฒนาสู่การผลิตให้สามารถใช้ได้จริงอย่างปลอดภัยในวงกว้างทั่วโลก
แม้จะต้องรอคอยยาวนานเพียงใด ก็ไม่เท่าความภาคภูมิใจที่จะได้เห็นคนไทยในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีที่จะสร้างประโยชน์ต่อไปสู่มวลมนุษยชาติ โดยที่คนไทยเองก็จะสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่ในงบประมาณสุขภาพที่จับต้องได้ด้วย
ความยั่งยืนของการพัฒนาวัคซีนอยู่ที่ความสามารถควบคุมไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่ในพื้นที่ระบาดของโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเป็นการมอบโอกาสให้เด็กวัย 1-9 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงที่สุดได้มีโอกาสรอดชีวิต และเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองซึ่งจะกลายเป็นความหวังของโลกแห่งอนาคตได้ต่อไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สุธี ยกส้าน ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้เป็นตำนาน ซึ่งเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จนสามารถป้องกันได้ถึง 4 สายพันธุ์ในเข็มเดียวกันเช่นปัจจุบัน
ข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งนำไปสู่การออกแบบเพื่อการพัฒนาวัคซีนได้อย่างตรงเป้าหมาย นอกจากพบว่าผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่กันบ้างแล้ว ในขณะที่เด็กยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่โดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัด ร้อยละ 80 ไม่มีอาการ ในขณะที่ร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการ
ซึ่งการตรวจภูมิคุ้มกันด้วยวิธีการโดยทั่วไปไม่สามารถใช้ยืนยันผลการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่ได้ 100% จะต้องวิเคราะห์ด้วยวิธีทดสอบความสามารถในการลบล้างฤทธิ์ไวรัสหรือ neutralization test ซึ่งเป็นการตรวจพิเศษในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สุธี ยกส้าน มองว่า เพียงการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ไม่ให้เกิดการแพร่ขยายพันธุ์ของพาหะนำเชื้อโรคไข้เลือดออกเดงกี่ และการรณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด (Mosquito Repellents) นั้นอาจไม่เพียงพอ จะต้องมีการผลักดันให้เกิดการเตรียมพร้อมสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่ในเชิงนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังต่อไปด้วย
อาจารย์ ดร.พร้อมสิน มาศรีนวล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นทิ้งท้ายถึงบทบาทของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนฯ ว่า พร้อมเป็นที่พึ่งให้กับคนไทย และมวลมนุษยชาติ ในการคิดค้น และพัฒนาวัคซีนที่จะเป็นต้นแบบเพื่อการป้องกันโรคในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออกเดงกี่ ไข้ซิกา ตลอดจนโรคไข้สมองอักเสบเจอี
โดยเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ 4 ทศวรรษของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่จนประสบความสำเร็จ สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่ได้ถึง 4 สายพันธุ์ในเข็มเดียวกัน
และอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกคู่ขนานกับการผลักดันสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญสู่การพัฒนาวัคซีนที่จำเป็นเร่งด่วนชนิดอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ และเท่าทันได้ต่อไปในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย
วิไล กสิโสภา
นักวิชาการสารสนเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210