ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science จัดสัมมนาออนไลน์ Workshop on e-Science and High Performance Computing (eHPC2021)

          หน่วยงานพันธมิตรภายใต้ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science (National e-Science Infrastructure Consortium) จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Workshop on e-Science and High Performance Computing หรือ eHPC2021 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยศาสตรจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และ รองประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา

          การสัมมนาครั้งนี้วิทยากรได้นำเสนอผลงานและงานวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์จากระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง  (HPC) ที่ได้นำไปใช้งานในหลายภาคส่วน และการนำ HPC เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ทั้งด้านเพิ่มความเร็วในการพัฒนาผลงาน หรือการแก้ปัญหาตัวแปรที่ซับซ้อน ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่สามารถทำได้ หรือทำได้แต่ใช้เวลานาน ทั้งด้านรังสีรักษา การใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม Open Data รวมถึงการยกตัวอย่างงานวิจัยที่ใช้ทรัพยากรภาคีอย่างคุ้มค่า 

          ผศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ จากคณะแพทย์ศาสตร์ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้บรรยายแนะนำ ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ศูนย์ความเป็นเลิศในการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคไซโครตรอนแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้บริการรักษาควบคู่กับการทำวิจัยทั้งด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย การรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน สามารถกําหนดทิศทางของลําอนุภาคไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยํา อวัยวะปกติที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็งจะได้รับปริมาณรังสีน้อยมากหรือไม่ได้รับเลย แพทย์จึงสามารถเพิ่มปริมาณรังสีสูงสุด ที่สามารถทําลายเซลล์มะเร็งได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

          รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอหัวข้อ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ กล่าวถึงการนำ HPC เข้าไปช่วยให้งานวิจัยได้ผลลัพธ์เร็วขึ้น และนำไปใช้ในงานวิจัยที่ไม่สามารถประมวลผลบนคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ โดยนำไปใช้จริงกับการคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) การคัดกรองโรคตา การคัดกรองโรคโดยใช้สัญญาณเสียงพูด เป็นต้น

          ดร.ปาริชาติ สุวรรณคำ นักวิจัยจาก Computational Chemistry Research Laboratory (CCRL)  สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเสนอหัวข้อ The recent development of computational chemistry research at CCRL-SUT: application of KRYPTON Linux cluster. ซึ่งเป็นงานวิจัยเคมีเชิงคำนวณ ผลงานล่าสุดของห้องปฏิบัติการ CCRL 

          ในการสัมมนาช่วงที่สองเป็นการนำเสนอผลงานจากการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และ Open Data เริ่มด้วย ดร.วุฒิไกร บุษยาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ศูนย์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงเพื่อการคำนวณทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นำเสนอ แบบจำลองพลศาสตร์ของไหลเพื่อศึกษาประสิทธิภาพอุปกรณ์ลดการกัดเซาะชายฝั่ง  Derosion Lattice ต่อกรณีศึกษาชายหาดในประเทศไทย 

          ดร.กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ ฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) นำเสนอ แบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศเพื่อการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาภัยพิบัติสำหรับประเทศไทย

          และ ดร.มารุต บูรณรัช ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ เนคเทค สวทช. บรรยายในหัวข้อ Open Data Platform for Data Science โดยกล่าวว่า ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับงานด้าน AI และ Data Science ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับคุณภาพข้อมูลและกระบวนการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้แพลตฟอร์มสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลที่ครบวงจรในแบบ Data-Governance-Driven Open Data Platform มีความสำคัญในการช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าว

          ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science เป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ของไทย ได้พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือ เซิร์น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยชั้นนำระดับโลกด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงเพื่อตอบคำถามการทำงานของจักรวาลได้ในระดับพื้นฐาน นอกจากนี้เซิร์นยังมีชื่อเสียงในฐานะเป็นต้นกำเนิดของ World Wild Web (www) จอ LCD และการใช้ลำแสงโปรตอนในการรักษาทางการแพทย์

          อนึ่ง ภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science เป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ HPC ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญสนับสนุนงานวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมต่างๆ ในประเทศ ภาคีฯ ยังมีภาระกิจสำคัญในการส่งเสริมกลุ่มประชาคมผู้พัฒนาและผู้วิจัยที่ใช้งานระบบ HPC ตลอดจนความร่วมมือกับเซิร์น และยังขยายความร่วมมือในการให้บริการทรัพยากรไปสู่หน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนมากยิ่งขึ้น 

 

About Author