ม.มหิดล ชี้ปัญหาติดเชื้อดื้อยาในหญิงตั้งครรภ์ ชี้ชะตาทารกแรกเกิด

          หากเราปล่อยชีวิตให้ผ่านไป โดยที่ไม่ได้มองว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง ก็จะไม่ทันสังเกตเลยว่า ที่ผ่านมามีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่ยาปฏิชีวนะที่ใช้ต้านเชื้อจุลชีพ ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิต ที่ออกฤทธิ์ได้อย่างตรงจุด ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่สมาร์ทโฟนออกใหม่รุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่แทบไม่มีใครสนใจจะนึกถึงลมหายใจสุดท้ายในห้องไอซียูที่แทบทุกคนจะต้องมาจบชีวิตกันอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะเหตุผลง่ายๆ ว่า “ติดเชื้อดื้อยา”

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วงการแพทย์ในปัจจุบันได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิด (Immune Priming) ซึ่งสร้างขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในตัวทารกตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดานั้น มีความสัมพันธ์กับโรคที่อาจเกิดขึ้นกับตัวทารกเองได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างคาดไม่ถึงกับมวลมนุษยชาติตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

          แม้ข้อมูลจะมีรายงานออกมายังไม่แน่ชัด แต่ก็มีการศึกษาอยู่พอสมควรในทารกที่คลอดออกมาแล้วพบว่าแบคทีเรียที่พบในลำไส้มีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคลำไส้อักเสบ โรคทางระบบประสาท โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อดื้อยาตั้งแต่ทารกยังเป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์มารดาได้ และรวมถึงมารดาของทารกเองด้วย

          อย่างไรก็ดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชนเมธ เตชะแสนศิริ ได้กล่าวต่อไปว่า การใช้ยาปฏิชีวะในหญิงตั้งครรภ์อาจทำได้ในบางกรณี เช่น เพื่อการรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ หรือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในทารกแรกเกิด ซึ่งหากแพทย์ไม่ตัดสินใจให้ใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดที่ปลอดภัยต่อการรักษาอาจส่งผลให้มารดา และทารกป่วย และเสียชีวิตลงได้

          โดยปัจจุบันพบว่า ปัญหาติดเชื้อดื้อยาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและได้รับยาปฏิชีวนะเท่านั้น แต่ปัญหาเชื้อดื้อยายังส่งผลกระทบต่อประชากรในกลุ่มอื่นๆ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย

          และยิ่งปัจจุบันอัตราการป่วยด้วยโรคเรื้อรังของประชากรโลกมีสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และยากดภูมิ ซึ่งอาจส่งผลต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อดื้อยาที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตได้ในที่สุด

          “ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาใส่ใจเรื่องปัญหาการติดเชื้อดื้อยากันอย่างจริงจัง จากการรณรงค์ให้มีการใช้ยากันอย่างสมเหตุสมผล แม้จะต้องรอให้มีการพัฒนายาใหม่ที่จะมาแก้ไขปัญหาการติดเชื้อดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกยาวนานเพียงใดก็ตาม เชื่อว่าทุกคนสามารถช่วยชะลอและลดปัญหาการติดเชื้อดื้อยาไม่ให้เกิดเพิ่มขึ้นได้ จากการเริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวเอง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชนเมธ เตชะแสนศิริ กล่าวทิ้งท้าย

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

ออกแบบแบนเนอร์โดย
วรรณพร ยังศิริ นักวิชาการสารสนเทศ

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author