Headlines

“เอลนิญโญ-ลานิญญา” วิกฤตภัยแล้งและอุทกภัย สู่การรับมืออย่างยั่งยืน

สถานการณ์เอลนิญโญในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2566 ได้อ่อนกำลังลงในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 และในขณะนี้ ได้กลายเป็นลานิญญาอย่างเต็มกำลัง ส่งผลให้ฝนมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการเกษตรและปริมาณน้ำในเขื่อน รวมถึงปัญหาภัยจากน้ำท่วมที่ตามมา

เอลนิญโญและลานิญญา คือสองปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก โดยประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งจากภัยแล้งและน้ำท่วม ที่สำคัญคือในช่วงที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรง ยิ่งทำให้สภาพอากาศมีความผันผวนสูง และทำให้การคาดการณ์ รวมถึงการรับมือเป็นไปอย่างยากลำบาก การเตรียมพร้อมรับมืออย่างยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การเกษตรที่ปรับตัว และการสร้างความตระหนักรู้ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดผลกระทบและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

ดร.พรอำไพ นเรนทร์พิทักษ์

ดร.พรอำไพ นเรนทร์พิทักษ์ นักวิจัยจากทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแหล่งชาติ (สวทช.) ให้ข้อมูลเน้นย้ำถึงความผันผวนของสภาพอากาศในช่วงลานิญญาว่า อาจทำให้เกิดฝนตกหนักในประเทศไทยและอาจมีน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ ปรากฏการณ์ลานิญญานี้เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางทางทิศตะวันออกลดลงจากสภาวะที่อุ่นกว่าปกติในช่วงเอลนิญโญ ไปสู่สภาวะที่เย็นกว่าปกติ ซึ่งเป็นลักษณะของลานิญญา

ในขณะนี้ หน่วยงานที่ติดตามปรากฏการณ์เอลนิญโญ-ลานิญญา ได้เผยแพร่ข้อมูลแล้วว่า มีโอกาสสูงที่จะเกิดลานิญญาในช่วงปลายปี 2567 และต้นปี 2568 โดยมีโอกาสเกิดมากถึง 80% ในช่วงปลายปี และอาจทำให้มีฝนตกมากกว่าปกติในฤดูฝน เสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมและดินถล่ม รวมถึงอุณหภูมิอาจจะลดลงโดยเฉพาะในฤดูหนาว แต่หากมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change อุณหภูมิที่ลดลงนี้อาจเห็นได้ไม่ชัดนัก

เอลนิญโญและลานิญญาเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ประชาชนควรติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลง ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม การสำรองน้ำ การวางแผนเพาะปลูก และการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนรู้จากปรากฏการณ์เหล่านี้และการลงทุนในการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างอนาคตที่มั่นคงและปลอดภัยสำหรับคนไทยทุกคน


ข้อมูลอ้างอิง

นิตยสารสาระวิทย์ สวทช.
กรมอุตุนิยมวิทยา
NOAA Climate Prediction Center
Columbia Climate School, International Research Institute for Climate and Society

About Author