คลินิกผู้สูงอายุ วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงโรคสูงวัย ดูแลอย่างยั่งยืน

          ความชรามักมาพร้อมกับปัญหาในการควบคุมการทรงตัว เคลื่อนไหว ผู้สูงอายุที่มีความผิดปกติซับซ้อน จำเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

          จึงเกิดเป็น “คลินิกผู้สูงอายุ” ขึ้นที่ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะด้านการทรงตัว เคลื่อนไหว แต่ยังครอบคลุมถึงผู้สูงอายุที่มีปัญหาบกพร่องด้านการรับรู้ และความจำ ซึ่งสามารถส่งต่อไปยังคลินิกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในศูนย์ฯ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการส่งตัวจากโรงพยาบาลในเบื้องต้น

          กภ.สรินดา ศาตะมาน นักกายภาพบำบัดประจำศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของ “คลินิกผู้สูงอายุ” จากเดิมที่ให้บริการเพียงฝึกการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ปัจจุบันได้เปิดให้บริการอย่างครบวงจร ด้วยตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาวะของผู้อายุที่ต้องการ “การดูแลแบบองค์รวม”

          โดยปกติแล้ว ผู้ติดต่อรับบริการที่ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล มักมาด้วยอาการปวด ซึ่งจะได้รับคำแนะนำในการทำกายภาพบำบัด และออกแบบท่าเพื่อให้สามารถกลับบ้านไปฝึกด้วยตนเอง

          ปัจจุบันได้ขยายผลทำให้เกิดความยั่งยืน มุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และการทรงตัวในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ ด้วยบริการตรวจวิเคราะห์ “ปัจจัยเสี่ยง” ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคและการดูแลรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้อายุ พร้อมให้คำปรึกษาแบบเฉพาะรายบุคคล

          และบ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุ มีอาการเวียนศีรษะ มักเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่าง “โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน” ซึ่งมักมีอาการ “บ้านหมุน” ไปตามการเคลื่อนไหวของศีรษะร่วมด้วย

          กับอาการ “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” ซึ่งมีอาการเวียนศีรษะอย่างหนักหน่วงเช่นกัน แต่ไม่ได้รู้สึกคล้ายบ้านหมุน โดยทั้งสองโรคเกิดจากการทำงานของหูชั้นในที่ผิดปกติไป การเสื่อมของประสาทหู ซึ่งสามารถเข้ารับคำแนะนำได้ที่ “คลินิกโรคเวียนศีรษะและการทรงตัว” ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

          นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุของ “อาการเดินเซ” เนื่องจาก “กล้ามเนื้อไม่สมดุล” ซึ่งการบาดเจ็บจากอาการ “ข้อเท้าพลิก” บ่อยๆ อาจนำไปสู่ “อาการเดินเซ” ในผู้สูงอายุได้เช่นกัน

          โดยค้นพบว่าการฝึกเดินด้วยการ “เดินต่อเท้า” อย่างต่อเนื่อง โดยเดินต่อเท้าไปข้างหน้า และข้างหลัง อย่างละ 10 ก้าว รวม 3 เซ็ท ให้ได้ทุกเช้า-เย็น อย่างน้อย 3 เดือนจะทำให้ “อาการเดินเซ” ในผู้สูงอายุดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

          ในรายที่ชอบทำกิจกรรมนอกบ้าน อาจทำให้การออกนอกบ้านเป็นการทำกายภาพบำบัดไปได้ด้วยในตัว เช่น ขณะเดินในห้างสรรพสินค้า ให้ลองเดินไป 3 ก้าวแล้วหันซ้าย และเดินไปอีก 3 ก้าวแล้วหันขวาสลับกันไป จะทำให้ผู้สูงอายุไม่ขาดการออกกำลังกาย พร้อมเพลิดเพลินไปกับท่วงท่าที่ดีต่อทั้งการฝึกเดินทรงตัว และดีต่อใจ

          นอกจาก “คลินิกผู้สูงอายุ” แล้วยังมีการให้บริการทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้สูงอายุที่มีความผิดปกติซับซ้อนอื่นๆ อีก เช่น “คลินิกสุขภาพหญิง”

          สำหรับผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด “การตรวจการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง” ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองในอนาคต “ธาราบำบัด” สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ตลอดจน “กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะหลงลืมและสมองเสื่อม” ปัญหาบกพร่องด้านการรับรู้ และความจำ ฯลฯ

          หากผู้สูงอายุท่านใดมีประวัติการหกล้มมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี มีอาการเดินเซ เริ่มทำกิจวัตรประจำวันได้ยากขึ้น หรือลุกได้ยากขึ้น สามารถเข้ารับการดูแลและรับคำปรึกษา ได้ที่ คลินิกผู้สูงอายุ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งที่ศาลายา และปิ่นเกล้า พร้อมเบิกค่ารักษาพยาบาลได้สำหรับผู้ใช้สิทธิ์กรมบัญชีกลาง

          โดยคลินิกผู้สูงอายุ ที่ศาลายา มีทุกวันจันทร์ เวลา 13.00 – 16.00 น. ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2441-5450  ต่อ 11 ส่วนที่ปิ่นเกล้ามีทุกวันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น. ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2433-7098

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ โทร. 0-2849-6210


สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร
กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author