ไวรัสมหาภัย อีโบลา

โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
แปลจากเรื่อง Ebola virus disease
ที่มา : https://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs103/en/


 

ข้อเท็จจริงหลัก

  • โรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease, EVD) เดิมรู้จักกันในชื่อ โรคไข้เลือดออกอีโบลา (Ebola haemorrhagic fever) เป็นโรคร้ายแรงที่มักทำให้เสียชีวิต
  • การระบาดของ EVD มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงถึง 90%
  • การระบาดของ EVD โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหมู่บ้านห่างไกลแถบแอฟริกากลางและตะวันตก ใกล้กับพื้นที่ป่าเขตร้อน
  • ไวรัสส่งผ่านจากสัตว์ป่าไปยังคนและแพร่กระจายในกลุ่มประชากรผ่านการถ่ายทอดให้กันโดยคน
  • ค้างคาวผลไม้ในสกุล Pteropodidaeเป็นสัตว์ฟักตัวหลักของไวรัสอีโบลา
  • ผู้ป่วยหนักต้องการการดูแลรักษาอย่างเข้มงวด ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาแบบจำเพาะที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในคนหรือสัตว์

          อีโบลาระบาดครั้งแรกในปี 1976 พร้อมๆ กันสองแห่งคือ ในเมือง Nzara ประเทศซูดาน และในเมือง Yambuku ประเทศคองโก ในกรณีหลังเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอีโบลา (Ebola River) ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของโรคนี้ในที่สุด

การแพร่กระจายของโรค

          อีโบลาติดต่อได้จากการสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือของเหลวแบบอื่นๆ จากสัตว์ที่ติดเชื้อ

          ในแอฟริกามีหลักฐานว่า การติดเชื้อเกิดจากการเกี่ยวข้องสัมผัสกับชิมแปนซี กอริลล่า ค้างคาวผลไม้ ลิง แอนทีโลปป่า (forest antelope) และเม่น ซึ่งป่วยหรือตาย หรืออยู่ในป่าฝน

          อีโบลาแพร่กระจายเข้าชุมชนผ่านการติดต่อจากคนสู่คน โดยการติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสโดยตรง (ผ่านผิวหนังที่ถลอกหรือผ่านเยื่อบุ) กับเลือด สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวอื่นๆ จากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และผ่านการสัมผัสทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนของเหลวเหล่านั้น

สัญญาณหรืออาการป่วย

          เชื้อไวรัสอีโบลาก่อโรคแบบเฉียบพลันและรุนแรง ซึ่งบ่อยครั้งพิจารณาได้จากการมีไข้อย่างปุบปับ การรู้สึกไม่สบายหรือร่างกายอ่อนแออย่างมาก เจ็บปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว และเจ็บคอหอย ตามมาด้วยการอาเจียน ท้องเสีย เกิดผื่น ไตและตับล้มเหลว และในบางกรณีอาจพบการตกเลือดทั้งภายในและภายนอกร่างกาย การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดลดต่ำลง และมีเอนไซม์ตับเพิ่มมากขึ้น

          ช่วงระยะฟักตัว (ช่วงเวลาหลังจากติดเชื้อไวรัสจนเริ่มมีอาการ) อยู่ที่ 2-21 วัน 

วัคซีนและการรักษา

          ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคไวรัสอีโบลา ส่วนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ มีวัคซีนหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการทดสอบ แต่ยังไม่มีชนิดใดเลยที่พร้อมสำหรับให้ใช้ทางคลินิกได้ ยาชนิดใหม่ๆ ยังอยู่ระหว่างการประเมินผล

          สำหรับผู้ที่ป่วยหนักจะต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยผู้ป่วยมักมีอาการขาดน้ำ และต้องการน้ำ นวมทั้งสารละลายที่มีสารเกลือแร่ ซึ่งอาจให้ผ่านทางปาก หรืออาจให้น้ำเกลือใต้ผิวหนัง

สัตว์เจ้าเรือนของไวรัสอีโบลา


ภาพค้างคาวผลไม้
ที่มาภาพ https://news.bbcimg.co.uk/media/images/73804000/jpg/_73804190_fruitbat3.jpg

          ในแอฟริกา ค้างคาวผลไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุล Hypsignathus monstrosus, Epomops franqueti และ Myonycteris torquata อาจเป็นสัตว์เจ้าเรือนตามธรรมชาติสำหรับไวรัสอีโบลา เนื่องจากพบว่ามีการซ้อนเหลื่อมกันในทางภูมิศาสตร์จากการกระจายตัวของค้างคาวผลไม้กับไวรัสอีโบลา

การลดความเสี่ยงของการติดเชื้ออีโบลาในคน

          การที่ไม่มีวัคซีนและวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพในมนุษย์ ทำให้เกิดความห่วงใยว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการติดเชื้ออีโบลา ดังนั้น มาตรการป้องกันตนเองสำหรับบุคคลถือเป็นวิธีการเดียวที่ช่วยลดการติดเชื้อและการเสียชีวิตในมนุษย์ได้

          ในทวีปแอฟริการะหว่างการระบาดของโรคไวรัสอีโบลา การให้ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยต้องเน้นไปยังปัจจัยบางประการดังนี้

  • การลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อจากสัตว์ป่าสู่คนที่เกิดจากการสัมผัสกับค้างคาวผลไม้ หรือลิง/เอปที่ติดเชื้อ และจากการทานเนื้อสดของสัตว์เหล่านี้ การหยิบจับสัตว์เหล่านี้ควรใช้ถุงมือและชุดอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ที่เหมาะสม ควรปรุงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (เลือดหรือเนื้อ) ให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนการรับประทาน
  • การลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในชุมชน ที่เกิดจากการสัมผัสทางตรงหรืออย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชากของเหลวแบบต่างๆ จากร่างกาย ควรงดเว้นการสัมผัสทางกายภาพอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคอีโบลา และหากต้องดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ควรสวมถุงมือและอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่เหมาะสม และควรล้างมือบ่อยๆ หลังจากไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล เช่นเดียวกับหลังจากที่ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
  • ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาควรให้ข้อมูลของโรคและข้อมูลมาตรการการรับมือและจำกัดการระบาด ซึ่งรวมทั้งการฝังกลบซาก เป็นต้น

บทความจาก นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 17 เดือนสิงหาคม 2557
ดาวน์โหลดฟรี https://oer.learn.in.th/search_detail/result/80728

About Author