โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ขณะที่เทพธิดา เพอร์เซโฟนี (Persephone) กำลังเก็บดอกไม้อยู่ในทุ่งอยู่นั้น เฮดีส (Hades) เทพเจ้าแห่งโลกบาดาลใต้ดิน ได้ขึ้นมาฉุดเพอร์เซโฟนีลงไปโลกบาดาล
แม่ของเพอร์เซโฟนีคือ ดิมีเตอร์ (Demeter) เทพีแห่งการเกษตร โกรธมาก จึงสาปให้แผ่นดินแห้งแล้ง ทำให้มนุษย์อดอยากลำบากกันไปทั่ว
บรรดาเทพเจ้าต่าง ๆ ต่างพากันมาขอร้องเทพีดิมีเตอร์ให้ถอนคำสาป เทพีดิมีเตอร์จึงบอกว่า จะถอนคำสาปก็ต่อเมื่อเธอได้พบหน้าเพอร์เซโฟนีลูกสาวเธอเท่านั้น
เทพเจ้าซูส (Zeus) ผู้เป็นราชาแห่งเทพเจ้าทั้งหลายและยังเป็นพ่อของเพอร์เซโฟนี จึงส่งเฮอร์มีส (Hermes) เทพเจ้าแห่งการสื่อสารเดินทางไปหาเฮดีสที่โลกบาดาล และขอร้องให้เฮดีสปล่อยตัวเพอร์เซโฟนีกลับไปหาแม่
เฮดีสตกลงยอมให้เพอร์เซโฟนีกลับไปหาแม่ได้ แต่ก่อนจะไป เฮดีสยื่นเมล็ดทับทิมและขอร้องให้เพอร์เซโฟนีกิน เพอร์เซโฟนีจึงจำใจหยิบเมล็ดทับทิมมากิน
เฮดีสเห็นเพอร์เซโฟนีกินเมล็ดทับทิมแล้วก็พาเพอร์เซโฟนีขึ้นมาส่ง เมื่อแม่ลูกได้เห็นหน้ากันต่างก็วิ่งเข้ามาสวมกอดด้วยความดีใจ
เทพีดิมีเตอร์ถามเพอร์เซโฟนีว่า
“ตอนอยู่โลกบาดาลนั้นลูกได้กินอะไรเข้าไปบ้างหรือเปล่า?”
“ได้กินเมล็ดทับทิมจ้ะแม่” เพอร์เซโฟนีตอบ
เทพีดิมีเตอร์ทำหน้าตกใจ แล้วรีบถามว่า “กินเข้าไปกี่เมล็ดลูก?”
“4 เมล็ดจ้ะแม่”
เทพีดิเตอร์ทำหน้าโล่งอกขึ้นมานิดนึง แล้วบอกเพอร์เซโฟนีว่า “เมล็ดทับทิม 1 เมล็ดคือระยะเวลา 1 เดือนที่เจ้าต้องกลับลงไปอยู่ในโลกบาดาลกับเฮดีสในแต่ละปี เจ้ากินไป 4 เมล็ด ก็เท่ากับ 4 เดือน หมายความว่า ต่อไปนี้ทุก ๆ ปี เจ้าจะอยู่โลกบาดาล 4 เดือน และได้มาอยู่กับแม่บนนี้ 8 เดือน”
นับจากนั้นเป็นต้นมา ช่วงเวลา 4 เดือน ที่เพอร์เซโฟนีต้องกลับลงไปอยู่ในโลกบาดาล บนโลกจะกลายเป็นฤดูหนาว เนื่องจากความเศร้าของแม่ที่คิดถึงลูก
ภาพงานประติมากรรมแกะสลักหินอ่อน The Rape of Proserpina (Persephone) ปี 1621-1622
หรือประมาณ 400 ปีก่อน โดย Gian Lorenzo Bernini ศิลปินชาวอิตาลี
คำว่า “rape” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าข่มขืน แต่หมายถึงฉุดคร่า
ปัจจุบันงานประติมากรรมนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Galleria Borghese กรุงโรม ประเทศอิตาลี
ที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Persephone
นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานกรีกโบราณ ต่อมาชาวโรมันได้รับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าของกรีก แต่อาจเปลี่ยนชื่อเรียก ยกตัวอย่างเช่น
คนกรีกเรียกว่าเทพเจ้าเฮดีส ส่วนคนโรมันเรียกเทพเจ้าองค์เดียวกันนี้ว่าเทพเจ้าพลูโต (Pluto) ต่อมากลายเป็นชื่อดาวพลูโตในภาษาอังกฤษ
คนกรีกเรียกว่าเทพเจ้าซูส ส่วนคนโรมันเรียกว่าเทพเจ้าจูปิเตอร์ (Jupiter ) ต่อมากลายเป็นชื่อดาวพฤหัสบดีในภาษาอังกฤษ
คนกรีกเรียกว่าเทพเจ้าเฮอร์มีส ส่วนคนโรมันเรียกว่าเทพเจ้าเมอร์คิวรี (Mercury) ต่อมากลายเป็นชื่อดาวพุธในภาษาอังกฤษ เนื่องจากแต่ละวันดาวพุธเปลี่ยนตำแหน่งเร็ว เหมือนเมอร์คิวรี เทพเจ้าแห่งการสื่อสารที่เดินทางได้อย่างรวดเร็วว่องไว
นอกจากนี้ mercury ในภาษาอังกฤษยังแปลว่า “ปรอท” และเนื่องจากปรอทเป็นธาตุที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจึงนำมาใช้เป็นเครื่องวัดอุณหภูมิ (thermometer) ในภาษาไทยก็มีสำนวนว่า “ไวเป็นปรอท”
ตารางเปรียบเทียบชื่อเทพเจ้ากรีกกับโรมัน เรียงลำดับตามที่ปรากฏในคอลัมน์นี้ ออกเสียงตามภาษาอังกฤษแบบอเมริกันตาม Merriam-Webster Dictionary และทับศัพท์เป็นภาษาไทย ตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2535
บนท้องฟ้ามีกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ที่อาจเป็นเทพีดิมีเตอร์ถือรวงข้าว ตรงรวงข้าวมีดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหญิงสาวคือ ดาวรวงข้าว หรือ ดาวสไปกา (Spica) สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ (ความสว่างระดับ 1)
ภาพ The Return of Persephone ปี 1891 วาดโดย Frederic Leighton ศิลปินชาวอังกฤษ
ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Leeds Art Gallery ประเทศอังกฤษ
ที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Frederic_Leighton
คำว่า Virgo เป็นภาษาละติน แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ virgin สาวบริสุทธิ์
กลุ่มดาวหญิงสาวเป็นหนึ่งใน 12 กลุ่มดาวจักรราศี (zodiac) ที่ดวงอาทิตย์เดินทางผ่านใน 1 ปี
ตอนที่มนุษย์กำหนดกลุ่มดาวจักรราศีเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนโดยชาวบาบิลอน (Babylon) พอถึงเดือนกันยายนดวงอาทิตย์จะอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว หรือราศีกันย์
ภาพแผนที่กลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) โดย สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union หรือย่อว่า IAU)
ที่มาภาพ https://www.iau.org/public/themes/constellations/
ปัจจุบันคนไทยจึงเรียกเดือนนี้ว่า “กันยายน” มาจากคำว่า “กันยา” แปลว่า หญิงสาว หรือ สาวน้อย และคำว่า “อายน” แปลว่า มา รวมกันเป็น มาเจอสาวน้อย หรือ มาถึงราศีกันย์
เดือนกันยายนในภาษาอังกฤษคือ September มาจากภาษาละตินว่า septem แปลว่า 7 ในปฏิทินของชาวโรมันนั้นเดือนกันยายนเป็นเดือนที่ 7 ของปี (เดือนแรกหรือปีใหม่คือเดือนมีนาคม) ปัจจุบันแม้เดือนกันยายนจะเปลี่ยนเป็นเดือนที่ 9 ของปี (เดือนแรกหรือปีใหม่คือเดือนมกราคม) แต่ก็ยังเรียกเดือนกันยายนว่า September เดือน 7 นับว่าแปลกดีครับ
ภาพจำลองท้องฟ้าโดยแอป SkyPortal ซ้ายมือเป็นวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 1
หรือเมื่อ 2562 ปีก่อน เวลา 18:00 น. ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว เปรียบเทียบกับขวามือวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 ปีนี้
เวลาเดียวกัน จะเห็นว่าดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ยังไม่เข้ากลุ่มดาวหญิงสาว
ถ้ามองตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตกจะเห็นกลุ่มดาวหญิงสาวอยู่บนท้องฟ้า
เปรียบเทียบกับเมื่อ 3,000 ปีก่อน ดวงอาทิตย์เขยิบตำแหน่งไปทางกลุ่มดาวสิงโต ทำให้ปัจจุบันวันที่ 1 กันยายน ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ยังไม่เข้าไปในกลุ่มดาวหญิงสาว ต้องรอถึงวันที่ 17 กันยายน ถึงจะเข้ากลุ่มดาวหญิงสาว ตามการแบ่งพื้นที่กลุ่มดาวของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union หรือย่อว่า IAU) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930
ภาพแกเล็กซี M61 (Messier 61) ในกลุ่มดาวหญิงสาว
ที่มาภาพ หอดูดาว European Southern Observatory (ESO) https://www.eso.org/public/images/potw1901a/
สิ่งที่น่าสนใจคือในกลุ่มดาวหญิงสาวมีดาราจักรหรือแกเล็กซี (galaxy) จำนวนมากประมาณ 1,300-2,000 แกเล็กซี เรียกว่ากลุ่มหญิงสาว (Virgo Cluster)
อ้างอิง https://en.wikipedia.org
สามารถอ่านบทความเต็มได้ที่
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/190177