Headlines

เปิดโลกนิทานดาว: กลุ่มดาวสิงโต ที่มาของเดือนสิงหาคม

โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองนีเมีย (Nemea) ประเทศกรีซ (Greece) มีสิงโตวิเศษตัวหนึ่ง ขนเป็นสีทอง อาวุธใดไม่อาจทำอันตรายได้ กงเล็บของมันคมกว่าดาบ และสามารถตัดเกราะได้ทุกชนิด

          เจ้าสิงโตตัวนี้ออกไปจับตัวหญิงสาวในเมืองมาไว้ในถ้ำ เพื่อล่อให้คนมาช่วยหญิงสาว แต่ไม่มีใครสามารถช่วยได้ แถมยังถูกฆ่าตายกลายเป็นอาหารสิงโตแทน

เฮราคลีสสู้กับสิงโตนีเมียบนเหยือกอายุประมาณ 2,560 ปี ปัจจุบันเหยือกนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) ประเทศฝรั่งเศส
ที่มาภาพ Wikipedia: Heracles

          วันหนึ่งมีชายชื่อ เฮราคลีส (Heracles) ได้รับมอบหมายภารกิจให้มาสังหารสิงโตตัวนี้ เมื่อเจอสิงโตเฮราคลีสใช้ธนูยิงใส่ แต่ลูกศรไม่อาจทำอันตรายสิงโตได้

          เฮราคลีสจึงล่อสิงโตเข้าไปในถ้ำ สิงโตกระโจนใส่เฮราคลีส แต่เฮราคลีสจับขาสิงโตไว้ แล้วหักหลังสิงโต ทำให้สิงโตเสียชีวิต แล้วช่วยหญิงสาวที่ถูกสิงโตจับขังออกมา

          เฮราคลีสยังพยายามแล่หนังสิงโต แต่มีดของเขาไม่สามารถทำได้ เขาจึงใช้กรงเล็บของสิงโตเองแล่หนังออกมาใส่เป็นเสื้อคลุมป้องกันอาวุธต่าง ๆ

          เทพเจ้าซูส (Zeus) ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์และเป็นพ่อของเฮราคลีสอยากให้มีอนุสรณ์รำลึกถึงเรื่องนี้จึงให้สิงโตไปอยู่บนท้องฟ้า

          ชื่อ เฮราคลีส เป็นภาษากรีก ส่วนภาษาละตินหรือภาษาของคนโรมันเรียกว่า เฮอร์คิวลีส (Hercules)

          ซูสในภาษาละตินคือ จูปิเตอร์ (Jupiter) หรือดาวพฤหัสบดี

          กลุ่มดาวสิงโต (Leo) เป็นกลุ่มดาวโบราณมาตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) เมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อน

          คำว่า Leo เป็นภาษาละติน ที่มาของภาษาอังกฤษว่า lion

แผนที่ดาว วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 18:41 น. (ดวงอาทิตย์ตกที่กรุงเทพฯ) จะเห็นดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโต
ที่มาภาพ แอป SkyPortal 3.3.1.1, iPhone SE (2nd generation), iOS 13.6

          กลุ่มดาวสิงโตเป็น 1 ใน 12 กลุ่มดาวจักรราศี (zodiac) ที่ดาวที่เป็นชื่อวันในสัปดาห์โคจรผ่าน คือ ดวงอาทิตย์ (Sun), ดวงจันทร์ (Moon), ดาวอังคาร (Mars), ดาวพุธ (Mercury), ดาวพฤหัสบดี (Jupiter), ดาวศุกร์ (Venus) และดาวเสาร์ (Saturn)  

          12 กลุ่มดาวจักรราศีเป็นที่มาของเดือน 12 เดือน สำหรับกลุ่มดาวสิงโตคือกลุ่มดาวประจำเดือนสิงหาคม เนื่องจากในเดือนสิงหาคมดวงอาทิตย์จะเข้ามาอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต (เดือนสิงหาคมเราจะไม่เห็นกลุ่มดาวสิงโตเพราะดวงอาทิตย์อยู่ตรงนั้น)

          ภาษาอังกฤษของเดือนสิงหาคมคือ August มาจากชื่อจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) ของโรมัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อเดือนสิงหาคม
ที่มาภาพ วิกิพีเดีย: https://th.wikipedia.org

          ส่วนคำว่า “สิงหาคม” ตั้งโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อ พ.ศ. 2432 มาจากคำว่า สิงห์ + อาคม (การมาถึง) แปลว่า การมาถึงราศีสิงห์ หรือ การมาถึงกลุ่มดาวสิงโต

          เดือนของไทยเดิมใช้ดวงจันทร์เป็นหลักหรือเรียกว่า จันทรคติ เรียกชื่อเดือนตามลำดับเลข คือ เดือนอ้าย (1), เดือนยี่ (2), เดือนสาม, เดือนสี่ จนถึงเดือนสิบสอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ใช้เดือนแบบสากลที่ใช้ดวงอาทิตย์เป็นหลักหรือเรียกว่า สุริยคติ โดยเรียกชื่อเดือนตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคิดไว้ และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

          คนไทยรู้จักกลุ่มดาวสิงโตมากขึ้นในปี 2541 เมื่อมีข่าวพายุฝนดาวตกสิงโต (Leonids) ในปีนั้น

          ฝนดาวตก (meteor shower) คือ ปรากฏการณ์ที่เราเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากจุดใดจุดหนึ่งบนท้องฟ้า ฝนดาวตกสิงโตคือเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากกลุ่มดาวสิงโต เกิดขึ้นทุกปี สำหรับปีนี้ฝนดาวตกสิงโตจะมีมากที่สุดวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 05:30 น. มีดาวตก 10-20 ดวงต่อชั่วโมง

พายุฝนดาวตกสิงโตในปี ค.ศ. 1833 จากหนังสือ Bible Readings for the Home Circle (ภาพทำ ในปี ค.ศ. 1889 หลังเหตุการณ์)
ที่มาภาพ Wikipedia: Leonids

          พายุฝนดาวตก (meteor storm) คือฝนดาวตกที่มีดาวตกมากกว่า 1,000 ดวงต่อชั่วโมง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1833 เคยเกิดพายุฝนดาวตกสิงโต ประมาณว่ามีดาวตกมากกว่า 34,640 ดวงต่อชั่วโมง หรือมากกว่า 2 แสนดวงในคืนนั้น นับเป็นฝนดาวตกที่มีดาวตกมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจที่จะศึกษาเรื่องฝนดาวตกในเวลาต่อมา

          พายุฝนดาวตกสิงโตจะมีทุก 33 ปี ครั้งล่าสุดคือปี พ.ศ. 2544 มีดาวตก 3,000 ดวงต่อชั่วโมง

ฝนดาวตกเพอร์เซียส เมื่อปี ค.ศ. 2016 ที่สหรัฐอเมริกา โดย Brad Goldpaint
ที่มาภาพ NASA: Astronomy Picture of the Day (APOD)

          ในเดือนสิงหาคมก็มีฝนดาวตกที่น่าสนใจคือ ฝนดาวตกเพอร์ซีอัส (Perseids) หรือฝนดาวตกวันแม่ เพราะมักมีมากที่สุดในวันแม่ 12 สิงหาคม สำหรับปีนี้เป็นเวลา 20:00-23:00 น. มีดาวตก 110 ดวงต่อชั่วโมง

          กลุ่มดาวสิงโตเป็นกลุ่มดาวที่หาง่ายเนื่องจากประกอบด้วยดาวสว่างที่อาจเห็นได้แม้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวสิงโตคือ ดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกิวลัส (Regulus) หรือชื่อทางการคือ Alpha Leonis คำว่า Regulus เป็นภาษาละติน แปลว่า เจ้าชาย

          ดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกิวลัสนี้อยู่ใกล้เส้นสุริยวิถี (ecliptic) คือเส้นทางเดินของดวงอาทิตย์ ดังนั้นเราอาจใช้ดาวหัวใจสิงห์ช่วยหาเส้นสุริยวิถีบนท้องฟ้าได้

          เราสามารถมองหากลุ่มดาวสิงโตจากแผนที่ดาวหรืออาจใช้แอปดูดาวซึ่งมีหลายแอปทั้งฟรีและเสียเงิน ในที่นี้ขอแนะนำแอป SkyPortal ดาวน์โหลดฟรี ภาพสวย ใช้งานง่าย มีข้อมูลดาวมากถึง 120,000 ดวง ใช้ได้ทั้งระบบ Android และ iOS


อ้างอิง

  1. Wikipedia: Leo (constellation) https://en.wikipedia.org/wiki/Leo_(constellation)
  1. ปฏิทินฝนดาวตกปี 2020 (2020 Meteor Shower Calendar) โดย องค์การอุกกาบาตสากล (International Meteor Organization ย่อว่า IMO) https://www.imo.net/files/meteor-shower/cal2020.pdf

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 89 เดือนสิงหาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/188074

About Author