อนาคตของการจ้างงานคนพิการมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นับตั้งแต่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2550 แต่ยังมีหลายสถานประกอบการอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการจ้างงานคนพิการ เนื่องจากยังไม่เคยมีประสบการณ์จ้างงานคนพิการมาก่อน
รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล นักจิตบำบัดผู้ขับเคลื่อนสังคมสู่การทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการยอมรับและส่งเสริมจ้างงานคนพิการเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมคุณภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร
อาจารย์ประจำภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
จนสามารถคว้า “ทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของมหาวิทยาลัยมหิดล” จากผลงานขับเคลื่อนสังคม “กลไกการพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ ปี พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็น “องค์กรต้นแบบ” แห่งการจ้างงานคนพิการที่มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย SDG 10 เพื่อความเท่าเทียม (Reduced Inequality) โดยได้มีการริเริ่มจ้างงานคนพิการให้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดลมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2550 ที่ได้มีการประกาศพ.ร.บ.
โดยกำหนดให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นคนพิการได้มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วไป ทั้งการเลื่อนขั้นเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และก้าวหน้าทางวิชาชีพต่างๆ ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล มากกว่าพ.ร.บ.ที่กำหนดเทียบเท่าค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำทั่วไป ตลอดจนปรับภูมิทัศน์เพื่อเอื้อต่อการทำงานของคนพิการมากขึ้นตามลำดับ ก่อนขยายผลสู่ชุมชนในเวลาต่อมา
โครงการนี้ได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด “การจ้างงานคนพิการเชิงสังคม” ซึ่งคำนึงถึงความจำเป็นของคนพิการที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง ให้สามารถทำงานในชุมชนในฐานะผู้แทนของสถานประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการมากขึ้น
เพื่อการสร้างความเข้าใจอันดี และเสริมพลังองค์กรต่อไปในอนาคต จากโมเดลรูปแบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ที่ออกแบบขึ้นเพื่อจัดทำเป็นคู่มือสร้างความเข้าใจ และกลไกในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ เตรียมพร้อมสถานประกอบการซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับคนพิการเข้าทำงานมาก่อนได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติ และจะขยายผลสู่ระดับนโยบายประเทศต่อไป
ด้วยความหวังที่จะทำให้ภาพของคนพิการในอดีตที่เคยถูกมองว่าเป็นภาระสังคม ได้เปลี่ยนแปลงสู่ภาพของ “ผู้มีพลังชีวิต” จากศักยภาพในการทำงาน ซึ่งสมควรได้รับสิทธิเท่าเทียมพลเมืองโลกทั่วไป รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร มองว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในสังคมจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมปกติ และพร้อมปรับตัวเพื่อก้าวไปด้วยกัน
ในอนาคตเราอาจได้เห็น “เพื่อนผู้พิการ” เป็นกำลังสำคัญคอยช่วยเหลือผู้อื่นในวันที่อ่อนล้า หากทุกคนในสังคมพร้อมเปิดใจร่วมฟันฝ่า สังคมไทยในอุดมคติที่เปี่ยมพลังคงอยู่ไม่ไกล ไม่ว่าโลกในวันข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210