โดย ผศ. ดร. ป๋วย อุ่นใจ
ในมุมของอาจารย์มหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบเวลา go online คือการตามส่องมีม (Meme) ที่ นักเรียน นักศึกษาในแต่ละคณะทำ เพราะมันมีความทะเล้น แทะโลม และจิกกัด ที่ผสมผสานกับความสร้างสรรค์เอาไว้อย่างแนบเนียน
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในแทบทุกกลุ่มมีมที่ตามส่องอยู่ คือ การแสดงถึงความผิดหวังแกมไม่พึงพอใจกับการเรียนออนไลน์ และหลังจากที่หลายสถาบันเริ่มออกประกาศเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาดใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ
ไวปานสายฟ้าแลบ แฮชแทกซ์ (Hash-tag) และมีมใหม่ๆ ค่อนขอดนโยบาย “เรียนฟรอมโฮม” ก็ทยอยออกมามากมาย จนขำไม่ทัน (แต่ผู้บริหาร และสื่อสารองค์กรของหลายๆ สถาบันอาจจะขำไม่ออก)
แน่นอน การเรียนที่มหาวิทยาลัยกับการเรียนออนไลน์ มันมีความฟินต่างกัน การได้เจอหน้า เจอตา ได้เม้า ได้ทำงานเป็นกลุ่ม แน่นอนว่าต้องสนุกกว่าการเรียนหน้าจอเป็นแน่แท้
การเรียนคือการลงทุน หลายคนยอมจ่ายค่าเทอมแพงๆ เพื่อจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ สภาพแวดล้อมแบบ world class และได้รับความรู้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่ที่จ่ายไปจะคุ้มหรือไม่ในกรณีของหลักสูตรที่มีค่าเล่าเรียนแพงอักโข เพราะตอนนี้ สภาพแวดล้อมดีๆ มีแค่ที่บ้าน เจอเพื่อนและอาจารย์กันได้ตามหน้าจอ
และนั่นทำให้เกิดสำนวนชวน “ยี้” ประจำปีของ นักเรียน นักศึกษา และนั่นก็คือ “เรียนออนไลน์”
ครูอาจารย์ก็กระอัก และเกิดอาการเซ็งไม่ต่างไปจากนักศึกษา แต่ทำอย่างไรได้ สถานการณ์มันบังคับ the show must go on ก็ต้องลุยไป ตามที่จะทำได้
แนวคิดเรื่องการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นมานานแล้ว หลายแพลตฟอร์มถูกสร้างขึ้นมา ทั้ง EdX Coursera และอื่นๆ อีกมากมาย ที่อัดแน่นไปด้วยคอร์สที่น่าสนใจเต็มไปหมด ให้เราไปนั่งเรียนเพื่อเพิ่มพูนภูมิรู้แล้วยังได้ใบประกาศนียบัตรมาประดับติดฝาบ้านไว้เชยชมเล่น
และกลายเป็น trend ที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศเริ่มหันมาสนใจ กันมากขึ้นตั้งแต่เริ่มทศวรรษ 2560s เห็นได้จากจำนวนมูค (MOOC – Massive Open Online Course) และ สป๊อค (SPOC – Small Private Online Course) สัญชาติไทยที่เพิ่มขึ้นในโลกออนไลน์กันอย่างเห็นได้ชัด
แต่การผลักดันการเปลี่ยนผ่าน (transformation) ไปสู่ยุคออนไลน์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย มูค และ สป๊อค กลายเป็นถ้อยคำที่ครูอาจารย์หลายคนได้ยินก็ท้องอืดท้องเฟ้อ เพราะมันคือการดีดตัวเองออกมาจากคอมฟอร์ตโซนครั้งใหญ่ โดยที่ไม่มีอะไรพร้อม
แต่โลกก้าวไปข้างหน้า ถ้าเรานิ่งอยู่กับที่ ทั้งโลกนี้ คงเหลือแต่เรานี่แหละ ที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง
การเปลี่ยนผ่านจึงต้องมี (แม้จะช้าๆ เตาะแตะ และค่อยๆ แก้ปัญหาไประหว่างทางก็ตาม)
และแล้ว ช่วงขึ้นปีใหม่ 2563 โควิด-19 ก็อุบัติขึ้นมา กลายเป็นการระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายติดไปแล้วเฉียดเก้าสิบล้าน และยังไปต่อแบบไม่รู้จะหยุดตรงไหน และยังคร่าชีวิตคนไปแล้วอีกนับล้านทั่วโลก
เรื่องราวของโควิด ทำให้ผมนึกถึงคอนเซปต์สุดคลาสสิคจากทฤษฎี Punctuated equilibria ของ ไนลส์ เอลเดรดจ์ (Niles Eldredge) และสตีเฟน เจย์ กูลด์ Stephen Jay Gould สองนักบรรพชีวินวิทยาชื่อดัง ที่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน จะทำให้เกิดการพลิกผันที่ยิ่งใหญ่”
แนวคิดนี้นอกจากจะเอามาใช้อธิบายทฤษฎีของการเกิดสปีชีส์ใหม่ที่หลากหลายต่อยอดแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกการสืบพันธุ์ (Reproductive isolation) และคอนเซปต์สปีชีส์ในเชิงชีวภาพ (biological species concept) ของแอนสท์ แมยร์ (Ernst Mayr) ได้เป็นอย่างดีแล้ว นักวิชาการสายสังคม แฟรงก์ บอมการ์ตเนอร์ (Frank Baumgartner) และ ไบรอัน โจนส์ (Brian Jones) ยังเอาไปพัฒนาต่อและนำเสนอเป็นทฤษฎี Punctuated Equilibrium เพื่อใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือแบบเฉียบพลันในเชิงนโยบายได้อีกด้วย
เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน ก็ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายในสังคมที่สลับซับซ้อนได้ไม่ต่างจากระบบทางชีววิทยา
และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เกิดขึ้นอย่างทั้งฉับพลันและหนักหน่วงจนสังคมมนุษย์รวนไปทั้งระบบ แทบทุกประเทศไปต่อไม่ถูก
ถ้าเป็นเซียนมวยคงเรียก “หมัดสั่ง” เปรี้ยงเดียว แทบล้มทั้งยืน
หลังจากโดนไปเปรี้ยงใหญ่ เพื่อความอยู่รอด การลุกยืนขึ้นใหม่จึงต้องว่องไว และต้องตอบโจทย์
การเปลี่ยนผ่านแบบเตาะแตะ จึงไม่ทันใช้ เพราะชีวิตวิถีใหม่ ต้องเกิดขึ้น ณ บัดนั้น
วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มัล (New normal) จึงเกิดขึ้นมา การเรียนออนไลน์แบบเก๋ๆ จึงต้องรีบมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
แต่การเปลี่ยนแปลงที่ไวเกินไป มันทำให้ทุกอย่างยิ่งรวน เพราะไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเอามาสอนออนไลน์ได้ และที่ชัดเจนที่สุด ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมเรียนออนไลน์
และนี่คือบทพิสูจน์ครั้งยิ่งใหญ่ของวงการการศึกษาว่าในการสร้างการเปลี่ยนผ่านจากยุคห้องเรียน กระดาษ และกระดานดำไปเป็นยุคดิจิตัล ที่ชีวิตติดอยู่บนเมฆ (cloud) จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้มีประสิทธิภาพ
และที่สำคัญ “เท่าเทียม-ไม่เหลื่อมล้ำ”
หน้าบทบรรณาธิการของวารสาร nature บนเว็บ ลงวันที่ 23 กย 2563 พาดหัวไว้อย่างชัดเจน เทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ไม่ใช่จะสักแต่ว่าทำให้ผู้ที่สามารถจ่ายได้!
เพราะการขาดแคลนอุปกรณ์ที่เหมาะสม คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้อย่างคาดไม่ถึง
บทบรรณาธิการจากเว็บไซต์วารสาร nature ที่กล่าวถึงการเรียนออนไลน์และความเหลื่อมล้ำ
จินตนาการว่า เวลาเรียนออนไลน์ บ้านไหนมีออกจอใหญ่ๆ ได้ ก็ดูกันสบายใจ ไร้กังวล
มีแค่แลบทอป ไอแพดก็ยังพอได้ ดูไปแบบชิลล์ๆ เห็นและอ่านตัวหนังสือได้แบบไม่ต้องเพ่งมาก
แต่สำหรับคนที่มีแต่โทรศัพท์มือถือก็อาจจะต้องทำใจเรียนแบบย้อนไปย้อนมา หลายครั้งหลายรอบสักหน่อย เพราะนอกจากจะฟังไม่ค่อยทันแล้ว มือนึงคงต้องถือแว่นขยายไว้ส่องเวลาเจอสไลด์ที่มีตัวอักษรตัวเล็กๆ อีก
บางบ้านก็มีมุมส่วนตัวดีๆ ให้นั่งเรียน เน็ตดี ห้าจี (5G) เรียกป๊ะป๋า อันนั้นก็ดีไป แต่สำหรับบางบ้านที่หน้าบ้านเปิดเป็นร้านขายของ เรียนไป ขายของหน้าร้านไป อันนั้นก็อาจจะเหนื่อยๆ งงๆ หน่อย
แต่อย่างน้อย ก็ยังมีข้อดี คือดูไม่ทันก็ย้อนได้ ถ้าอาจารย์อัดให้ หรือให้อัด
แต่ที่ชัดเจนว่า การเรียนออนไลน์ หรือที่นักศึกษาหลายๆ คนนิยามว่าเป็นการเรียนแบบ “ทิพย์” อาจจะเป็นการเรียนที่ทรมานกายหยาบได้อย่างคาดไม่ถึง!
นอกจากนี้ การเรียนการสอนออนไลน์ยังไม่เหมาะกับการฝึกทักษะขั้นสูงในหลายๆ ด้านให้กับนักศึกษาเช่นการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเข้าสังคม และการทำงานเป็นทีม
แต่ปัญหาของการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยนั้น กระจ้อยมาก เมื่อเทียบกับความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในโรงเรียน
ในหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Low and middle income countries (LMICS) หรือกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง (รวมทั้งไทยด้วย) ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างหนักหนาสาหัส
จากการประมาณการของยูเนสโก (UN Science and Education Organization, UNESCO) ที่รายงานออกมาในเดือนกันยายน 2563 มีเด็กและเยาวชนที่ถูกปล่อยให้หลุดจากวงการการศึกษาไปเพราะการระบาดของโควิด-19 มากถึง 850 ล้านคนทั่วโลก และตัวเลขนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่โควิดยังระบาดอยู่และปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้ตรงจุด
แต่การเกาให้ถูกที่คัน ต้องรู้ก่อนว่าจะเกาตรงไหน
แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง สถานการณ์ก็ยังน่าเป็นห่วง บริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีย์ (McKinsey & Company) ได้ประเมินไว้ว่าการปิดโรงเรียนเพื่อกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเรียนในสหรัฐล้าหลังในการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไปแล้ว ราวๆ 4-12 เดือนเลยทีเดียว
เป็นที่รู้กันว่าถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อในสังคมลดต่ำลง ความเสี่ยงของการติดเชื้อในโรงเรียนจะลดลงไปด้วย
หลายประเทศมีการจัดการในด้านการศึกษาที่แตกต่างกัน และตัวเลขในหลายๆ ประเทศก็ดูน่าพึงพอใจ
อย่างในประเทศอังกฤษ หลังจากที่ตัวเลขการติดเชื้อในชุมชนลดลงเป็นที่น่าพึงพอใจ โรงเรียนก็เปิดอีกครั้ง แต่เป็นเทอมสั้นๆ และจากการเปิดเรียนในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 มีนักเรียนเพียงแค่ 70 คนจากหนึ่งล้านหกแสนกว่าคนในระบบการศึกษาที่ติดเชื้อโควิด-19 จากโรงเรียน
ขณะที่ในอิตาลี จากโรงเรียนกว่า 65,000 แห่งที่เปิดสอนในเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นของการติดเชื้อในชุมชน ก็ยังมีเพียงแค่ราวๆ หนึ่งพันสองร้อยแห่งที่พบการติดเชื้อในเดือนต่อมา และเกิน 90 เปอร์เซ็นต์เป็นการติดเชื้อแบบคนเดียว มีพบคลัสเตอร์แค่ที่เดียวที่มีคนติดไปมากกว่า 10 คน
ชัดเจนว่าถ้าเปิดโรงเรียนตอนช่วงยังมีการติดเชื้อเยอะๆ ในสังคม จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ประเด็นคือทำไมโรงเรียนถึงอาจจะไม่ใช่จุดก่อคลัสเตอร์ที่เราเรียกว่า hotspot?
คำตอบที่แท้จริงคือไม่มีใครรู้ แต่จากการวิเคราะห์รวบยอด (ที่เรียกว่าการทำ meta-analysis) และตัวเลขจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ที่เผยแพร่ออกมาแล้วในเวลานี้ ชี้แนะความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นเพราะเยาวชนมีโอกาสติดโควิด-19 ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
แต่อย่าลืมว่าในโรงเรียนแบบนิวนอร์มัล เด็กต้องทั้งสวมหน้ากาก ทั้งโซเชียลดิสแทนซิ่ง และยังมีข้อกำหนดอื่นๆ อีกมากมาย
“เราไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติของการระบาดในเด็กและเยาวชนได้หรอก เพราะในความเป็นจริง เราได้ทำทุกวิถีทางในการป้องกันการติดเชื้อในเด็ก” ฟิโอนา รัสเซล จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ในประเทศออสเตรเลียให้ความเห็น
สิ่งสำคัญที่ต้องคิดก็คือมาตรการอะไรที่จะช่วยให้โรงเรียนกลับมาเปิดใหม่ได้ โดยที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับที่พอรับได้
ไม่ใช่บอกว่าเด็กไม่ค่อยติด แล้วโรงเรียนจะไม่เสี่ยง เพราะก็มีรีพอร์ตให้เห็นอยู่เหมือนกัน ทั้งในชิลีและในอิสราเอล
ในอิสราเอล ช่วงที่การติดเชื้อในประเทศแค่ราวๆ 120 ต้นๆ ต่อวัน (หรือประมาณ 15 คนต่อประชากรล้านคน) อากาศกำลังร้อนระอุ โรงเรียนมัธยมเปิดเรียนตามปกติ นักเรียนราวๆ 30 คนนั่งเรียนร่วมกันในห้องแอร์เย็นฉ่ำ หน้ากากใส่ๆ ถอดๆ ตีว่าไม่ได้ใส่
ก็ติดไปตามระเบียบ โดนไป 153 คนสำหรับนักเรียน และครูกับพนักงานอีก 25 คน บวกครอบครัว และเพื่อนของครอบครัวอีก 87 คน เล่นเอามึนไปทั้งเยรูซาเล็มเลยทีเดียว
“โรงเรียนอาจจะเป็นที่ที่มีความเสี่ยงสูง” ยัง จูน โช (Young June Choe) กุมารแพทย์และนักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแฮลลิม (Hallym University) ประเทศเกาหลีกล่าว “แต่สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ถ้ามีนโยบายที่ดีเราสามารถควบคุมการระบาดได้ในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบการติดเชื้อในชุมชนต่ำ”
ในเกาหลี จำนวนเคสเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ น้อยกว่า 19 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือนที่เปิดเรียนตามปกติ (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ) และจากการสอบสวนโรคมีเพียงแค่ 1 คนจาก 111 คนที่ติดเชื้อมาจากโรงเรียน ที่เหลือติดมาจากที่อื่น ส่วนใหญ่ติดมาจากที่บ้าน
ที่สำคัญก็คือต้องลดความเสี่ยงโดยการกำจัดปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาด อาทิเช่น จำนวนนักเรียนต่อห้องที่มากเกินไป การระบายและหมุนเวียนอากาศของห้องเรียน มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และที่สำคัญ จำนวนผู้ติดเชื้อในสังคม
วันที่ 7 มกราคม 2564 ในวารสาร nature เอมิลี ออสเตอร์ (Emily Oster) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ได้เขียนถึงสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับระบบการศึกษาในสหรัฐอเมริกาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในตอนนี้ ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคในการกำหนดนโยบายและวางมาตรการที่เหมาะสมที่จะรองรับการเปิดโรงเรียนใหม่อีกครั้ง ก็คือ การขาดแคลนข้อมูลการระบาดภายในโรงเรียน และแนวทางการป้องกันการติดเชื้อที่เป็นระบบ ชัดเจน โปร่งใส และครอบคลุมที่เพียงพอ
เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการประเมินและวางกลยุทธ์เพื่อควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม ทำให้กราฟเตี้ยลง (flatten the curve) และทำให้วิถีชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น แม้อาจจะไม่ได้เหมือนเดิมเป๊ะๆ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ให้พบปะ ได้ลงมือทำ ได้เข้าห้องเรียนบ้าง!
เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆ เพราะจะดี จะร้ายก็อยู่ตรงนี้
จะวางใช้ยุทธศาสตร์ในการกำราบควบคุมโรคทั้งที ก็ต้องเอาให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและไม่ย้อนแย้ง
บทเรียนมีมากมายจากหลายประเทศ และในความเห็นของผม นี่คงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจในวงการการศึกษาไทย
เพื่อที่ว่านักเรียนนักศึกษาของเราอาจจะได้มาเรียนผ่านกายหยาบอย่างมีประสิทธิภาพและได้ซึมซาบประสบการณ์การเรียนรู้แบบจริงๆ กันอีกครั้ง!
References.
Mallapaty, S. Nature, 584, p504 (2020)
Lewis, D. Nature, 587, p17 (2020)
Leeb, R.T. et al. Morbid Mortal. Wkly Rep. 69, 1410-1415 (2020)
Oster, E. Nature, 589, p8 (2021)
สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 94 เดือนมกราคม 2564
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/218938