นักวิจัย สวทช. สังเคราะห์สารตั้งต้นยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ ต้านโรค COVID-19 สำเร็จ

เรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา


 

          ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษา ทำให้มีความพยายามนำยาหรือสารออกฤทธิ์ต่างๆ มาทดลองรักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัส SARS-CoV-2  กระทั่งพบยาที่มีประสิทธิผลดีในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฟาวิพิราเวียร์ (FAVIPIRAVIR) แต่ด้วยภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตยาต่างต้องเก็บยาไว้รักษาผู้ป่วยภายในประเทศตนเอง ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลน ยาที่สั่งซื้อได้มีจำนวนจำกัดและอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาของผู้ป่วยในประเทศที่ไม่สามารถผลิตยาเองได้

          ล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ ในงาน “ความร่วมมือเพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API: Active Pharmaceutical Ingredients) ของประเทศ: ยาต้านไวรัส “Favipiravir”

          ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า มีความยินดีและมีความสุขมากที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือในการพัฒนาวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) สำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นในการการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อใช้ต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SAR-CoV-2) ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564-2569 ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวาระที่นำเสนอในการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน

          “การพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยก็เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลกอย่างมากว่าเรามีการแพทย์และสาธารณสุขที่ก้าวหน้าประเทศหนึ่งในเอเชียและระดับโลก ที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน 2 ชนิด จาก 7 ชนิด และวัคซีนอีก 5 ชนิด กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งการพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทยไม่เท่าไหร่ แต่การผลิตวัคซีนโดยคนไทยต่างหากที่เป็นเป้าหมายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข

          นอกจากนี้ เรายังประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมวัคซีน ยา รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยรับมือต่อวิกฤติโรคระบาดในอนาคต ทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้า ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพราะเราไม่ได้มีแค่วิทยาการความรู้ แต่เรายังสามารถผลิตเพื่อการส่งขายได้อีกด้วย อย่างไรก็ดีขณะนี้ สวทช. ได้เตรียมผลักดันเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยนำเรื่องการพัฒนาสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม สำหรับยา Favipiravir ต้านโรค COVID-19  บรรจุในโครงการ BCG กลุ่มสาขายาและวัคซีน แล้ว และเป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล”

          ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. คือหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่ง สวทช. มีองค์ความรู้ บุคลากร ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีทางด้านเคมีสังเคราะห์ที่จะช่วยหนุนเสริมองค์การเภสัชกรรมในการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม ได้เองภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมยาแบบครบวงจร และส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขของประเทศ

          “เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการผลิตยาของประเทศไทยยังคงอยู่ระดับปลายน้ำ ต้องนำเข้าสาร API ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยารักษาโรคต่างๆ จากต่างประเทศมากถึง 95% ดังนั้นหากเราสามารถสังเคราะห์ API ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาตำรับยาได้สำเร็จ จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตยาได้ครบวงจรด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและการแพทย์ให้กับประชาชนได้ ดังจะเห็นได้ดีจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่มีภาวะการขาดแคลนทั้งยารักษา และอุปกรณ์การแพทย์อย่างมาก ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ สวทช. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เดินหน้าวิจัยพัฒนากระบวนการผลิต API ด้วยตนเองในระดับห้องปฏิบัติการกระทั่งประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสูตรตำรับยาที่ทางองค์เภสัชกรรมดำเนินการอยู่ เพื่อใช้ในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับต้านโรค COVID-19

          อย่างไรก็ดี ในกระบวนการสังเคราะห์ API นั้น แม้ทีมวิจัยจะเลือกแนวทางการผลิตที่ดีที่สุดจากหลายแนวทางการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นวิธีที่ต้องใช้สารตั้งต้นที่มีราคาแพง ทำให้ทีมวิจัยเร่งศึกษาวิจัยต่อยอด พัฒนากระบวนการสังเคราะห์จากเดิม 6 ขั้นตอน เป็น 9 ขั้นตอน ถึงแม้จะมีขั้นตอนที่มากขึ้นแต่เป็นวิธีที่สามารถใช้วัตถุดิบราคาถูก หาได้ง่าย และพึ่งพาตนเองได้ โดย API ที่นักวิจัย ไบโอเทค สวทช. สังเคราะห์ได้มีคุณภาพดี มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นทดแทน API ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

          ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า ในขั้นต่อไป องค์การเภสัชกรรมจะขยายการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Scale) ร่วมกับทีมนักวิจัย ไบโอเทค สวทช. และจะมีการต่อยอดขยายผลไปสู่อุตสาหกรรม API โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขยายผลสู่ขั้นตอนการผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับอุตสาหกรรมยา สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตั้งเป้าสร้างศักยภาพการผลิตยาในประเทศ

          นพ.วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 องค์การเภสัชกรรม องค์กรหลักด้านยาของประเทศ ได้มีการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนสำหรับใช้ในโรค COVID-19 ในส่วนของวัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ซึ่งองค์การเภสัชกรรม ได้ร่วมมือกับ สวทช. ดำเนินการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบฟาวิฟิราเวียร์ ซึ่งขณะนี้ สวทช. ได้ดำเนินการในระดับห้องปฏิบัติการเสร็จแล้ว ได้กระบวนการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นตัวใหม่ที่มีราคาถูกกว่าสารตั้งต้นที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่ใช้อยู่

          “ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขณะเดียวกัน สวทช. พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับองค์การเภสัชกรรม เพื่อจะได้พัฒนาต่อยอดกระบวนการสังเคราะห์ไปสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้องค์การเภสัชกรรม สวทช.  และ ปตท. จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวัตถุดิบยาที่มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุข และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศไทย นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่โครงการ BCG ได้บรรจุแผนการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบลงในแผนสาขาด้านยาและวัคซีน เพื่อสามารถให้การสนับสนุนต่อไป”

About Author