เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ
โพรเจกต์โวลบาเคีย
“ว้ายยยย !” หญิงสาวกระโดดโหยงด้วยความตกใจ
“แฮ่” เสียงขู่คำรามของเดวิด จอห์นสัน (David Johnson) ทำให้เธอขวัญกระเจิง
หญิงสาวมองชายชราผิวสีที่นั่งยิ้ม พรางตัวอยู่หลังพุ่มไม้ปลอม ๆ ที่สั่นไหวเบา ๆ ด้วยความงุนงง ก่อนจะขำในความขวัญอ่อนของตัวเอง และควักกระเป๋าหยิบแบงก์ดอลลาร์หย่อนให้ลุงด้วยความขวยเขิน ก่อนที่จะเดินหายไปในฝูงชน
เดวิดเก็บเงินใส่กระเป๋า เอากิ่งไม้บังหน้า แล้วเริ่มรอคอยเหยื่อนักท่องเที่ยวรายใหม่ที่เดินเพลิดเพลินไม่สนใจใคร รอจนเหยื่อเผลอเดินเข้ามาเฉียดใกล้
ปฏิบัติการเขย่าขวัญจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
ผลประกอบการของเดวิดดีมาก ๆ แทบทุกครั้งที่เขาแหวกพุ่มไม้ออกมาแล้วร้อง “แฮ่” เราจะได้ยินเสียงร้องด้วยความตกใจเสมอ และเเทบทุกครั้งเขาจะได้เงินเล็กน้อยเป็นผลตอบแทน
แม้โฮมเลสชราอย่างเดวิด ศิลปินข้างถนนผู้คอยเขย่าขวัญผู้คนที่มาเที่ยวฟิชเชอร์แมนวาร์ฟ (Fisherman Wharf) จะโด่งดังในระดับโลก ในนาม “บุชแมน” (bushman) แห่งมหานครซานฟรานซิสโก จนมีคนมายืนมุงรอถ่ายคลิปคนร้องกรี๊ดเพราะปฏิบัติการของเขาอย่างล้นหลาม แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเผลอโดนแฮ่ใส่อยู่ตลอด
เดวิดเป็นคนไร้บ้าน และที่จริงในรัฐที่อากาศดีอย่างแคลิฟอร์เนียนั้นจำนวนคนไร้บ้านอย่างเดวิดก็ดูจะเยอะมากมายและกระจายไปทั่วทั้งรัฐ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งไม่แปลก เพราะโฮมเลสส่วนใหญ่มักไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง หลายคนพเนจรร่อนเร่ไปตามที่ต่าง ๆ บางทีก็จะพบนั่ง (หรือเดิน) ขอเงินเล็กน้อยในเขตชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว
เคยมีคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “จำนวนโฮมเลสหรือคนไร้บ้านจะมีมากในรัฐที่อากาศอบอุ่น แต่จะมีเพียงน้อยนิดในรัฐที่หนาวเย็น”
“น้ำร้อน ปลาเป็น น้ำเย็น ปลาตาย” ถ้าได้ผจญหิมะพร้อมวินด์ชิลล์ไปสักรอบสองรอบจะรู้ว่าความหนาวเย็นที่แท้ทรูมันช่างโหดร้าย อุณหภูมิติดลบ ร่อนเร่ไปเรื่อย ไม่มีเชลเตอร์หรือที่หลบภัยหนาว อาจมีถึงหนาวตายเอาง่าย ๆ
และนั่นคือสาเหตุที่ทำไมเขตร้อนและเขตอบอุ่นจึงเป็นที่นิยมของเหล่าโฮมเลสและวณิพกพเนจร
ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ คิดเอาง่าย ๆ ยุงเป็นสัตว์เลือดเย็นซึ่งอยู่รอดไม่ไหวในอากาศหนาว และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ปัญหาจากยุงในเขตหนาวน้อยกว่าในเขตร้อนอย่างเห็นได้ชัด
ทว่าภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศแปรปรวนทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป พื้นที่ที่เคยหนาวก็อบอุ่นขึ้น การกระจายพันธุ์ของยุงที่เคยจำกัดอยู่แค่ในเขตร้อนก็ค่อย ๆ ขยายไปยังเขต (ที่เคย) หนาว กลายเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเพราะการรุกคืบเข้าถิ่นที่อาศัยใหม่อาจทำให้เกิดวิวัฒนาการของยุงสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาก็ได้
ถ้ามองที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกปัจจุบันเทียบกับที่ตั้งเป้าหมายไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) บอกได้เลยว่า “งานหยาบ” และ “งานยาว” แน่นอน
ในเวลานี้วงการระบาดวิทยาจึงสนใจมากกับการทดลองล้างบางยุงด้วยสารพัดเทคโนโลยีที่คิดว่าน่าจะลบสปีชีส์ของเจ้าแวมไพร์จิ๋วจอมแสบเหล่านี้ไปจากโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนด้วยยีน (gene drive) ทั้งของออกซิเทก (Oxitec) ทาร์เก็ตมาลาเรีย (Target Malaria) หรือเทคโนโลยีแมลงเป็นหมัน (sterile insect technology) เช่น โพรเจกต์โวลบสเคีย (Project Wolbachia) ดังที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วในตอนก่อน ๆ
แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ดูจะช่วยลดปริมาณยุงในแหล่งที่อยู่จริงในชุมชนได้อย่างน่าประทับใจ ทว่าปัญหาผลกระทบทั้งในเรื่องระบบนิเวศ การยอมรับของสังคม และปัจจัยอื่น ๆ ก็ยังเป็นที่ต้องค่อย ๆ ดูกันไปทีละเปราะ
ประเด็นคือปัญหาเรื่องยุงกระจายพันธุ์ในพื้นที่ใหม่เพราะโลกร้อนก็สาหัสแล้ว แต่ปัญหาเรื่องโรคระบาดจากยุงที่จะตามไปด้วยนี่สิหนักกว่า ที่จริงอาการคันคะเยอจากการบริจาคเลือดสงเคราะห์ยุงสาวนั้นเรื่องเล็ก นักวิจัยส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องโรคติดต่อจากยุงสู่คนมากกว่า อย่างเช่นไข้เลือดออกหรือไข้มาลาเรีย
สำหรับเทคโนโลยีแมลงเป็นหมันส่วนใหญ่จะเน้นการติดเชื้อแบคทีเรียโวลบาเคียในยุง ที่จะทำให้ไข่และอสุจิของยุงที่ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อผสมกันออกมาแล้วไม่สัมฤทธิผล ไม่สามารถให้ทายาทรุ่นต่อไปได้ ไอเดียง่าย ๆ คือ ถ้ามียุงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นตัวเมียหรือตัวผู้ติดโวลบาเคีย ถ้าผสมกับยุงที่ติดเชื้อ ยังไงก็ผสมไม่สำเร็จ หรือไม่ไข่ก็ฝ่อ ต้องเป็นยุงที่ติดโวลบาเคียด้วยกันเท่านั้นที่ผสมกันแล้วจะให้ลูกยุงรุ่นต่อไปได้
กลยุทธ์ในการควบคุมเผ่าพันธุ์ยุงจึงออกแบบมาง่ายๆ คือ “ยุทธศาสตร์กดประชากร” (suppression strategy) ซึ่งจะเน้นปล่อยยุงตัวผู้ (ที่กัดคนไม่ได้) ให้เข้าไปแย่งผสมกับยุงตัวเมียในธรรมชาติ ซึ่งท้ายที่สุดไข่ออกมาก็ฝ่อ ยิ่งปล่อยออกไปเยอะ ไข่ก็จะฝ่อเยอะ จำนวนยุงก็จะลดลงเรื่อย ๆ ในรุ่นต่อ ๆ ไป และต่อ ๆ ไป
ที่ดีคือไม่เพิ่มจำนวนยุงตัวเมียที่กัดคนได้ลงไปในภาคสนาม จึงไม่เพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชน เน้นปล่อยแค่ยุงตัวผู้ที่ติดโวลบาเคียลงไปแย่งผสมพันธุ์เท่านั้น พอผสมเสร็จไข่ก็ฝ่อไปเอง ท้ายสุดจำนวนยุงก็จะลดลงจนหมดไปเอง ทดลองแล้วทั้งในไทย สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์
สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (National Environment Agency) ได้เปิดเผยว่าจนถึงปัจจุบันพวกเขาได้ทยอยปล่อยยุงหนุ่มติดโวลบาเคียออกไปสู่เขตพื้นที่ทดลองต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 200 ล้านตัว
“การผลิตยุงในระดับยักษ์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะมากๆ ยังไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่สุกงอมและตอบโจทย์ที่เราจะซื้อหามาใช้ได้” เติง ลู่ (Deng Lu) นักวิจัยอาวุโสจากโพรเจกต์โวลบาเคียเผย “เราต้องพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์และเทคโนโลยีกันแบบเริ่มจาก 0”
เพื่อพัฒนาสายงานการผลิตยุงติดโวลบาเคีย รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มเงินลงไปแล้วกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 130 ล้านบาท “แต่ก็ยังไม่ใช่อะไรที่ง่าย” เติง ลู่ กล่าวต่อ จินตนาการว่าโรงงานยุงนี้จะต้องทั้งผลิต แยกเพศ แล้วเลือกแต่ตัวผู้ออกมาเท่านั้น
ในยุทธศาสตร์แบบแรกนี้มีประเด็นอ่อนไหวอยู่พอสมควร นั่นคือถ้ามียุงตัวเมียติดเชื้อโวลบาเคียหลุดออกไป งานจะเข้าทันที เพราะยุงติดโวลบาเคียจะขยายเผ่าพันธุ์ได้ในธรรมชาติถ้าเจอคู่ที่ติดเชื้อเหมือนกัน
แต่ในอีกหลายประเทศ ต้องบอกว่าคุมยุงเอาไม่อยู่ เลยต้องออกมาคุมเชื้อโรคร้ายแทน คือแทนที่จะกดประชากรให้ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนหมดไปเองแบบกลยุทธ์แรก แต่จะใช้วิธีแทนที่ประชากรยุงเดิมด้วยยุงติดโวลบาเคียที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อน้อยลงมาก ๆ แทน ซึ่งจะทำให้การระบาดโรคลดลงตามไปด้วย กลยุทธ์แบบแทนที่ (replacement strategy) นี้จะปล่อยยุงติดโวลบาเคียเข้าไปทั้งตัวผู้และตัวเมีย ให้พวกมันผสมพันธุ์กันได้ในธรรมชาติเพื่อแทนที่ประชากรยุงเดิมที่เคยก่อปัญหา
แม้จะฟังดูน่าสนใจ แต่วิธีนี้ก็ยังมีจุดอ่อนเช่นกัน นั่นคือต้องระวังวิวัฒนาการของเชื้อโรคที่ไม่รู้ว่าวันไหนจะเเจ็กพอตไปติดยุงติดโวลบาเคีย และทำให้ยุงติดโวลบาเคียสามารถระบาดโรคได้
ในสิงคโปร์ ไทย จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงไทยด้วย เริ่มมีการทดลองใช้ยุทธศาสตร์การกดประชากรไปบ้างแล้ว ในขณะที่ยุทธศาสตร์แบบแทนที่นั้นมีทดลองใช้แล้วในออสเตรเลีย บราซิล เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
เป็นที่น่าคิดนะ ถ้าประเทศที่อยู่ติดกันใช้กลยุทธ์แบบเเทนที่แล้วปล่อยยุงติดโวลบาเคียตัวเมียออกไปมากมาย แล้วอีกประเทศจะยังใช้กลยุทธ์แบบกดประชากรได้อีกไหม…
เพราะถ้ายุงสาวติดโวลบาเคียบินข้ามพรมแดนได้เมื่อไร กลยุทธ์แรกจะแป้กทันที !
ในสิงคโปร์ แม้จะเปิดตัวไปอย่างสวยงามในหลายพื้นที่ ลดจำนวนยุงได้จริง เห็นผลชัดเจน แต่ “โพรเจกต์โวลบาเคีย” กลับโดนแรงกระแทกกลับมาจากภาคสังคม
อยากรู้ต้องรอติดตามฉบับหน้าครับ