เรียบเรียงโดย
ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
ทุกวันนี้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ในปี 2562 มีสถิติรายงานว่าคนไทยร้อยละ 79 หรือประมาณ 59 ล้านคน ท่องโลกออนไลน์และใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำทุกวัน เพื่อรับข่าวสาร ทำกิจกรรม และทำธุรกรรมต่างๆ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์นั้นมีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอมปรากฏอยู่มากมายมหาศาล ซึ่งนั่นก็ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการรับข้อมูลเท็จหรือการถูกหลอกลวงที่มุ่งเป้าให้ได้รับความเสียหายมากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดเวทีเสวนา “รู้ให้เท่า ก้าวให้ทัน กับข่าวลวง (Fake News) บนโลกออนไลน์” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการคัดกรองข่าวสารและการทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ให้แก่ประชาชน
ดร.ปานระพี รพิพันธุ์
ภายในงานมีการบรรยายเรื่อง “สารพัดการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ที่ต้องรู้ และเทคนิคการกำจัดข่าวลวง (Fake News)” โดย ดร.ปานระพี รพิพันธุ์ (เอิ้น) พิธีกรและผู้ผลิตรายการเกี่ยวกับไอทีและดิจิทัล ซึ่งได้มาให้ความรู้ถึงพฤติกรรมการล่อลวงบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันว่า สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การหลอกลวงที่มีจุดประสงค์มุ่งให้เหยื่อได้รับความเสียหาย (Scam) และข่าวปลอมเพื่อให้ผู้รับสารเกิดการเข้าใจผิด หรือที่คุ้นหูกันว่า “Fake News”
โดยในกลุ่มของ Scam แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ การหลอกล้วงข้อมูล การหลอกให้ซื้อสินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อมูลการโฆษณา และการหลอกให้ลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ปกปิดข้อมูลการลงทุน หรือการหลอกให้ลงทุนในกิจการปลอม
การหลอกล้วงข้อมูลหรือรหัสผ่านนั้น ปัจจุบันมักมาในรูปแบบ “ฟิชชิ่ง (Phishing)” ที่เลียนเสียงมาจากคำว่า “Fishing” ที่แปลว่าตกปลาหรือหลอกให้เหยื่อติดเบ็ดนั่นเอง วิธีการนี้ผู้ประสงค์ร้ายมักใช้วิธีการให้เหยื่อเป็นผู้คลิกลิงก์เข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคลด้วยตนเอง อาทิ ชื่อ-สกุล, ชื่อผู้ใช้ (username), รหัสผ่าน, อีเมล, หมายเลขบัตรประชาชน, เบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนร้ายมักจะสวมรอยเป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือสูง เช่น Facebook, Instagram, Microsoft หรือ ธนาคารต่างๆ โดยการตั้งชื่ออีเมลและเว็บไซต์ให้คล้ายหรือกลมกลืนกับหน่วยงานเหล่านั้น และใช้ข้อความที่สร้างความตื่นตระหนกให้เหยื่อต้องรีบตัดสินใจคลิกลิงก์เข้าไปกรอกข้อมูลโดยทันที
หากสงสัยว่าตนเองได้เผลอให้ข้อมูลสำคัญไปแล้ว ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านและเปิดใช้รหัสผ่านแบบ 2 ชั้น (Two factor authentication) แต่หากไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน ให้รีบแจ้งความต่อกองบังคับปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าไม่ได้เป็นผู้ครอบครองไอดีนั้นแล้วและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
สำหรับ การหลอกให้ซื้อสินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อมูลการโฆษณา และการหลอกให้ลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ปกปิดข้อมูลการลงทุน หรือการหลอกให้ลงทุนในกิจการปลอม มักมาในรูปแบบโฆษณาชวนเชื่อ ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเกินกว่ากว่าผลิตภัณฑ์หรือการลงทุนโดยทั่วไป มีราคาที่ทำให้ผู้คนวู่วามตัดสินใจซื้อได้ง่าย คือ ราคาไม่ถูกจนดูผิดปกติแต่ถูกกว่าราคาตลาด มีการเรียบเรียงถ้อยคำนำเสนอที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ประโยคมีลักษณะของการแปลมาจากภาษาอื่นด้วยโปรแกรมแปลภาษา หรือการใช้ถ้อยคำที่ไม่เป็นทางการ มีการใช้บุคคลอ้างอิงหรือข้อมูลอ้างอิงที่เป็นเท็จ ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการสวมรอย แอบอ้าง บิดเบือนข้อมูล ใช้พรีเซ็นเตอร์ที่ไม่มีความรู้ทางด้านนั้นหรือไม่ได้ใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจริง หรือมีการแสดงภาพทดสอบการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เป็นต้น
นอกจากการหลอกลวงในรูปแบบ Scam แล้ว การหลอกลวงอีกประเภทหนึ่งที่เป็นไวรัลให้พบเห็นได้เป็นประจำ คือ ข่าวปลอม หรือ “Fake News” ซึ่งมักมาในรูปแบบการใช้ข้อความนำเสนอที่ไม่เป็นความจริง ใช้ภาพตัดต่อ ใช้ภาพเก่าเล่าใหม่ นำภาพของสถานการณ์อื่นมาแต่งเรื่อง หรือบิดเบือนข้อมูล ซึ่งในกรณีเหล่านี้นอกจากผู้รับสารจะสามารถตรวจทานได้จากความน่าเชื่อถือของข่าวและผู้เผยแพร่แล้ว ยังสามารถตรวจได้จากการใช้บริการค้นหาของ Google ทั้ง การค้นหาภาพ การค้นหาข้อมูล และการค้นหาความจริง (Fact Check Explorer) ซึ่งเป็นบริการใหม่ของ Google
ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีหน่วยงานต่างๆ ที่นำเสนอข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเป็นข่าวเท็จหรือไม่เช่นกัน เช่น เว็บไซต์ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” (https://www.antifakenewscenter.com) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเว็บไซต์ “เช็ก ชัวร์ แชร์” (https://sure.oryor.com) โดย อย. ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทย
ผู้ร่วมเสวนา คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์, เภสัชกรหญิงอรัญญา เทพพิทักษ์ และ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน
นอกจากการบรรยายเพื่อให้รู้เท่าทันการหลอกลวงบนโลกออนไลน์แล้ว ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “สื่อสารผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างไรไม่ให้เกิด Fake News” โดย คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้สื่อข่าว อสมท รายการชัวร์ก่อนแชร์ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจ Drama Addict และเภสัชกรหญิงอรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย.
ทั้งนี้ ในวงเสวนาได้มีการแนะนำเรื่องการนำเสนอข้อมูลขายสินค้าและการลงทุนว่า การเสนอขายแต่ละเรื่องมีข้อจำกัดในการสื่อสาร เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อมูลหรือสื่อสารข้อมูลเท็จ รวมถึงบางสินค้ามีข้อจำกัดว่าไม่สามารถเสนอขายทางออนไลน์ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาที่นอกเหนือจากยาสามัญประจำบ้าน ดังนั้นแล้วผู้นำเสนอข้อมูลสินค้าและการลงทุน ควรศึกษาข้อกำหนดในการสื่อสารหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลสินค้าประเภทนั้นๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาดซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมาย และสำหรับผู้รับสารก็ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสารเหล่านั้นเช่นกัน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ และยับยั้งการกระทำความผิดของผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถศึกษาได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เช่น ด้านผลิตภัณฑ์อาหารและยาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและยาสมุนไพร สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของ อย. (เว็บไซต์: https://pca.fda.moph.go.th/service.php หรือแอปพลิเคชัน: อย. ตรวจเลข) ด้านการลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เว็บไซต์: https://www.dbd.go.th หรือแอปพลิเคชัน: DBD e-Service) เป็นต้น
แอปพลิเคชัน อย. ตรวจเลข
แอปพลิเคชัน DBD e-Service
สุดท้ายนี้เพื่อให้ประชาชนเท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ประสงค์ร้าย และยับยั้งการกระทำผิดของบุคคลเหล่านั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ก่อนแชร์ข้อมูลข่าวสารต้องแน่ใจว่าข้อมูลนั้นเป็นจริงและเป็นประโยชน์ และก่อนจะแชร์เงินหรือข้อมูลส่วนตัวต้องแน่ใจว่าผู้รับปลายทางเป็นตัวจริงไม่หลอกลวง และหากพบเห็นผู้กระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ กองบังคับปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ Facebook: อาสา จับตา ออนไลน์
ติดตามชมการบรรยายและเสวนาย้อนหลังได้ที่
• สารพัดการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ที่ต้องรู้ และเทคนิคการกำจัดข่าวลวง (Fake News) : https://bit.ly/30trQLx
• สื่อสารผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างไรไม่ให้เกิด Fake News : https://bit.ly/2C4AkiY