ประสบการณ์การทำวิจัย “ไข่น้ำ” ณ ศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีอวกาศของยุโรป (ESTEC)

เรื่องโดย วุฒิภัทร อินทร์ทองคำ


          ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชติดอันดับต้น ๆ ของโลก มีพืชหลายชนิดที่นำมารับประทานได้และหาได้ทั่วไปในธรรมชาติ โดยหนึ่งในพืชที่น่าสนใจและคนไทยนิยมที่มาประกอบอาหาร คือ ไข่น้ำ หรือ ไข่ผำ (watermeal) ซึ่งเป็นพืชดอกที่เล็กที่สุดในโลก เจริญเติบโตไว พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ

          ด้วยความโดดเด่นของต้นไข่น้ำโดยเฉพาะในแง่ของการเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ ทีมวิจัยโครงการ Watermeal, The Future Food Source for Space ได้เริ่มต้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชชนิดนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จากนั้นได้ส่งข้อเสนอโครงการและได้รับการสนับสนุนจากโครงการ HyperGES (Hypergravity Experiment Series) ของสำนักกิจการอวกาศแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UNOOSA และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ให้ดำเนินงานวิจัยเพื่อวิเคราะห์และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับไข่น้ำผ่านสภาวะแรงโน้มถ่วงสูง ณ European Space Research and Technology Centre หรือ ESTEC ประเทศเนเธอร์แลนด์ วันที่ 16-30 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งหากโครงการวิจัยประสบผลสำเร็จก็จะนับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านการเกษตรและเพาะปลูกในอวกาศ

          สำหรับการเดินทางไปร่วมวิจัยเพิ่มเติมที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้ ทีมวิจัยประกอบไปด้วยหัวหน้าโครงการ คืออาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ จากห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุชีวิน กรอบทอง นักวิจัยหลังปริญญาเอกของห้องปฏิบัติการ นายยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และตัวผมเอง นายวุฒิภัทร อินทร์ทองคำ นักศึกษาปริญญาตรีปีที่ 2 หลักสูตรพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมวิจัยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบการเจริญเติบโตและการตอบสนองของต้นไข่น้ำในสภาวะรุนแรง หากผลออกมาว่าต้นไข่น้ำเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่รุนแรงก็หมายความว่ามีโอกาสที่จะต่อยอดงานวิจัยไปสู่การสำรวจอวกาศลึกของมนุษย์ในอนาคต เช่น โครงการอาร์เทมิสที่จะส่งมนุษย์ไปลงสำรวจดวงจันทร์ก่อนมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางนานกว่า 2 ปี ไข่น้ำอาจมีบทบาทสำคัญในแง่ของการช่วยผลิตก๊าซออกซิเจนและเป็นแหล่งอาหารสำหรับนักบินอวกาศ

          การทดลองที่ทีมวิจัยเข้าร่วมเป็นการดำเนินงานทดลองภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงสูง 20 กราวิตี (gravity) ด้วยเครื่อง large diameter centrifuge (LDC) ที่ศูนย์ ESTEC ซึ่งเป็นศูนย์เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของ ESA ดูแลด้านการบินอวกาศของมนุษย์ โทรคมนาคม การนำทางด้วยดาวเทียม และการสังเกตโลก ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการที่พวกเราไปมีความเชี่ยวชาญทางด้าน space biology และ gravitational biology เป็นหลัก เช่น การวิจัยด้านเซลล์ในสภาวะแรงโน้มถ่วงสูง หน่วยงานอื่นใน ESTEC ยังมีส่วนในการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจภาคพื้นดาวอังคาร (ExoMars) และการพัฒนาจรวด

          หลังจากที่เราได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมโครงการ ก็วางแผนการทดลองและจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นร่วมกัน ทั้งนี้การศึกษาไข่น้ำในเครื่อง LDC ต้องมีอุปกรณ์จำเพาะ ห้องปฏิบัติการของเรา นำโดยพี่แม็ก นายชนสรณ์ ธนะพาสุข ได้ออกแบบร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ สวทช. เป็นกล่องเพาะเลี้ยงไข่น้ำที่ทนสภาวะแรงโน้มถ่วงสูงได้ การวางแผนการนั้นสำคัญมากเพราะเวลามีจำกัดและวางแผนการแบ่งสัดส่วนของพืชกลุ่มตัวอย่างกลับไทยเพื่อดำเนินการทดลองเพิ่มเติม นอกจากการเตรียมตัวเรื่องการศึกษาไข่น้ำแล้ว พวกเราก็ได้ศึกษาข้อมูลการเดินทาง วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์กันด้วย เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดก่อนออกเดินทางครับ

          เมื่อไปถึง ESA พวกเราได้เข้าหารือกับหัวหน้าห้องปฏิบัติการเพื่อเตรียมการทดลอง สำหรับการศึกษาการตอบสนองและการเจริญเติบโตของต้นไข่น้ำในสภาวะแรงโน้มถ่วงสูงเปรียบเทียบกับสภาะวะแรงโน้มถ่วงปกติ ปัจจัยที่เราตรวจสอบมีหลายด้าน ทั้งลักษณะทั่วไปและด้านโอมิกส์ ซึ่งได้สกัดและเก็บกลับมาวิเคราะห์ต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตรงส่วนของผลการวิจัยหลังจากที่เรากลับมาถึงประเทศไทย ถ้ามีโอกาสผมจะมาอัปเดตให้ทราบกันในบทความตอนต่อ ๆ ไปนะครับว่าเจ้าต้นไข่น้ำนั้นจะทำให้ความหวังของเราเป็นจริงหรือไม่ ระหว่างนั้นก็ติดตามกันได้ที่เฟซบุ๊ก PBA Lab-Mahidol University

          ประสบการณ์การเดินทางไปร่วมโครงการทดลองครั้งนี้ผมรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการได้เดินทางไปประเทศแถบยุโรปเป็นครั้งแรก การได้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างของชาวดัตช์นั้นเรียกว่าตื่นตาตื่นใจครับ ที่ ESA ทุกคนมีความรับผิดชอบสูงและทำงานจริงจังมาก ลักษณะการทำงานแตกต่างกับที่ประเทศไทย ทีมวิจัยเองจึงต้องปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็วเพราะเวลามีจำกัด การทดลองต้องมีแผนที่รัดกุมเพราะเวลาที่ทีมวิจัยได้รับในการใช้อุปกรณ์มีจำกัดมาก เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อผมได้เจอกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ผมเองก็ได้ถือโอกาสซึมซับความรู้และแนวคิดในการวางแผนงาน นับเป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจเอาไว้เป็นอย่างมากสำหรับการเข้าร่วมโครงการ HyperGES ในครั้งนี้ เมื่อมีเวลาว่างคนในทีมก็จะมานั่งประชุมเพื่อวางแผนงานขั้นตอนต่อไปเสมอ

          สำหรับวันพักผ่อน ผมมีโอกาสไปท่องเที่ยวตามเมืองต่าง ๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนอื่นเลยเมืองที่พวกเราพักอยู่คือ Noordwijk (นอร์ดเว็ค) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวติดทะเล มีชายหาดยาวและกว้างมากครับ ผู้คนในท้องที่มักจะพาสัตว์มาวิ่งเล่นและนั่งจิบอาหารริมทะเล ในวันต่อมาผมได้มีโอกาสไปเดินพิพิธภัณฑ์ Naturalis Biodiversity Center ที่เมือง Leiden (ไลเดิน) ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตและสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์

          ในช่วงบ่ายผมได้ไปเดินในสวนพฤกษศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศคือ Hortus Botanicus Leiden ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์จากทุกมุมโลก วันนี้ค่อนข้างที่จะเป็นวันที่ชุ่มฉ่ำเพราะฝนตก หลังจากชมสวนเสร็จแล้วก็มีโอกาสได้ไปลองชิมของดีของเด็ดประจำเนเธอร์แลนด์ เช่น ปลาเฮอริง ซึ่งเมนูนี้ค่อนข้างจะถูกปากพี่ ๆ ในทีม ชีสและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่นี่สดและคุณภาพดีมาก

          อีกหนึ่งความประทับใจอย่างมากสำหรับตัวผมเองคือความคลาสสิกของตึกรามบ้านช่องในเมืองไลเดิน ที่มีกลิ่นอายความเก่าแก่จากยุค ค.ศ. 1960-1990 เมืองไลเดินนี้เหมาะแก่การเดินเล่นและพักผ่อน เดินง่าย สะดวกสบาย สะอาดตา และดูเป็นระเบียบ เหนือสิ่งอื่นใดระบบการคมนาคมของเนเธอร์แลนด์ดีมากครับ ผู้คนส่วนใหญ่จะปั่นจักรยานเป็นหลัก มีช่องสำหรับจักรยานที่ครอบคลุม อีกทั้งระบบขนส่งสาธารณะก็มีคุณภาพ ตรงต่อเวลา และผู้คนมีความรับผิดชอบบนถนนจึงทำให้การเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างน้อย

          ประสบการณ์ตอนทำงานวิจัยและจากการเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้มีคุณค่ากับผมจริง ๆ การที่นักศึกษาปริญญาตรีคนหนึ่งจะได้เข้าร่วมกลุ่มวิจัยแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าตัวผมเองอยู่เฉย ๆ รอเวลาที่คนอื่นหยิบยื่นโอกาสให้ การวิ่งเข้าหาโอกาสและคนที่พร้อมจะช่วยผลักดันส่งเสริมนั้นเป็นสิ่งที่เราควรทำและต้องทำให้ดีด้วย ตัวผมเองได้รับโอกาสครั้งสำคัญนี้เป็นเพราะความความตั้งใจจริงของตัวเองที่อยากจะพัฒนาความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์จากนักวิจัยมืออาชีพ

          ปัจจุบันหลายประเทศในโลกกำลังแข่งขันการเป็นผู้นำด้านอวกาศ ทั้งเทคโนโลยีอวกาศ รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตร ประเทศไทยเราเองมีกลุ่มนักวิจัยที่กำลังนำเสนอถึงความเป็นไปได้และเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในอวกาศ แต่ยังไม่ได้รับแรงสนับสนุนมากพอ พวกเราจึงหวังว่าเด็ก ๆ ยุคใหม่และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะมาร่วมกันสร้างชุมชนงานวิจัยทางด้านชีววิทยาอวกาศให้เติบโตหรือพัฒนาได้แบบก้าวกระโดด

          สุดท้ายนี้ผมขอฝากความคิดเห็นไว้หนึ่งประเด็นว่า การเรียนวิทยาศาสตร์นั้นดูเหมือนยาก การทำงานวิจัยด้านชีววิทยาอวกาศยิ่งดูห่างไกลจากตัวเราพอสมควร แต่ถ้าหากเราได้ลองสัมผัสและรู้สึกสนุกไปกับโลกแห่งการค้นพบ ไม่นิ่งเฉย เราจะได้รับโอกาสที่นำพาไปค้นหาสิ่งเราอยากรู้ให้ลึกลงไปอีก ที่สำคัญความรู้และประสบการณ์นั้นเรานำมาใช้เพื่อพัฒนาตัวเองและประเทศชาติได้ ขอให้ทุกคนสนุกไปกับโลกแห่งการเรียนรู้นะครับ

About Author