คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลา 56 ปี ปัจจุบันพบปัญหาในการเรียนการสอนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อของมนุษย์ที่วิกฤติ ทั้งในด้านความทันสมัยของอุปกรณ์ เทคโนโลยี และวัสดุชิ้นเนื้อเพื่อการศึกษาที่เสื่อมสภาพ จึงเป็นที่มาในการปรับเปลี่ยนสื่อการสอนให้เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ประกอบกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีผลกระทบในทุกระบบ ทุกหน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานการศึกษาด้วย นักศึกษาไม่สามารถเรียนปฏิบัติการโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ได้ คณะทันตแพทยศาสตร์ จึงมีแนวคิดเพื่อหาระบบอื่นมารองรับ โดยการแปลงจากสไลด์เนื้อเยื่อแก้วให้เป็นภาพดิจิทัลที่ความละเอียดสูงด้วยเครื่องมือเฉพาะทางที่เหมาะสม แล้วนำไฟล์ภาพที่ละเอียดนั้นมาใช้ในการเรียน การสอนและการสอบในรายวิชานี้ ทั้งภายในห้องปฏิบัติการเอง โดยจัดเก็บไว้ในส่วนที่หน่วยความจำถาวร Server (เซิร์ฟเวอร์) สำหรับนักศึกษาสามารถที่จะเข้ามาศึกษาภาพดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ตามแบบบทเรียนที่ผู้สอนได้ทำเป็นแบบทบทวนไว้ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานจิตต์ ชุณหบัณฑิต คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการดิจิทัลสำหรับจุลกายวิภาคศาสตร์และจุลพยาธิวิทยา ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อปรกติของมนุษย์ อันนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพื่อทราบถึงสาเหตุกลไก การเกิด การเปลี่ยนแปลง ลักษณะพยาธิสภาพ ตลอดจนพยากรณ์โรคต่อไป ที่ต้องอาศัยหลักการศึกษาแผ่นเนื้อเยื่อผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งรายวิชานี้มิได้มีแต่คณะทันตแพทยศาสตร์เท่านั้น นักศึกษาแพทย์ปี 2 ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ต้องศึกษาวิชานี้เช่นกัน รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทยอีกด้วย
ห้องปฏิบัติการนี้มีส่วนอำนวยความสะดวกเพื่อการสร้างภาพดิจิทัลทางจุลกายวิภาคศาสตร์ (Histology Digital Imaging Facilities) ประกอบด้วย เครื่องสแกนสไลด์เสมือนจริงแบบดิจิทัล (Slide Scanner) ทำหน้าที่สแกนเก็บภาพจากสไลด์เนื้อเยื่อแก้วด้วยความละเอียดภาพสูง เพื่อเก็บไว้ในคลังภาพดิจิทัล (Net image server) ระบบเครือข่ายดิจิทัลแบบสาย (LAN) ที่นำส่งสัญญาณภาพระหว่างเครื่องสแกนสไลด์เสมือนจริงแบบดิจิทัลกับคลังภาพดิจิทัลและเครื่องคอมพิวเตอร์เครือข่ายสำหรับนักศึกษา จำนวน 36 เครื่อง นักศึกษาสามารถศึกษาจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นการใช้เทคโนโลยีที่เป็นรูปแบบดิจิทัลโดยสมบูรณ์ โดยการนำภาพอนาล็อกเนื้อเยื่อของมนุษย์เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์มาแปลงเป็นภาพดิจิทัล ด้วยสมรรถนะของเครื่องสแกนสไลด์ที่มีคุณภาพความละเอียดสูงสุด 4k x 4k โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ สไลด์ของเนื้อเยื่อที่มีความหนามากนั้น หากดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะโฟกัสได้เฉพาะบางความหนาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น สไลด์ที่มีความหนาจะดูภาพโฟกัสภาพที่ผิว หากภาพที่ลึกลงไปหรืออยู่เกินช่วงระยะชัดก็จะไม่สามารถโฟกัสได้ เครื่องสแกนสไลด์เสมือนจริงแบบดิจิทัล (Slide Scanner) สามารถสแกนสไลด์ที่มีความหนาเป็นระนาบแคบ ๆ แล้วนำระนาบเหล่านั้นมาซ้อนรวมกันเป็นภาพแผ่นเดียว ภาพที่ได้จึงมีความคมชัดในทุกระนาบ นอกจากนี้เครื่องสแกนสไลด์เสมือนจริงแบบดิจิทัล (Slide Scanner) ยังเอื้ออำนวยและช่วยส่งเสริมงานวิจัยให้กับนักวิจัย สามารถสแกนภาพสไลด์ที่ใช้เทคนิคการย้อมสีฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งในหลายงานวิจัยต้องใช้เทคนิคนี้ เช่น สไลด์เซลล์ที่ย้อมสีฟลูออเรสเซนต์มาสแกนได้ โดยไฟล์ภาพที่ได้สามารถนำไปใช้งานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร โปสเตอร์ แผ่นพับ เป็นต้น โดยการย่อภาพ ขยายภาพจะให้ภาพที่คมชัด ทำให้ใช้ในการนำเสนองานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการฯ ยังเปิดให้หน่วยงานที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน จำนวนไม่เกิน 120 คน หรือหน่วยงานที่ได้มีความร่วมมือ ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันที่บริการทางการแพทย์ หรือสามารถดาวน์โหลดภาพเพื่อไปใช้ในการเรียนการสอน เพื่อการวิจัย โดยไม่ต้องเดินทางมาที่คณะฯ ในอนาคต หากมีภาวะฉุกเฉินที่ไม่สามารถเปิดห้องปฏิบัติการได้สามารถทำแบบทดสอบให้กับนักศึกษา โดยที่นักศึกษาไม่ต้องเข้ามาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาสามารถทำแบบทดสอบได้ด้วยตนเอง และแจ้งผลสอบได้ทันที
ห้องปฏิบัติการดิจิทัลสำหรับจุลกายวิภาคศาสตร์และจุลพยาธิวิทยา โดยภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายที่จะเป็นแหล่งรวบรวมของภาพดิจิทัลเนื้อเยื่อของมนุษย์ขนาดใหญ่ เป็นศูนย์รวมที่หลายหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย การประชาสัมพันธ์ หรือทางด้านสาธารณสุขในการให้ความรู้และประโยชน์แก่ประชาชน ถือได้ว่าเป็น Big Data ทางด้านเนื้อเยื่อของมนุษย์ในภาพดิจิทัล และนับเป็นห้องปฏิบัติการทางจุลกายวิภาคศาสตร์และจุลพยาธิวิทยารูปแบบดิจิทัลโดยสมบูรณ์ในคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย