กินเกลี้ยงจาน ลดขยะอาหาร ลดโลกร้อน

เรื่องโดย อนุชิต กงซุย


การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศโดยเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้องค์ประกอบของอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นซด์และเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงยากต่อการคาดการณ์ พืชและสัตว์น้อยใหญ่ รวมทั้งมนุษย์ต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลายปีที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหลายด้าน เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยอากาศสูงขึ้น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ไฟป่า ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งการเพิ่มขึ้นของประชากรศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรในวงกว้าง ถึงเวลาหรือยังที่เราทุกคนจะต้องร่วมด้วยช่วยกันปกป้องบ้านของเรา หยุดวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกัน

การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับครูและแวดวงการศึกษาเช่นกัน โดยเฉพาะการออกแบบกระบวนการและสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก ซึ่ง STEM Education เป็นหนึ่งในแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นบูรณาการกลุ่มวิชาโดยไม่แยกส่วน มีทั้ง 4 มิติ ได้แก่  วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผสมผสานกันเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ได้ลงมือทำ ควบคู่กับการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหา สืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ ๆ และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างลงตัวและแยบยล

ในปีการศึกษา 1/2567 นี้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ “ทานหมดลดโลกร้อน (Done all Dishes)” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทุกคนมองข้ามคือ ขยะอาหาร (food waste) หลายคนไม่เคยรู้เลยว่ากิจกรรมประจำวันเหล่านี้คือต้นเหตุของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมที่ไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ทานหมดลดโลกร้อนเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในการลดขยะอาหาร ศึกษาศักยภาพการผลิตแก๊สชีวภาพจากขยะอาหาร และคำนวณปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหาร (carbon footprint) โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

เก็บข้อมูลปริมาณขยะอาหาร นักเรียนดำเนินการเก็บขยะอาหารแบบเปียกแยกน้ำแล้วนำไปชั่ง บักทึกข้อมูลปริมาณขยะอาหาร เป็นเวลา 10 วัน ก่อนและหลังกิจกรรมรณรงค์

เก็บข้อมูลปริมาณขยะอาหาร


ปริมาณขยะอาหารเเบบเปียกเเยกน้ำ ขยะอาหารก่อนรณรงค์ (21.29 กิโลกรัม/วัน) เเละขยะอาหารหลังรณรงค์ (19.44 กิโลกรัม/วัน)

คำนวณค่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 emission) หลังจากได้ข้อมูลจากปริมาณขยะอาหารแล้ว นักเรียนคำนวณค่าการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้จากปริมาณขยะอาหาร (activity data) คูณกับค่าคงที่ (emission factor) โดยที่ปริมาณการปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหารมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 27.682 KgCO2e ต่อวัน เเละหลังกิจกรรมรณรงค์ ปริมาณการปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากขยะอาหารมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 25.274 KgCO2e ต่อวัน ซึ่งลดลงถึง 2.408 KgCO2e ต่อวัน อย่างไรก็ตามปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงนั้นอาจเนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ประเภทของอาหาร จำนวนนักเรียน ช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน

คำนวณปริมาณการปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

การวัดค่าศักยภาพการผลิตแก๊สชีวภาพ (biogas potential) เป็นแนวทางการกำจัดขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพที่มีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับการทำปุ๋ยและฝังกลบ โดยการนำขยะอาหารหมักในสภาพไร้ออกซิเจนเป็นเวลา 12 ชั่วโมง พบว่าปริมาณเเก๊สเฉลี่ยเท่ากับ 91.67 มิลลิลิตร

การวัดศักยภาพการผลิตเเก๊สชีวภาพ

กิจกรรมรณรงค์ Carbon Credit Card เป็นกิจกรรมการเรียนรู้คาร์บอนเครดิต ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเเก๊สเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม สามารถวัดปริมาณและซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนทุกคนมีส่วนร่วม โดยการสะสมเเต้มเมื่อรับประทานอาหารหมดครบ 5 ครั้ง จะได้รับสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล

กิจกรรมรณรงค์ Carbon Credit Card

การดำเนินกิจกรรมทำให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้นผ่านกระบวนการศึกษาและนำเสนอข้อมูลแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การตระหนักรู้ร่วมกันที่จะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเหลือ เป็นการปลูกฝังและแก้ปัญหาที่ยั่งยืนปฏิบัติได้จริงสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยังยืน (SDGs) ข้อที่ 4 การศึกษาที่ยั่งยืน และข้อที่ 13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นอีกด้วย การออกแบบกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากสถานการณ์ปัญหาที่นักเรียนกำลังเผชิญอยู่จริง ทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ มีบริบทที่ร่วมสมัย และนักเรียนได้สืบเสาะหาคำตอบอย่างกระตือรือร้นด้วยตนเอง จนนำไปสู่ 1 ใน 3 กิจกรรมที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวด GLOBE Climate Change Learning Activities in School 2024 ในนามทีมคาร์บอนออนซอน จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

กิจกรรมนี้เป็นเพียงแนวทางที่ผู้เขียนอยากนำเสนอต่อสาธารณะ เป็นแนวคิดให้แก่ครูหรือผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเอง หรือออกแบบกิจกกรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างพลังขับเคลื่อนการศึกษาด้วยบริบทในชีวิตจริงต่อไป การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เริ่มต้นจากตัวเรา จากเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ อาจจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยโลกให้รอดพ้นจากวิกฤตภาวะโลกร้อนได้

About Author