มหากาพย์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุง ภาค 4

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


          ชายฉกรรจ์ในชุดปิดหน้า (ทับหน้ากากอีกที) เดินพ่นไอพิษไปทั่วบริเวณ ควันสีขาวแผ่กระจายคละคลุ้งไปทั่ว  ข้อความในไลน์ยังคงส่งถึงกันไม่ขาด เสียง ไลน์ ไลน์ ไลน์ เด้งระงมมาหลายวันแล้ว

          ข่าวไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ฤดูระบาดของไข้เลือดออกมาอีกครั้ง หลายบ้านเริ่มมีคนติดโรคร้ายที่น่าสะพรึงกลัวที่วนเวียนมาแทบทุกปีและคร่าชีวิตผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วนนี้

          จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ไข้เลือดออกคือโรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะที่ร้ายกาจที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก

          โชคดีที่หมู่บ้านของผมค่อนข้างแอ็กทิฟในเรื่องการจัดการปัญหายุงลาย ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหาการระบาดได้บ้าง แต่ถ้ามองว่าขนาดในเขตเมือง ยังเจอปัญหาขนาดนี้ ในท้องที่ที่เต็มไปด้วยเรือกสวนไร่นาที่ยากต่อการกำจัดแหล่งน้ำขังให้หมดสิ้น ปัญหานั้นจะสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน

          และถ้าว่ากันตามจริง ยุงลายไม่ได้เป็นพาหะแค่เพียงโรคไข้เลือดออกเท่านั้น อีกหลายโรคที่ติดต่อผ่านยุงลาย เช่น ไวรัสซิกา ไวรัสชิคุนกุนยา ไวรัสไข้เหลือง ก็เต็มไปด้วยพิษสงไม่ได้ด้อยไปกว่าไวรัสเดงกีที่ก่อโรคไข้เลือดออกเลยแม้แต่น้อย

          อย่างไรก็ตาม ถ้าว่ากันตามโครงการจัดการยุงโลก (World Mosquito Program) ยุงลายเป็นหนึ่งในตัวแสบที่ต้องจัดการให้ไวที่สุด แต่แทนที่จะใช้ยีนไดรฟ์ ทางทีมสนใจแบคทีเรียโวลบาเคีย (Wolbachia) ที่พบทั่วไปในธรรมชาติในกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มแมลง

          แบคทีเรียโวลบาเคียนี้ไม่พบก่อโรคในมนุษย์หรือสัตว์ พวกมันดำรงชีวิตเป็นพวกเอนโดซิมไบออนต์ (endosymbiont) ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ภายในเซลล์ของอีกสิ่งมีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัย (symbiosis) (ในกรณีของโวลบาเคียคือแมลง) เมื่อแมลงสืบพันธุ์ มันจะขยายตามไปด้วย และถ้าแมลงตาย พวกมันก็จะตายไปกับแมลงด้วย

          ด้วยวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัย พวกมันต้องมีกันและกันเสมอ โอกาสที่โวลบาเคียจะกระจายออกมานอกแมลง และติดเชื้อแมลงอื่นจึงแทบไม่มี ทำให้ความเสี่ยงที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของพวกมันอยู่ในขั้น “ไม่น่ากลัว” ถ้าไม่ประมาท โอกาสที่จะสร้างปัญหาลุกลามน่าจะต่ำมาก ๆ

          แต่ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจแบคทีเรียที่พึ่งพาอาศัยแมลงพวกนี้ก็คือพฤติกรรมสุดประหลาดของพวกมัน แม้จะไม่ก่อโรคในสัตว์ชัดเจน แต่การติดโวลบาเคียจะมีผลต่อการสืบพันธ์ุของแมลงที่เป็นโฮสต์ของมัน แมลงที่ติดโวลบาเคียจะผสมพันธุ์กันสำเร็จได้ก็เมื่อคู่ของมันติดโวลบาเคียด้วยเท่านั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดแต่อีกฝ่ายไม่ติด ต่อให้ผสมพันธ์ุออกมากี่ครั้ง ไม่ว่าจะยังไง ท้ายที่สุด ไข่จะฝ่อ

          แต่ที่เด็ดที่สุดก็คือจนถึงปัจจุบันยังไม่พบยุงลายที่ติดเชื้อโวลบาเคียในธรรมชาติ

          นั่นหมายความว่าถ้าเราเอาโวลบาเคียที่ได้จากธรรมชาติมาประคบประหงม กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูในห้องทดลอง แล้วเอาไปติดไข่ยุงลายในห้องแล็บ ยุงลายที่ติดโวลบาเคียนั้นจะสืบพันธุ์ให้ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปได้ก็ต่อเมื่อได้เจอคู่ตุนาหงันที่ติดเชื้อโวลบาเคียเหมือนกันเท่านั้น

          นั่นหมายความว่าคู่แท้ของพวกมันจะพบได้ก็มีแค่ยุงลายที่ถูกทำขึ้นมาในแล็บเท่านั้น ถ้าปล่อยออกให้ไปหาคู่ในธรรมชาติ ต่อให้ได้คู่ที่รู้ใจ ยังไงก็ไข่ออกมาก็ฝ่อ โอกาสสืบต่อทายาทคงเป็น “ศูนย์”

          นักวิทยาศาสตร์มากมายจึงเริ่มติดเชื้อยุงในเเล็บด้วยโวลบาเคีย ทั้งตัวเมีย ตัวผู้ หลังจากนั้นก็ขยายพันธ์ุยุงติดเชื้อโวลบาเคียให้ได้เยอะ ๆ ก่อนที่จะเลือกเพศยุง ยุงตัวเมียเก็บไว้ขยายพันธ์ุในห้องแล็บ ส่วนยุงตัวผู้นั้นก็ปล่อยให้ไปไล่หาคู่ผสมเอากันเองในธรรมชาติ (ซึ่งยังไงก็ไม่ติดโวลบาเคีย)

          ถ้าคิดให้ดี นี่คือกลยุทธ์ในการควบคุมประชากรยุงที่ดีเลิศประเสริฐศรี ไม่ต้องสร้างจีเอ็มโอให้เป็นดรามา แค่ปล่อยยุงหนุ่มที่ติดโวลบาเคียออกไปเยอะ ๆ ให้ไปแย่งยุงสาวผสมพันธุ์ ถ้ายุงส่วนใหญ่ (ที่ติดโวลบาเคียนั้น) เป็นหมัน ไข่มากมายที่วางไว้เต็มไปหมดนั้นก็จะฝ่อ ขอแค่อย่างเดียวคือต้องมั่นใจว่าจะไม่มียุงสาวติดโวลบาเคียหลุดออกไปปรากฏในธรรมชาติแค่นั้นเป็นพอ

          ไม่ต้องดัดแปลงพันธุกรรม แถมความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมนั้นก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (Environmental Protection Agency: EPA) และหน่วยงานที่รับผิดชอบในอีกหลายประเทศก็เลยยอมอนุมัติเป็นกรณี ๆ ไป ให้ทดสอบในภาคสนามได้

          ผลการทดลองส่วนใหญ่ออกมาดีจนน่าตกใจ หลังจากปล่อยยุงติดโวลบาเคียออกไป ประชากรยุงในพื้นที่ส่วนใหญ่จะลดลงไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยลดการระบาดของเชื้อก่อโรคที่มียุงเป็นพาหะได้อย่างชะงัด และเมื่อสิ้นสุดโครงการ ประชากรยุงในธรรมชาติก็จะค่อย ๆ เพิ่มกลับขึ้นมาใหม่จนถึงระดับปกติอย่างช้า ๆ นั่นหมายความว่าผลกระทบที่ไม่คาดคิดที่มีต่อประชากรยุงนั้น หากว่ามี ยังไงก็ย้อนกลับได้

          และอย่าลืมว่ายุงลาย ไม่ว่าจะยังไงก็จะเลือกผสมพันธุ์กับยุงลายด้วยกันเท่านั้น คงไม่วิตถารไปผสมกับยุงรำคาญหรือยุงก้นปล่อง ผลกระทบของการทดลองนี้จึงจำเพาะเจาะจงมาก โอกาสที่จะโดดข้ามสายพันธุ์ไปก่อกวนสปีชีส์อื่น ๆ นั้นจึงเป็นไปได้ยากมาก แม้จะในยุงด้วยกัน โอกาสที่จะข้ามไปกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นี่ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย

          โครงการจัดการยุงโลกเผยว่า มีการทดลองปล่อยยุงติดโวลบาเคียแล้วในหลายเมือง ส่วนใหญ่ให้ผลดีมาก ทั้งในแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเปอร์โตริโก แต่การทดลองจะทำสำเร็จได้จะต้องได้รับความร่วมมือและเห็นพ้องจากชุมชนเสียก่อน

          ในประเทศไทยก็เคยมีโครงการนำร่องปล่อยยุงลายที่โดนฉายรังสีให้เป็นหมันแถมยังติดโวลบาเคียด้วยลงไปในภาคสนามเช่นกันที่ อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ. 2459 โดยทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ ภาควิชาชีววิทยา และศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะผู้วิจัยจากกรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งผลการทดลองที่ได้นั้นน่าพึงพอใจแบบสุด ๆ เพราะแค่หกเดือนหลังการปล่อยยุงลายหนุ่มเป็นหมันติดโวลบาเคียเข้าไปในสิ่งเเวดล้อม มีจำนวนยุงลายที่แพร่เชื้อโรคร้ายได้ในท้องที่ลดลงไปมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดการระบาดของโรคร้ายจากยุงได้อย่างมหาศาล

          งานวิจัยนี้น่าตื่นเต้นมากจนองค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุนทุนเพื่อวิจัยต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นผลชัดว่าโวลบาเคียและการปล่อยยุงลายหนุ่มเป็นหมันเข้าไปในภาคสนามนั้นช่วยลดโรคร้ายที่ติดต่อผ่านยุงลายอย่างไวรัสเดงกี ไวรัสชิคุนกุนยา ไวรัสซิกา และเชื้อโรคอื่น ๆ ในชุมชนเมืองที่มีการระบาดซ้ำซ้อนได้ดีเพียงไร

          ด้วยศักยภาพที่มีล้นเหลือ ผลที่ย้อนกลับได้ ไม่จำเป็นต้องดรามากับจีเอ็มโอและประสิทธิภาพ (ในการทดลองนำร่อง) ที่น่าประทับใจ แน่นอนว่าไม่ใช่แค่องค์การอนามัยโลกเท่านั้นที่ให้ความสนใจกับโวลบาเคีย ที่จริงบิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีไอทีที่กลายมาเป็นฟิลเเลนโทรพิสต์ (philantropist) ที่ก่อตั้งมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) ที่บริจาคเงินมากมายมหาศาลเพื่อจัดการกับโรคระบาด ก็อินกับโวลบาเคียเช่นกัน

          ในปี พ.ศ. 2557 บิลล์ได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา (Gadjah Mada University) ในเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย ที่ซึ่งเขาเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับโวลบาเคียและได้รับรู้ถึงปัญหาของการจัดการยุงลายของเมือง

          เขามีโอกาสพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ และรับรู้ถึงความทุกข์ยากของการที่ต้องทนกับโรคระบาด อีกทั้งยังเข้าร่วมในการทดลองหลาย ๆ อย่าง ทั้งปล่อยยุงลายหนุ่มติดโวลบาเคียและให้อาหารยุงลายในห้องแล็บ

          ใช่แล้วครับ ให้อาหารยุงลายในห้องแล็บ… บิลล์เขียนบรรยายว่าสิ่งหนึ่งที่เขาประทับใจที่สุดในการไปเยือนยอกยาการ์ตาในครั้งนั้นก็คือการที่เขาได้เรียนรู้ว่าเพราะยุงตัวเมียต้องการเลือดเพื่อการวางไข่ ในแต่ละสัปดาห์ หนึ่งในนักวิจัยของทีมจะสลับกันมาบริจาคเลือดจากแขนให้ยุงตัวเมียติดโวลบาเคียหลายร้อยตัวในห้องแล็บกิน เพื่อให้พวกมันสามารถวางไข่สืบทอดทายาทยุงติดโวลบาเคียได้ จะได้คัดเอาลูก ๆ ตัวผู้ไปปล่อยเพื่อควบคุมประชากรยุงในเมือง

          แม้ยุงลายจะเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อันตรายที่สุด เพราะเป็นพาหะของสารพัดโรค แต่ยุงลายในแล็บพวกนี้ไม่เคยกระพือปีกออกไปไหน จึงไม่น่าจะนำโรคอะไรจะมาติดเขาได้ บิลล์ตัดสินใจทดลองกับตัวเอง สัปดาห์นั้น ยุงลายติดโวลบาเคียในยอกยาการ์ตาจึงมีโอกาสได้ลิ้มรสเลือดจากมหาเศรษฐีระดับโลกจนอิ่มหนำ

ที่มาภาพ : https://www.gatesnotes.com/Health/Why-I-Gave-Blood-to-Defeat-Dengue-Mosquito-Week

          “ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองก็ตอนที่ผมตกลงจะให้ยุงในกรงกรงหนึ่งได้มีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสเลือดของผม เพียงแค่ไม่กี่นาที แขนของผมก็เริ่มบวมเป่งจากรอยกัดนับโหล มันเล็กน้อยมากสำหรับโครงการที่มีศักยภาพที่จะพลิกเกมในการจัดการโรคที่แสนร้ายกาจ” บิลล์เขียนใน GatesNotes

          หลังการเยี่ยมชม บิลล์ตัดสินใจจัดสรรงบเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการควบคุมและกำจัดยุงลายในโครงการจัดการยุงโลก และเขียนบันทึก “ทำไมผมถึงได้บริจาคเลือดตัวเองเพื่อกำจัดเดงกี (Why I Gave My Blood to Defeat Dengue)” ในบล็อกของเขา

          อัปเดตอีกครั้งในปี พ.ศ. 2564 บิลล์เขียนอีกบล็อกด้วยความตื่นเต้น เมื่อกลุ่มวิจัยประยุกต์ใช้โวลบาเคียในการกำจัดเดงกี (The Applying Wolbachia to Eliminate Dengue (AWED) trial) ที่ยอกยาการ์ตาตีพิมพ์ผลการศึกษาของพวกเขาในวารสารการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine  

          หลังจากการทดลองปล่อยยุงลายติดโวลบาเคียในหลายท้องที่ในยอกยาการ์ตาที่มีอัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกสูงที่สุดในอินโดนีเซีย ซึ่งกว่าจะทำได้ ทางทีมก็ต้องลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและจริงใจอยู่นานนับปี

          “เป็นความพยายามที่น่าเหนื่อยล้าและกินเวลายาวนานหลายปี แต่มันคุ้มค่าที่สุด” บิลล์เขียน เพราะการปล่อยยุงติดโวลบาเคียในยอกยาการ์ตานั้นช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีลงไปได้ถึง 77 เปอร์เซ็นต์ และลดการแอดมิตเข้าโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้มากถึง 86 เปอร์เซ็นต์

          นี่คือความหวังที่น่าสนใจในการควบคุมการระบาดโรค และถ้าคุมยุงลายได้ ไม่ใช่แค่ปัญหาไข้เลือดออกเท่านั้นที่น่าจะบรรเทา แต่ทุกโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ซิกา ชิคุนกุนยา ไข้เหลือง และโรคอื่น ๆ ก็จะได้อานิสงค์ร่วมไปด้วยอย่างถ้วนทั่ว เวลานี้โครงการจัดการยุงโลกมีแผนขยับขยายการทดลองโวลบาเคียของพวกเขาต่อไปยังศรีลังกา ออสเตรเลีย ฟิจิ และอีกหลายประเทศ

          ในขณะที่โรคร้ายยังคงกลายพันธุ์ มนุษย์ก็มีนวัตกรรมที่จะมาช่วยควบคุมโรคร้าย ก็ขึ้นกับว่าใครพัฒนาไปได้ไวยิ่งกว่ากันแค่นั้น สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรู้จากเรื่องนี้คือตบมือข้างเดียวยังไงก็ไม่ดัง ถ้าอยากแก้ปัญหาจริง ๆ ให้สังคม ก็ต้องเข้าไปเข้าใจสังคม และดึงสังคมให้เดินหน้าไปด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้นได้

          ส่วนบทเรียนที่สำคัญที่ผู้วางนโยบาย ผู้บริหาร และแหล่งทุนทางวิทยาศาสตร์ระดับใหญ่ควรต้องเรียนรู้อย่างมากเช่นกันจากเรื่องนี้ก็คือ โครงการวิจัยที่สร้างแรงกระเพื่อมจริง ๆ ให้สังคม อาจไม่ใช่โครงการที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีที่สูงล้ำหรือก่อให้เกิดนวัตกรรมเพื่อผลกำไรเชิงพาณิชย์แบบร้อยล้านพันล้านในเวลาไม่กี่ปี

          เพราะการสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ต้นทุนมหาศาล และกำลังใจที่พร้อมจะลุยเพื่อมวลมนุษยชาติของนักวิจัยที่ยังมีไฟลุกโชน ซึ่งถ้าสำเร็จ ผลที่ได้ก็คุ้มค่าและน่าลงทุน เพราะมันอาจแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในสังคม การลดลงของภาระของโรค ค่าใช้จ่ายในการรักษา ปีสุขภาวะที่เสียไป (DALYs) และที่สำคัญคือการสูญเสียของชีวิตที่ไม่อาจประเมินค่าได้

          แน่นอนว่าสงครามระหว่างมนุษย์กับยุงร้ายยังไม่จบ… ไม่งั้นควันขาว ๆ คงไม่ได้มาลอยอยู่หน้าบ้านผมในไม่กี่วันก่อน ก็ได้แต่แอบหวังว่าอีกไม่นาน ควันพิษที่คละคลุ้งอยู่ทุกปีจะกลายเป็นเพียงแค่ภาพแห่งอดีตที่ไม่หวนย้อนคืนมา !

About Author