ในขณะที่ต่างประเทศได้มีการถกเถียงในประเด็นทางด้านจริยธรรมที่คาดว่าจะเป็นปัญหาในโลกยุคเมตาเวิร์สกันอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมากนัก
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจำเป็นจะต้องมีการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวกันอย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางในการพิจารณาปัญหาในเชิงจริยธรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทในสังคมไทย
อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ รองคณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกยุคเมตาเวิร์สเปิดกว้างสำหรับทุกคนบนโลก โดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา แม้แต่ผู้ทรงศีล หรือ “พระ” ก็อาจท่องโลกเมตาเวิร์สได้ ตราบใดที่ยังไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงโลกเมตาเวิร์สของคนทุกกลุ่มได้อย่างง่ายดายนี้ ก็สามารถนำไปสู่ปัญหาทางจริยธรรมใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อนได้
ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคเมตาเวิร์ส ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ การมีทักษะถึงพร้อมด้านการใช้เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ “ความพร้อมทางด้านจิตใจ” มากกว่า
อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ จึงเห็นว่า เรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม คือ ปัญหาทางจริยธรรมใหม่ๆ ในอนาคต ที่จะนำไปสู่คำถามที่ว่า “เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่พร้อมแล้วหรือไม่ ที่จะก้าวสู่โลกเมตาเวิร์สอย่างปลอดภัยและสันติสุข”
โดยในต่างประเทศมีหลายตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อนำมาถกเถียงหาข้อสรุปในเชิงจริยธรรมกันอย่างแพร่หลาย เพื่อเตรียมพร้อม และสร้างแบบแผนการใช้งานในโลกเมตาเวิร์สร่วมกันอย่างปลอดภัย ทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ
หลักคิดสำคัญของจริยธรรมในโลกเมตาเวิร์ส คือ “การตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน”
แม้จะเกิดขึ้นผ่าน “ร่างอวตาร” (Avatar) ในโลกเสมือนจริง แต่เส้นบางๆ ของหลักคิดดังกล่าวอยู่ที่ สังคมไทยเราพร้อมที่จะให้ความสำคัญในเรื่องการ “เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน” มากน้อยแค่ไหน ในทุกวันนี้ และในอนาคต
นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นำมาตั้งเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาของวิทยาลัยฯ ได้เรียนรู้ เข้าใจ ตระหนัก และให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
โดยไม่แบ่งแยก หรือนำความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม มาสร้างความขัดแย้ง หรือเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้
ปัจจุบัน วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษา ทั้งที่เป็นฆราวาส และพระภิกษุสงฆ์ ได้ฝึกทักษะเพื่อการเตรียมพร้อม และปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
โดย วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้นักศึกษาในชั้นปีแรก ได้เริ่มต้นเรียนวิชาฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) และต่อยอดในปีที่ 2 ด้วยการเรียนและฝึกคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) จนเมื่อถึงชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยฯ จะฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ให้กับนักศึกษาด้วย
ส่วนในปีสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา นักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้ “ออกแบบโปรเจคจบ” และทำโปรเจคนั้นตามที่ตนเองสนใจและถนัด ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย ฝึกงาน หรือการทำจิตอาสา
นอกจากนี้ ยังได้มีการเพิ่มทักษะด้วยกิจกรรมเสริมในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวกับศาสนาให้กับนักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้ สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่ไม่ได้มีข้อกำจัดทางด้านอาชีพ โดย วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมฝึกทักษะให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาได้ค้นหาอาชีพที่ตนเองสามารถออกแบบ และหาโอกาสสร้างอาชีพใหม่ๆ จากองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากวิทยาลัยฯ
“ผู้ที่ยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยี” อาจไม่ได้หมายถึง “ผู้ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง” เสมอไป แต่ “ผู้ที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง” ย่อมมี “ภูมิต้านทานที่ดี” และเข้มแข็งกว่า”
จากคำพูดของ อาจารย์ ดร.ไพเราะ มากเจริญ ทำให้เห็นว่า การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ ก่อนที่โลกเมตาเวิร์สจะมาเยือนอย่างเต็มรูปแบบ ย่อมทำให้ลดปัญหาต่างๆ ลงได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเชิงจริยธรรมที่เรายังไม่มีมาตรฐาน หรือเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเข้ามาควบคุม หรือจัดการ และอาจจะส่งผลกระทบมาถึงโลกจริงของเราได้ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเยาวชนคนไทยรุ่นใหม่จะไปต่อในโลกเมตาเวิร์สได้เร็วหรือช้า แต่ทักษะเพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกยุคใหม่ที่ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมอบให้นักศึกษาดังกล่าวนี้ จะเป็นต้นทุนสำคัญสู่การสร้างโอกาสในการดำรงชีวิตในวันข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย และสันติสุขอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย
วรรณภา อินทรประเสริฐ
นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210