ม.มหิดลชี้ทาง‘ออกกำลังกายต้านโรคภูมิแพ้’

อาการ “ภูมิแพ้” มักเป็น “ส่วนเกิน” จากทุกโรค วิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงที่เห็นผลได้ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันการสัมผัสต่อสิ่งเร้าที่จะก่อให้เกิดอาการเพิ่มขึ้น แต่คือ “การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอ” เพื่อทำร่างกายให้แข็งแรงต่อสู้โรคดังกล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เสาเวียง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงงานวิจัยด้านวิทย์กีฬาที่แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อดูการทดลองใน 8 สัปดาห์

โดยกำหนดให้กลุ่มที่ 1 ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอเพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ไม่ออกกำลังกายเลย และกลุ่มที่ 3 ออกกำลังกายพร้อมรับประทานวิตามินซี พบว่ากลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 ได้ผลดีเท่ากัน จึงได้นำมาสู่บทสรุปให้เห็นถึงผลดีของการออกกำลังกาย ซึ่งจะเกิดขึ้นจนกลายเป็นนิสัยเมื่อทำติดต่อกันได้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เสาเวียง ได้มอบ “สูตรการออกกำลังเพื่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย” โดยวัดจากอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดขณะออกกำลังกาย ใช้สูตร 220 ลบด้วยอายุ เช่น หากอายุ 20 ปี ใช้ 220 – 20 = 200 ถือเป็นความหนักสูงสุด (หนัก 100%) โดยความหนักที่เหมาะสมเพื่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายจะอยู่ที่ความหนัก 60 – 80 % หรือขณะออกกำลังกาย มีอาการหอบเล็กน้อย และยังพูดเป็นประโยค ถาม – ตอบได้

ทั้งนี้ หากออกกำลังกายหนักเกินไป จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นมากจนเกินไปขณะออกกำลังกาย พอหยุดพักภูมิคุ้มกันจะตกลงเป็นระยะเวลาประมาณ 3 – 72 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น ทำให้เป็นหวัด ติดเชื้อได้ง่าย

ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสมและได้ผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายอย่างต่อเนื่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา เสาเวียง ได้แนะนำให้ออกกำลังกายประเภทแอโรบิกที่ความ “หนักปานกลาง” 3 – 5 ครั้ง/สัปดาห์ นานครั้งละ 30 – 60 นาที เช่น
“วิ่ง – ว่าย – พาย – ปั่น“ ซึ่งหากทำได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายแล้ว ยังช่วยทำให้น้ำหนักส่วนเกินลดลงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ หากระหว่างการออกกำลังกายมีอาการปากบวมเจ่อ คลื่นไส้ หลอดลมตีบ ตลอดจนความดันโลหิตต่ำลง ฯลฯ ควรหยุดพักพ่นยา หรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นก่อน

และหากเกิดอาการรุนแรงโดยไม่มียา ควรช่วยเหลือด้วยการให้ผู้มีอาการดังกล่าวหยุดออกกำลังกาย นอนพักโดยยกขาสูง เพื่อให้เลือดหล่อเลี้ยงสมอง และป้องกันอาการหัวใจล้มเหลว ก่อนเรียกรถพยาบาลส่งถึงมือแพทย์

นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมและเพียงพอจะช่วยทำให้ร่างกายลดความไวต่อ “สารฮีสตามีน” ซึ่งทำให้ความไวต่อสิ่งกระตุ้นโรคภูมิแพ้ลดลง ทำให้อาการภูมิแพ้บรรเทาลงนั่นเอง แม้แต่ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ตั้งแต่กำเนิด หากรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการอย่างเคร่งครัด และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จะทำให้มีร่างกายที่แข็งแรงพร้อมสู้โรค เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันร่างกายสูงขึ้น และจะทำให้สามารถพัฒนาสมรรถภาพสู่การเป็นนักกีฬามืออาชีพเช่นเดียวกับคนทั่วไปได้ต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author