มหากาพย์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุง ภาค 10

หนามยอกเอาหนามบ่ง เปิดกลยุทธ์ใช้ยุงปราบยุง

โดย ป๋วย อุ่นใจ


          ยุงคือหนึ่งในศัตรูคู่อาฆาตที่ตามจองล้างจองผลาญมนุษย์มานานแสนนาน นอกจากจะตามแอบกัดจนคันคะเยอไปทั้งตัวยังไม่พอ ยังนำโรคติดต่อร้ายกาจอย่างไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้เวสต์ไนล์ และอีกสารพัดโรค

          บางโรคก็ส่งผลน่ากลัวสุดแสนสยดสยอง อย่างโรคเท้าช้าง (lymphatic filariasis: LF) โรคปรสิตที่มียุงเป็นตัวพาหะ ในอดีต เมื่อติด อาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงกับชีวิตของผู้ป่วย บางรายอาจถึงขั้นต้องทุพลภาพไปตลอดชีวิต

          เท้าช้างเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ส่งผลกระทบกระจายไปในหลายประเทศ ส่งผลกระทบมหาศาลจนองค์การอนามัยโลกต้องออกโครงการล้างบางเท้าช้างในระดับโลก หรือ “the Global Programme to Eliminate Lymphatic Filariasis (GPELF)” ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2543 เพื่อมุ่งเป้าในการลบชื่อโรคเท้าช้างออกไปจากโลกใบนี้ ภายในปี พ.ศ. 2563 (หรือถ้าลบไม่ออก อย่างน้อยก็ลดให้เหลือให้น้อยที่สุดก็ยังดี)

          และเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ยาฆ่าพยาธิทั่ว ๆ ไป อย่าง “อัลเบนดาโซล (albendazole) และไอเวอร์เมกติน (ivermectin) แค่โดสเดียวก็เอาพยาธิส่วนใหญ่ รวมทั้ง “พยาธิเท้าช้าง” ได้อย่างอยู่หมัดแล้ว โครงการ GPELF ก็เลยจะเน้นการให้ยาฆ่าพยาธิแบบทุ่มสุดตัว (mass drug administration: MDA) คือเจอพยาธิที่ไหน ก็จ่ายยาฆ่าไปไม่มีเหนียม ในช่วงสองทศวรรษของการดำเนินโครงการ ระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง 2563 โครงการ GPELF ได้แจกจ่ายยาฆ่าพยาธิไปแล้วถึงกว่า 8.6 พันล้านโดส และด้วยสัญญาความร่วมมือจากหลายประเทศพันธมิตรที่ซีเรียสในการดำเนินการออกมาตรการกำราบโรคอย่างเอาจริงเอาจัง ปัญหาโรคเท้าช้างก็ลดน้อยถอยลงไปอย่างมหาศาลในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี

          อย่างในประเทศจีนก็พิสูจน์ได้อย่างภาคภูมิว่าสะอาดปราศจากโรคเท้าช้างไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และอีกสิบปีต่อมา ประเทศไทยก็ออกมาประกาศตัวได้แล้วเช่นกันว่าไร้แล้วซึ่งโรคเท้าช้างเช่นกันในปี พ.ศ. 2560

          โครงการ GPELF จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ก่อนจะมีโครงการนี้ เท้าช้างคือต้นเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life-years: DALYs) ถึงกว่า 5.25 ล้านปี และความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่หลังจากที่ทำโครงการไปได้ราว ๆ สิบห้าปี ตัวเลขการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคเท้าช้างทั่วโลกลดลงมาถึงเกือบห้าเท่าเลยทีเดียว

          กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือเป้าหมายในการลบชื่อเท้าช้างออกไปจากสารบบใน พ.ศ. 2563 อาจจะยังเป็นตัวเลขที่แอบทะเยอทะยานมากไปนิด และบทเรียนหนึ่งที่เราได้เรียนรู้กันมาแบบเจ็บปวดจากสถานการณ์โควิดก็คือ ตราบใดที่เชื้อนั้นยังคงอยู่ที่ใดสักแห่งบนโลกใบนี้ การระบาดก็อาจปะทุขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อ

          และในขณะที่ทีมนึงพยายามหาทางกำจัดพยาธิในยุง หลายทีมก็พยายามกำจัดยุง แน่นอนที่สุดกลยุทธ์สารพัดรูปแบบถูกงัดขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ สุดล้ำ อย่างยีนไดรฟ์ หรือการใช้แบคทีเรียโวลบาเคีย ไปจนถึงเทคโนโลยีดั้งเดิมอย่างโลชันกันยุง ทั้งแบบที่ส่งกลิ่นไล่ไปจนถึงเกาะแล้วลื่นเลยดูดเลือดไม่ได้ มีหมด…

          บางคนหันไปพึ่งพาศัตรูทางชีวภาพของยุง อย่างใช้ปลาหางนกยูงมากินลูกน้ำ หรือหาปรสิตของยุงอย่างโปรโตซัวรูประฆังอย่างวอร์ติเซลลา (Vorticella) มาก่อโรคในลูกน้ำ

          ถ้าจะให้ล้ำกว่านั้นหน่อยก็แบคทีเรียสร้างสารพิษฆ่าลูกน้ำ อย่าง Bacillus thuringiensis แม้จนแล้วจนรอดจะยังไม่รู้ว่าทำไมแบคทีเรียถึงวิวัฒนาการโปรตีนกำจัดยุงขึ้นมาให้เราก็ตาม

          แต่ถ้าจะพูดถึงการควบคุมด้วยวิธีทางชีวภาพ ไอเดียหนึ่งที่ดูจะ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ที่สุด เห็นจะเป็น “เอาลูกน้ำยุงมาฆ่ายุง”

          คือลูกน้ำยุงหลายชนิดนั้นกินได้จิปาถะ รวมทั้งลูกน้ำยุงด้วยกันก็กิน พฤติกรรมกินพวกเดียวกันเองนี้เรียกว่า “แคนนิบาลิซึม (cannibalism)”

          ลูกน้ำของยุงบางชนิด อย่างเช่น “ยุงนักล่าโพรงไม้ (predatory tree-hole mosquito หรือ Toxorhynchites rutilus septentrionalis)” เป็นนักล่าที่เก่งกาจ พวกมันสามารถไล่ล่าตามจับแพลงก์ตอน หนอนตัวกลม ตัวอ่อนแมลง รวมถึงลูกน้ำยุงชนิดต่าง ๆ  มากินได้อย่างตะกละตะกลาม


ยุงนักล่าโพรงไม้

          “ลูกน้ำยุงนักล่าโพรงไม้ตัวหนึ่งจะสามารถกำจัดลูกน้ำยุงพาหะนำโรคอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเดียวกันได้มากถึง 5000 ตัว ก่อนที่มันจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งอาจจะใช้เวลาได้ยาวนานตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์ไปจนถึงครึ่งปี” แอนิตา ชิลเลอร์ (Anita Schiller) ผู้อำนวยการโครงการก่อตั้งศูนย์ควบคุมยุงด้วยชีววิธี (Biological Control Mosquito Initiative) แห่งแฮริสเคาน์ตีในเท็กซัสเผย “ยุงนักล่าโพรงไม้โตเต็มวัยอาจมีความกว้างปีกได้ถึงเกือบครึ่งนิ้ว (ถ้าเทียบขนาดตัวก็น่าจะพอ ๆ กับแมลงเม่า) แต่พวกมันจะกินแต่น้ำหวานจากดอกไม้เท่านั้น พวกมันต้องการน้ำตาลจากเกสรเพื่อการวางไข่

          ทีมของเธอพัฒนาวิธีการเลี้ยงลูกน้ำยุงนักล่าโพรงไม้ในระดับใหญ่เพื่อทดลองปล่อยไปควบคุมยุงในธรรมชาติ หน่วยเลี้ยงยุงของแอนิตาผลิตยุงนักล่าตัวเต็มวัยได้กว่าพันตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้พวกเขาทดลองปล่อยยุงนักล่าตัวเมียออกสู่ธรรมชาติเพื่อทดลองควบคุมประชากรยุงในท้องถิ่นได้ราว 300 ตัวในแต่ละสัปดาห์ในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2560

          แต่การทดลองต้องหยุดลงอย่างรวดเร็ว เพราะโรงงานเพาะยุงในเท็กซัสของพวกเขาที่เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างใช้งานได้จริงนั้นกลับตั้งอยู่บนเส้นทางของเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ และโดนพายุถล่มจนเสียหายอย่างหนัก แม้พวกเขาจะอพยพฝูงยุงที่เลี้ยงไว้ได้ทัน แต่การศึกษาทั้งหมดต้องชะลอไปแบบไม่มีกำหนด

          วงการงานวิจัยยุงล่ายุงดูเหมือนจะเงียบไปพักใหญ่จนกระทั่งโรเบิร์ต แฮนค็อก (Robert Hancock) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเมโทรโพลิทันสเตตแห่งเดนเวอร์ (Metropolitan State University of Denver) ได้ตั้งกล้องส่องพฤติกรรมล่าเหยื่อของลูกน้ำยุง

          “พวกเราถึงกับตะลึงอ้าปากค้างเลยในตอนที่เห็น ไม่มีใครที่จะเชื่อสายตาตัวเอง” โรเบิร์ตกล่าว

          พฤติกรรมการล่าเหยื่อของลูกน้ำมันช่างอลังการ…

          เคยเห็นของเล่นหลอกเด็กที่เรียกว่าแจ็กอินเดอะบอกซ์ (Jack in the box) ไหมครับ ที่เป็นกล่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่พอเปิดออก หัวตัวตลกก็จะกระเด้งออกมา ทำให้ตกใจ จะบอกว่าหัวลูกน้ำยุงเป็นแบบนั้นเป๊ะเลย สิ่งที่เห็นในคลิปของโรเบิร์ตที่ทำให้ทุกคนถึงกับอึ้งก็คือ ลูกน้ำยิงหัวได้ หัวของมันพุ่งตรงเข้าหาเหยื่อราวกับกระสุน พอมันงับเหยื่อได้อย่างมั่นคงแล้ว หัวมันก็เด้งกลับได้เหมือนหัวแจ็กอินเดอะบอกซ์ (บรึ๋ยยยยยย)


คลิปพฤติกรรมการล่าเหยื่อของลูกน้ำยุงที่บันทึกโดยโรเบิร์ต แฮนค็อก

          ช่างเป็นดีไซน์ในธรรมชาติที่ประหลาดแท้

          เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เขาอัดได้ในคลิปนั้นไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของยุงแค่ชนิดเดียวตัวนั้น โรเบิร์ตก็เลยทำการทดลองกับยุงอีกหลายสายพันธุ์ หลายสปีชีส์ ปรากฏว่าทุกตัวยิงหัวได้หมด กลไกการล่าพิสดารไม่แตกต่างกันเลย

          ส่วนตัว ผมก็แอบลุ้นนะว่างานวิจัยยุงล่ายุงจะไปต่อได้อีกไกลแค่ไหน เพราะไอเดียดีมาก แต่จะไปถึงดวงดาวไหมยังต้องลุ้นอีกหลายที เพราะแม้จะได้เห็นวิธีการสุดเพี้ยนในการล่าเหยื่อของลูกน้ำก็ไม่ได้หมายความว่าหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ

          “ยุงนั้นหลากหลายไม่ต่างจากนก” แอนิตากล่าว

          การจะจับคู่นักล่ากับเหยื่อนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ลูกน้ำยุงบางสปีชีส์ชอบน้ำนิ่ง แต่บางสปีชีส์กลับชอบน้ำไหล การเลือกนักล่าให้ตรงเหยื่อจึงเป็นศิลปะสำหรับผู้ที่เข้าใจ

          ยุงนักล่าโพรงไม้ถือเป็นหนึ่งในตัวตึงในภารกิจจัดการยุงพาหะในเท็กซัส เพราะนอกจากจะเป็นสายพันธุ์พื้นถิ่นในเท็กซัสอยู่แล้ว ลูกน้ำของพวกมันมักจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำขัง จานรองกระถาง ขอนไม้ผุพัง กะละมังแตก ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่เดียวกันเป๊ะเลยกับพวกลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะของไวรัสไข้ชิคุนกุนยาและไข้เลือดออก ลูกน้ำยุงลายก็เลยเป็นเหยื่อที่เข้าคู่กันได้พอดิบพอดีกับพวกมัน เพอร์เฟกต์แมตช์ และเพราะเป็นสายพันธุ์ในพื้นถิ่น ปัญหาเรื่องระบบนิเวศจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่มากนัก ถ้าเทียบกับการเอาสายพันธุ์รุกรานมาใช้

          แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไปแล้วละครับว่างานนี้จะไปต่อได้ไกลเพียงไร แต่ท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีทางหรอกที่วิธีหนึ่งวิธีใดจะเป็นหนทางตอบโจทย์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกปัญหา หนทางเดียวที่น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จคือการบูรณาการ

          แต่สิ่งหนึ่งที่แอบคาดหวัง ถ้าจะงอยปากนกกระเต็นยังเป็นต้นแบบให้วิศวกรเอาไปสร้างรถไฟหัวจรวด ใครจะรู้ดีไซน์สุดเพี้ยนแบบนี้ วันหนึ่งอาจจะกลายไปเป็นแรงบันดาลใจให้วิศวกรแห่งอนาคตนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมอะไรเจ๋ง ๆ ที่พลิกโลกขึ้นมาก็เป็นได้

          รอลุ้นต่อไปด้วยใจระทึก…

          แต่ “แจ็กอินเดอะบอกซ์” ไม่เอา…

          ไม่เร้าใจพอ…

About Author