ใช้ประโยชน์ ‘ต้นคลุ้ม’ ให้คุ้มค่า เสริมจุดเด่น ‘ถาดพลาสติกชีวภาพ’

เรื่องโดย วัชราภรณ์ สนทนา


เส้นใยคลุ้มช่วยถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังทนความร้อน

          ต้นคลุ้ม (Donax canniformis) พืชล้มลุกที่พบมากทางภาคใต้ ทั้งในสวนยางพาราและป่าเขา โดยเฉพาะในจังหวัดสตูล ต้นคลุ้ม 1 ต้น ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการนำต้นคลุ้มมาลอกเปลือกด้านนอกของลำต้นออก ซึ่งมีความเหนียวและแข็งแรงเพื่อนำไปทำเครื่องจักสานทั้งฝาชี ตะกร้าต่าง ๆ ทว่าเส้นใยนิ่มอีกครึ่งหนึ่งที่อยู่ภายในของต้นคลุ้มต้องนำไปกำจัดทิ้งซึ่งเป็นปัญหาในการกำจัดของเสียในชุมชนมายาวนาน ทีมวิจัย ซึ่งนำโดย รศ. ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์ จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ (วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงคิดหาวิธีใช้ประโยชน์จากเส้นใยนิ่มภายในต้นคลุ้ม ให้เกิดความคุ้มค่า ตามแนวทางขยะเหลือศูนย์ โดยโครงการนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช. ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงแนวคิดลดขยะเป็นศูนย์


รศ. ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์

        “ทีมวิจัยได้รับโจทย์จาก สวทช. ให้ช่วยเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือทิ้งจากต้นคลุ้ม จึงนำเส้นใยคลุ้มที่เหลือทิ้งมาล้าง อบแห้ง และนำมาปั่นได้เป็น ‘ผงเส้นใยคลุ้ม’ โดยผงเส้นใยคลุ้มที่เตรียมได้มีจุดเด่นคือทนความร้อนได้ 302 องศาเซลเซียส และหากนำมาฟอกสีให้มีสีขาวจะทนความร้อนได้สูงขึ้นเป็น 358 องศาเซลเซียส ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทนความร้อนได้ดี จึงสนใจประยุกต์ใช้เป็นสารตัวเติมสำหรับปรับปรุงสมบัติของถาดโฟมจากแป้งมันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ต้นแบบถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังผสมวัสดุเหลือใช้จากเส้นใยคลุ้ม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล จังหวัดสตูล สามารถนำมาใช้แทนถาดโฟมพอลิสไตรีนที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานหลายร้อยปีและยังเป็นพิษกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม”

เปลือกเมล็ดยางพาราเสริมแกร่ง ผักตบชวาเพิ่มสมบัติทนน้ำ

          รศ. ดร.แก้วตาอธิบายต่อว่า นอกจากนี้ทีมวิจัยยังใช้ประโยชน์ของเปลือกลูกยาง (เปลือกเมล็ดยางพารา) ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งในสวนยาง โดยนักศึกษาในทีมวิจัยพบว่าเปลือกเมล็ดยางพารามีความแข็งแรง จึงนำมาตัด ปั่น แยกให้มีขนาดเล็กเท่า ๆ กัน และนำมาบดให้เป็นผงแห้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสารตัวเติมสำหรับถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง พบว่าเมื่อผสมผงเปลือกเมล็ดยางพารา ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังมีค่าความแข็งแรงสูงขึ้น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับถาดโฟมจากแป้งที่ไม่ผสมสารตัวเติม และไม่มีความเป็นพิษสามารถนำไปเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารได้ ทีมวิจัยยังประสบความสำเร็จโดยเลือกใช้เปลือกไข่และเปลือกกุ้ง ที่เป็นแหล่งแคลเซียมที่ได้จากธรรมชาติ (bio-calcium) มาแปรรูปเป็นผง และทำหน้าที่เป็นสารตัวเติมผสมกับถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง เพื่อปรับปรุงค่าความต้านทานต่อแรงกระแทกของถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง


  เมล็ดยางพารา

          นอกจากนั้นแล้วอีกโจทย์ที่ท้าทายทีมวิจัยมาตลอดคือ การทนน้ำ จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าพัฒนาหาวัสดุเหลือทิ้งมาเสริมจุดเด่นนวัตกรรมให้ตอบโจทย์นี้มากขึ้น โดยทีมวิจัยนำสารตัวเติมจากผงผักตบชวา มาช่วยเสริมจุดเด่นด้านการทนน้ำ ทำให้ถาดโฟมแป้งมันสำปะหลังสามารถรักษารูปทรงได้ดีเมื่อสัมผัสกับน้ำ นำมาบรรจุผลไม้ตัดแต่งที่มีน้ำเยอะ ทั้งแตงโม ส้มโอ และสับปะรดได้เป็นอย่างดี

เพิ่มรายได้ชุมชน ลดของเสียเป็นศูนย์

          ด้านนางสาวอรุณี เกาะกลาง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล กล่าวว่า กลุ่มฯ ได้ดำเนินการผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้มเป็นเครื่องจักสานทั้งฝาชี ตะกร้า โคมไฟ สร้างรายได้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ส่วนไส้ต้นคลุ้มที่เหลือทิ้งใช้ประโยชน์เพียงนำไปทิ้งใต้ต้นไม้ผล เช่น มะม่วงเพื่อให้เป็นปุ๋ยบำรุงไม้ผลเท่านั้น กระทั่งปีที่ผ่านมาทีมวิจัยได้เข้ามาศึกษาทดลองนำไส้ของต้นคลุ้มไปแปรรูปผ่านกระบวนการวิจัยเป็น ‘ผงเส้นใยคลุ้ม’ เพื่อเป็นส่วนผสมของต้นแบบถาดโฟมแป้งมันสำปะหลัง ทำให้สมาชิกเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีในการต่อยอดใช้ประโยชน์จากต้นคลุ้ม เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือทิ้งในอนาคต ขณะเดียวกันกลุ่มฯ ยังมีแนวคิดนำองค์ความรู้จากทีมวิจัยมาใช้ประโยชน์ทำเป็นกล่องกระดาษทิชชูและกรอบรูปจากวัสดุต้นคลุ้ม ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมในการใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          จะเห็นได้ว่าพลาสติกชีวภาพที่ได้จากการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์นั้นช่วยลดปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เศษวัสดุเหลือทิ้ง นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ลดภาระให้ภาครัฐและอุตสาหกรรมในการกำจัดขยะได้อีกด้วย

About Author