Headlines

นักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ : วิวัฒนาการและกลยุทธ์ของจระเข้ในประเทศไทย

เรื่องโดย AGB Research Unit Team


จระเข้เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการและความหลากหลายที่น่าสนใจ เชื่อหรือไม่ว่าตั้งแต่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของไดโนเสาร์ (ประมาณ 200 ล้านปีแล้ว) จระเข้อยู่รอดมาได้โดยไม่ต้องวิวัฒนาการเพิ่มเติม ?

จระเข้เป็นนักล่าชั้นยอดในพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความสามารถในการกินอาหารหลากหลายชนิด รวมถึงจระเข้ที่มีขนาดเล็กด้วย น้ำย่อยของจระเข้ถือว่าเป็นหนึ่งในน้ำย่อยที่ทรงพลังที่สุดในโลก ทำให้พวกมันย่อยอาหารได้แทบทุกประเภท อีกทั้งจระเข้ยังอยู่รอดได้โดยไม่ต้องกินอะไรเป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากระบบเมตาบอลิซึมของพวกมันมีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสารอาหารและยังเก็บพลังงานได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้จระเข้ยังเป็นสัตว์เลือดเย็น ซึ่งหมายความว่าพวกมันไม่จำเป็นต้องกินอาหารบ่อย ๆ เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย ทุกคุณสมบัติที่กล่าวมาทำให้จระเข้ไม่จำเป็นต้องวิวัฒนาการเพิ่มเติม เพราะธรรมชาติสร้างมันมาให้สมบูรณ์แบบตลอดระยะเวลา 200 ล้านปี

จระเข้ในประเทศไทยพบได้ 3 ชนิดตามถิ่นที่อยู่และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ได้แก่ จระเข้สยาม (จระเข้น้ำจืด) จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ทั้งหมดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งแต่ละชนิดมีรูปแบบการอยู่รอดที่แตกต่างกัน

จระเข้สยาม (จระเข้น้ำจืด) มีความสามารถในการอยู่รอดในน้ำจืด ความเชี่ยวชาญในการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมของน้ำจืด เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ หนองน้ำ โดยมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และมีลักษณะภายนอกโดยจำแนกตามปุ่ม หรือ post-occipital (P.O.) ซึ่งจระเข้สยามมีปุ่มที่หลากหลายตั้งแต่ 2 ปุ่ม (P.O.2) 3 ปุ่ม (P.O.3) และ 4 ปุ่ม (P.O.4) นอกจากนี้จระเข้สยามมักมีขนาดตัวที่เล็กกว่าจระเข้น้ำเค็ม ซึ่งทำให้ปรับตัวได้ดีในแหล่งน้ำที่มีขนาดเล็กและน้ำไหลไม่แรง ในเรื่องของการหาอาหารหรือล่าเหยื่อ จระเข้สยามมีพฤติกรรมการล่าที่หลากหลาย โดยกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมถึงปลาและสัตว์อื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า  การปรับตัวเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้จระเข้สยามอยู่รอดได้แม้ในช่วงฤดูแล้งที่น้ำลดลงและอาหารลดน้อยลง หรือในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 แหล่งที่พบเห็นจระเข้สยามได้ รวมทั้งตามอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ที่มีการรายงานจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

จระเข้น้ำเค็ม เป็นจระเข้ที่อยู่รอดในน้ำเค็มโดยอาศัยอยู่ในพื้นที่เช่น ปากแม่น้ำ ชายฝั่งทะเล และพื้นที่น้ำกร่อย ปัจจุบันไม่พบในแหล่งธรรมชาติและสูญหายไปจากธรรมชาติในประเทศไทย แต่ยังพบได้ตั้งแต่ภูมิภาคเอเชียใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศออสเตรเลียทางตอนเหนือ การปรับตัวที่สำคัญของจระเข้น้ำเค็มคือความสามารถในการจัดการกับเกลือในร่างกาย จระเข้น้ำเค็มเป็นจระเข้ที่ใหญ่ที่สุด มีพฤติกรรมการล่าที่ดุเดือด ล่าสัตว์ใหญ่ได้ทั้งในน้ำและบนบก และขยายพันธุ์ในพื้นที่น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ปรับตัวในแหล่งน้ำหลากหลาย

ตะโขง จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ แต่มีความแตกต่างในหลายด้าน โดยเฉพาะลักษณะของหัวที่เรียวยาวกว่าจระเข้ทั่วไป พบได้ในแหล่งน้ำจืด เช่น แม่น้ำ หนองน้ำ ทะเลสาบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย แต่ปัจจุบันตะโขงในธรรมชาติของประเทศไทยลดจำนวนลงอย่างมากจนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

แล้วจระเข้ลูกผสมล่ะเกิดได้อย่างไร มนุษย์นำจระเข้สยามกับจระเข้น้ำเค็มมาผสมกัน ทั้งสองชนิดสามารถผสมกันและให้ลูกได้ จึงเกิดจระเข้ลูกผสมเกิดขึ้น แล้วมันเป็นหมันหรือไม่ ? ทฤษฎีควรเป็นหมันเหมือนกรณีม้าผสมกับลา ได้ลูกผสมเรียกว่า ล่อ (ฬ่อ) แต่สาเหตุที่ทำให้มันเจริญพันธุ์ไม่ได้อาจเป็นผลจากจำนวนโครโมโซมหรือการไม่จับคู่ของโครโมโซมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถผลิตเซลล์สืบพันธุ์ที่สมบูรณ์ได้ มาดูกันว่ารายละเอียดโครโมโซม (แคริโอไทป์ (Karyotype)) จระเข้สยาม (จระเข้น้ำจืด) และจระเข้น้ำเค็มเป็นอย่างไร

          – จระเข้สยามมีจำนวนโครโมโซม 30 แท่ง หรือ 15 คู่ เขียนสัญลักษณ์ 2n = 30

          – จระเข้น้ำเค็มมีจำนวนโครโมโซม 34 แท่ง หรือ 17 คู่ เขียนสัญลักษณ์ 2n = 34

          – จระเข้ลูกผสมจึงมีจำนวนโครโมโซม 32 แท่ง หรือ 16 คู่ เขียนสัญลักษณ์ 2n = 32

ในกรณีนี้ทั้งรูปร่างและจำนวนโครโมโซมต่างกัน แต่พวกมันยังคงมีความใกล้เคียงกันพอสมควร เมื่อผสมพันธุ์จึงทำให้เกิดลูกหลานที่มีชีวิตและเจริญพันธุ์ได้ เพราะความเหมือนกันของโครโมโซม (chromosome homology) และจำนวนแขนของโครโมโซมอาจทำให้ขั้นตอนในการแบ่งเซลล์ไมโอซิสเป็นไปอย่างสมดุลได้ เหตุการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดกับจระเข้ชนิดอื่นในตระกูล Crocodylus ด้วยเช่นกัน เช่น จระเข้แม่น้ำไนล์ (Nile crocodile, Crocodylus niloticus)

อย่างไรก็ตามประเทศไทย รวมถึงในฟาร์มในประเทศไทย ไม่ส่งเสริมการผลิตจระเข้ลูกผสมใด ๆ เพื่อป้องกันการหลุดสู่ธรรมชาติ เข้าไปในระบบนิเวศของสัตว์ประจำถิ่นที่มีอยู่เดิม

คณะวิจัยจึงพัฒนาเครื่องมือสำหรับการตรวจสอบจระเข้โดยใช้รหัสพันธุกรรม (DNA) ที่ช่วยระบุชนิดของจระเข้ได้ถูกต้องแม่นยำที่สุด เพื่อสนับสนุนข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้สยาม (จระเข้น้ำจืด) จากเป็นชนิดที่อยู่ในบัญชี 1 (Appendix I) ตามบัญชีท้ายอนุสัญญา CITES มาอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II) ผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงตรวจสอบพันธุกรรมจระเข้สยามก่อนนำไปคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่อาศัยอยู่เดิม หรือเคยมีจระเข้สยามอาศัยอยู่

 

          สุดท้ายนี้ “การศึกษาเรื่องจระเข้สยาม (น้ำจืด) จระเข้น้ำเค็มและจระเข้ลูกผสม” ไม่เพียงแค่ช่วยให้เราเข้าใจลักษณะเฉพาะของจระเข้แต่ละชนิด แต่ยังทำให้เราทราบถึงกลยุทธ์การอยู่รอดที่แตกต่างกัน รวมทั้งการปรับตัวที่ช่วยให้มันอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ การศึกษาเหล่านี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์และรักษาสมดุลของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับจระเข้ในธรรมชาติ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • Panthum, T., Ariyaraphong, N., Wongloet, W., Wattanadilokchatkun, P., Laopichienpong, N., Rasoarahona, R., … & Srikulnath, K. (2023). Preserving pure Siamese crocodile populations: a comprehensive approach using multi-genetic tools. Biology, 12, 1428.
  • Ariyaraphong, N., Wongloet, W., Wattanadilokchatkun, P., Panthum, T., Singchat, W., Thong, T., … & Srikulnath, K. (2023). Should the identification guidelines for Siamese crocodiles be revised? differing post-occipital scute scale numbers show phenotypic variation does not result from hybridization with saltwater crocodiles. Biology, 12, 535.
  • Srikulnath, K., Thapana, W., & Muangmai, N. (2015). Role of chromosome changes in Crocodylus evolution and diversity. Genomics & Informatics, 13, 102.
  • Kawagoshi, T., Nishida, C., Ota, H., Kumazawa, Y., Endo, H., & Matsuda, Y. (2008). Molecular structures of centromeric heterochromatin and karyotypic evolution in the Siamese crocodile (Crocodylus siamensis)(Crocodylidae, Crocodylia). Chromosome research, 16, 1119–1132.
  • กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์. (2565). ประเทศไทยเตรียมเสนอ “ปรับบัญชี CITES จระเข้น้ำจืดของไทยจากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2” ต่อที่ประชุม CITES CoP19 หลังครม. ไฟเชียวเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการการค้าจระเข้ไทย…ผงาดในตลาดโลก. กรมประมง กรุงเทพฯ.

About Author