เรื่องใกล้ตัว: กุญแจความสำเร็จของทฤษฎีวิวัฒนาการ

เรื่องโดย
ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ


 

          เมื่อเริ่มได้รู้จัก ชาลส์ ดาร์วิน หลายคนอาจคิดว่าทฤษฎีวิวัฒนาการคงถูกปรุงขึ้นด้วยวัตถุดิบทางความคิด จากการเดินทางไปกับเรือบีเกิ้ลนานกว่า 5 ปี แต่ในความเป็นจริงนั้น การพัฒนาความคิด และการทดลองเพื่อยืนยันสมมุติฐานต่าง ๆ กลับเกิดขึ้นในบริเวณบ้านหลังเล็ก ๆ กลางทุ่งเลี้ยงม้า ที่ซึ่งดาร์วินใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเวลาเกือบ 40 ปี และไม่เคยเดินทางไกลเกินกว่าการไปประชุมทางวิชาการในกรุงลอนดอน จนวาระสุดท้าย


(ภาพบ้านของ ชาลส์ ดาร์วิน จาก https://www.researchgate.net/)

          ในปี ค.ศ. 1842 หลังกลับมาจากการล่องเรือบีเกิ้ลไม่กี่ปี ชาลส์ ดาร์วิน ได้ตัดสินใจซื้อบ้านไม้สองชั้น ในหมู่บ้าน Down เขตเมือง Kent ซึ่งห่างจากกรุงลอนดอนราว 60 ไมล์ บ้านของเขาแม้เป็นบ้านเก่าแต่สวยงามตามแบบบ้านคนมีฐานะในชนบท แวดล้อมด้วยทุ่งหญ้าชื่อ Great Puck lands ซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้พื้นเมืองสีสวยงาม และดาร์วินเองก็มีแปลงปลูกดอกไม้ ผลไม้และผักสวนครัวไว้ทดลอง และใช้บริโภคกันในครอบครัวด้วย จากบันทึกของเอ็มม่าคู่ชีวิตของดาร์วินบรรยายไว้ว่า

          เขารักบ้านหลังนี้มาก และคิดว่าตนเองติดเชื้อโรคมาจากอเมริกาใต้ทาให้รู้สึกไม่สบายอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดาร์วินไม่นิยมเดินทางไกล แต่จะใช้วิธีเชิญเพื่อนนักวิทยาศาสตร์มาสังสรรค์ที่บ้าน หรือเขียนจดหมายโต้ตอบแนวความคิดกับคนในวงการธรรมชาติวิทยาอย่าง Alfred Russell Wallace ผู้ที่ประกาศแนวความคิดเรื่องวิวัฒนาการในเวลาใกล้เคียงกัน Joseph Hooker ผู้อานวยการสวนพฤษชาติ Kew ที่ปรึกษาด้านพฤษศาสตร์ Charles Lyell ที่ปรึกษาด้านธรณีวิทยา หรือ Thomas Henry Huxley ผู้มีแนวความคิดใกล้เคียงกัน และมักจะปกป้องแนวความคิดพลิกประวัติศาสตร์โลกของดาร์วินจนได้ชื่อว่า “Darwin Bulldog”

          ชีวิตของดาร์วินมักเริ่มต้นจะจบลงเหมือน ๆ กันทุกวัน คือ เขามักตื่นราวเจ็ดโมงเช้า เพื่อเดินใช้ความคิดตามทางเดินที่โรยกรวดข้างคอกเลี้ยงม้า ระหว่างนั้นก็จะแวะสังเกตแมลง ดอกไม้ และเมล็ดพืชในทุ่งหญ้าใกล้บ้าน เมื่อกลับมาทานอาหารเสร็จราวแปดโมง เขาจะออกไปที่แปลงปลูกพืช และเรือนกระจกเพื่อบันทึกผลการทดลอง และเอนหลังพักสักชั่วโมงด้วยเสียงเปียโนของภรรยา ก่อนที่จะเข้าไปนั่งเขียนบันทึกในห้องทำงานที่เต็มไปด้วยตำรา กล้องจุลทรรศน์ แว่นขยาย ตัวอย่างสิ่งมีชีวิต และก้อนแร่ธาตุ

          จนถึงเที่ยงวันเวลาทำงานจะหยุดลงชั่วคราวจนถึงช่วงเวลาหลังอาหารกลางวัน หลังจากพักอ่านหนังสือพิมพ์ ดาร์วินจะเข้าไปนั่งตอบจดหมายในบนโต๊ะตัวเล็ก ๆ ในห้องบิลเลียดจนถึงช่วงบ่ายสามก็จะวางปากกา และหันมาเล่นหมากกระดาน หรือนั่งฟังภรรยาอ่านนิยายจนถึงเวลาเย็น ครอบครัวดาร์วินมักนั่งสังสรรค์กันในห้องบิลเลียดจนถึงเวลาราวสามทุ่มไฟในบ้านจะดับลง นั่นคือสัญญาณการสิ้นสุดชีวิตประจำวันของนักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเรียบง่ายอย่างครอบครัวคนอังกฤษทั่ว ๆ ไป

          แต่ชีวิตที่ดูเหมือนธรรมดากลับไม่ธรรมดา ด้วยสายตาที่มองสิ่งรอบตัวอย่างแตกต่างออกไป การสังเกตความหลากหลายของกล้วยไม้ และความจำเพาะของแมลงที่ช่วยผสมพันธุ์ ได้แสดงในงานเขียนเรื่อง ‘On the Various Contrivances by which British and Foreign Orchids and fertilized by Insects (1862)’ และ ‘The Effects of Cross and Self Fertilization in the Vegetable Kingdom (1876)’

          นอกจากกล้วยไม้แล้ว ดอกไม้ชื่อดังในงานเขียนของดาร์วินคงหนีไม่พ้นดอกพริมโรส และดอกลิ้นมังกร ซึ่งเขาเป็นคนแรก ๆ ที่พยายามอธิบายรูปร่างที่มีความหลากหลายของดอกไม้ชนิดเดียวกันซึ่งมีผลต่อการผสมพันธุ์ในงานเขียนเรื่อง ‘The Different Forms of Flowers on Plants of the Same Species (1877)’


(ภาพจาก https://www.cambridge.org)

          การทดลองที่น่าทึ่งอีกงานหนึ่งในเรือนกระจกส่วนตัวของดาร์วิน คือ การสังเกตการเติบโต และแหล่งอาศัยของไม้เลื้อย ซึ่งเขาใช้ก้อนขี้ผึ้งก้อนเล็ก ๆ เสียบลงบนผมของลูกสาว แล้วนำไปแปะบนยอดอ่อนของใบเลี้ยงพืชตั้งแต่วันแรกของการงอก เพื่อบันทึกรูปแบบการเคลื่อนไหวของยอดอ่อนของพืชกว่าพันชนิดด้วยตำแหน่งเงาของก้อนขี้ผึ้งที่ตกลงบนฝาผนัง ซึ่งแสดงในงานเขียนเรื่อง ‘The Movement and Habits of Climbing Plants (1864)’

          คอกม้าและกรงนกพิราบหลังบ้าน อาจจะไม่มีความหมายกับทฤษฎีวิวัฒนาการ หากเขาไม่เคยสังเกตรูปร่างของสัตว์เลี้ยงอย่างนกพิราบ ม้า และวัว จนเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เลี้ยงด้วยอำนาจการคัดเลือกความแตกต่างด้วยคนใน ‘Variation of animals and plants under domestication (1868)’ และการสังเกตพฤติกรรมคน และสัตว์รอบตัวที่สนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ก็แสดงในบทความ ‘The Expression of the Emotions in Man and Animals (1872)’ ซึ่งในเรื่องความสนใจในเรื่องพฤติกรรมสัตว์ เขาเคยทดลองเล่นเปียโนในห้องนั่งเล่น เพื่อพิสูจน์การตอบสนองของไส้เดือนต่อแรงสั่นสะเทือนในหนังสือ ‘The formation of vegetable mould through the action of worms (1881)’

          เมื่อมุมมองจากสิ่งที่สังเกตได้ใกล้ ๆ ตัว สะสมมาจนถึงจุดที่ดาร์วินตัดสินใจสรุปเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมุมมองของชีวิตที่ดำรงอยู่ และสืบทอดเผ่าพันธุ์ด้วยความแปรผันอย่างหลากหลาย (Variation) ที่ต้องผ่านด่านการทดสอบความแข็งแกร่งต่อสิ่งแวดล้อม (Natural selection) ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นลักษณะที่ปรับตัวได้ดีที่สุดและอยู่รอดได้ (Survival of the Fittest) เรื่องราวเหล่านี้ล้วนถูกบรรยายไว้ใน ‘The Origin of Species (1859)’ ที่ส่วนประกอบในบทต่าง ๆ ล้วนแต่ใช้ตัวอย่างหลักมาจากพืชและสัตว์ที่คนปลูกและเลี้ยงไว้ใกล้ตัวทั้งสิ้น เช่น ในบทที่ 1 Variation Under Domestication นั้น ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืช และสัตว์ที่มนุษย์เป็นผู้คัดเลือก ในบทที่ 2 Variation Under Nature นั้น ว่าด้วยเรื่องพันธุ์พืชและสัตว์ในธรรมชาติ ซึ่งต้องต่อสู้เพื่อการอยู่รอดดังอธิบายในบทที่ 3 Struggle for Existence และถูกคัดเลือกด้วยพลังของธรรมชาติซึ่งอธิบายไว้ในบทที่ 4 Natural Selection ซึ่งต้องอาศัยความหลากหลายของการแปรผัน หรือ Laws of Variation ในบทที่ 5 เป็นต้น

(ภาพ Down House จาก https://www.flickr.com/photos/tedesco57/14381146439/)

          ในปัจจุบัน Down House และสวนอันเป็นเป็นวัตถุดิบชั้นยอดในการก่อร่างสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ เมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก จนได้รับการบูรณะและจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นตั้งแต่ปี 1929 จนเมื่อปี 1997 รัฐบาลอังกฤษได้คัดเลือกให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒธรรมของชาติ และล่าสุดในปี 2007 องค์การ UNESCO ได้ยกระดับให้บ้านดาร์วินเป็นมรดกโลก โดยภายในบ้านชั้นล่างมีการจาลองการใช้ชีวิตของดาร์วินอย่างครบถ้วน ทั้งห้องนั่งเล่นที่ดาร์วินใช้พักผ่อนและเล่นเปียโนเพื่อทดลองการตอบสนองของไส้เดือนริมหน้าต่าง ห้องทำงานที่ดูเคร่งขรึมด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่เขาเคยใช้ ห้องบิลเลียดที่ให้ตอบจดหมายและรับรองนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังหลายคน และห้องอาหารที่มีภาพครอบครัวของดาร์วินตั้งแต่ปู่จนถึงลูกชายที่เป็นแรงบันดาลใจและแรงสนับสนุนการทำงานของเขา ชั้นบนถูกจัดให้เป็นนิทรรศการชีวประวัติของดาร์วิน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน รวมถึงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่ถูกรวบรวมมาจากเรือบีเกิ้ล

          จุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือส่วนนอกตัวบ้านซึ่งเสมือนห้องทดลองที่สำคัญที่สุดของชาลส์ ดาร์วิน ซึ่งประกอบด้วย เรือนกระจกที่ถูกจำลองการทดลองของเขาอย่างน่าทึ่ง แปลงดอกไม้ และผักสวนครัวก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับลานเลี้ยงไส้เดือนที่ลูกชายคนโตของดาร์วิน นำปูนมาโบกไว้เพื่อช่วยพ่อทำงานวิจัย ส่วนทางเดินโรยกรวด (Sand walk) ที่ดาร์วินต้องออกไปเดินทุกเช้าถูกเรียกว่า ‘Thinking path’ หรือ หนทางนักคิด ราวกับจะเป็นนัยว่า หากใครไปเดินก็อาจจะมีสายตามองเห็นถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสรรพชีวิตใกล้ ๆ ตัวจนสร้างทฤษฎีเขย่าโลกอย่างดาร์วินได้บ้าง ซึ่งหากวันนี้ใครอยากลองตามรอยดาร์วิน ทางมูลนิธิ Kent Wildlife Trust ได้จัดเส้นทาง Darwin Step feet ไว้ถึง 3 เส้นทางเพื่อเดินสารวจสิ่งมีชีวิตในทุ่งหญ้ารอบบ้านดาร์วินซึ่งถูกยกฐานะเป็น Downe Bank หรือธนาคารสมองของชุมชนที่น่าภาคภูมิยิ่ง

          ชาลส์ ดาร์วิน ซึ่งบัดนี้หลับใหลอย่างสงบอยู่ในสุสานหลวงกลางกรุงอังกฤษซึ่งถือเป็นการยกย่องอย่างสุงสุด คงไม่สามารถกลายเป็นผู้นำความคิดแก่คนรุ่นหลังได้ หากละทิ้งการจดจ้องสิ่งรอบตัวซึ่งล้วนแต่มีคำตอบของธรรมชาติ รอเพียงให้กุญแจแห่งความคิดมาถอดรหัส เพื่อเปิดเผยความจริงที่ว่า องค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้อาศัยการเดินทางไกลกว่าครึ่งโลก แต่กลับอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่ใครจะคาดคิด

About Author