เอ็มเทค สวทช. เปิดตัว ‘ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ นำร่องใช้จริงบรรจุเมนูผักสลัดพร้อมทาน ผู้บริโภคได้ 2 ต่อ ‘กินผักสดดีต่อสุขภาพ-หนุนบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อโลก’
เอ็มเทค สวทช. โชว์ความเชี่ยวชาญการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ เปิดตัว ‘ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ มีจุดเด่นที่ ฟิล์มบางใส ต้านทานการเกิดฝ้า ช่วยยืดอายุสินค้าผักสลัดให้คงสภาพสดใหม่ในชั้นวางจำหน่ายจากเดิม 3 วัน เป็น 5 วัน ด้านมูลนิธิโครงการหลวง นำร่องใช้ฟิล์มกับบรรจุภัณฑ์ ‘เมนูผักสลัดพร้อมทาน’ ในร้านค้าโครงการหลวง ถูกใจผู้บริโภคสายเฮลธ์ตี้ ได้ถึง 2 ต่อ ได้กินผักสดปลอดภัยดีต่อสุขภาพ และสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(วันที่ 6 สิงหาคม 2565) ณ บริเวณโซน เซ็นทรัล คอร์ต (Central Court) ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ : ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม ‘ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ เริ่มต้นด้วยกันเพื่อเราเพื่อโลก โดยมี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ศ.ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และนายเดชบดินทร์ เหรียญทรัพย์ดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัว ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่นำไปบรรจุผักสลัดพร้อมทานของมูลนิธิโครงการหลวง วางจำหน่ายให้ประชาชนที่เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับพรีเมียม สินค้าผลผลิตทางการเกษตร ที่ปลูกโดยชาวเขาบนพื้นที่สูงภายในงานโครงการหลวง 53 (Royal Project 53) ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงและพันธมิตรจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-14 สิงหาคม 2565 นี้
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวเปิดการแถลงข่าว โดยมีใจความว่า รูปแบบการพัฒนาทางเลือกพืชทดแทนฝิ่นของมูลนิธิโครงการหลวง ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นรูปแบบการปฏิบัติที่ดีที่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในการสร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชนบนพื้นที่สูง เกิดผลิตผลมากมายภายใต้การผลิตตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวไทย และแบบอย่างโครงการหลวงโมเดลยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปัจจุบันเกษตรกรบนพื้นที่สูงเลิกการปลูกฝิ่นหันมาประกอบอาชีพการเกษตร ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย จึงทำให้ผลผลิตโครงการหลวงเป็นผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ความร่วมมือที่มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โดยงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรม “ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” บนถาดสลัดของโครงการหลวง จึงเป็นการต่อยอดการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากประโยชน์ในการคงไว้ซึ่งคุณภาพของผลผลิต ยังเกิดประโยชน์ในมิติของสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการต่อยอดนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาผลิตผลและผลิตภัณฑ์คุณภาพ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค และยังสนับสนุนนโยบายของประเทศอีกด้วย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Economy Green Model) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังนำงานวิจัยและนวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จในการวิจัยพัฒนา กระทั่งเป็นการเปิดตัวนวัตกรรมฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ในครั้งนี้
นวัตกรรม “ฟิล์มปิดหน้าถาดจากเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” เกิดจากความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มูลนิธิโครงการหลวง บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยฟิล์มดังกล่าวสามารถขึ้นรูปในอุตสาหกรรมการผลิตจริง มีจุดเด่น ที่มีความบาง ใส มีสมบัติป้องกันการเกิดฝ้า ทำให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าชัดเจน สามารถปิดผนึกได้สนิทกับถาดที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ ทำให้มีความปลอดภัยจากการปนเปื้อน และที่สำคัญคือช่วยยืดอายุสินค้าผักสลัดให้คงสภาพสดใหม่ในชั้นวางจำหน่ายจากเดิม 3 วัน เป็น 5 วัน สามารถตอบโจทย์ของมูลนิธิโครงการหลวงในเรื่อง การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถย่อยสลายได้ทั้งระบบ ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงได้ใช้งานต้นแบบดังกล่าวในการบรรจุผักสลัดพร้อมทานวางจำหน่ายจริงภายในงาน “โครงการหลวง 53” (Royal Project 53) และพร้อมสำหรับการวางจำหน่ายในร้านค้าของมูลนิธิโครงการหลวงทั้ง 18 สาขาทั่วประเทศ
ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นหนึ่งความสำเร็จของโครงการที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ เอกชน และมูลนิธิฯ ที่ได้ร่วมกันผลักดันการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.อาภาณี เหลืองนฤมิตชัย ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า ผู้ให้ทุนวิจัยแก่โครงการ “ฟิล์มใสย่อยสลายได้สำหรับปิดหน้าถาดบรรจุภัณฑ์” ร่วมกับ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โดยการพัฒนาศักยภาพของพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้และการจัดการหรือใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกเป็นอีกหนึ่งโจทย์วิจัยสำคัญของ บพข. เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งโลกให้ความสำคัญอย่างมาก รวมถึงประเทศไทยที่ต้องการผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมสีเขียว (Green Society) ซึ่งผู้ใช้ประโยชน์อย่างมูลนิธิโครงการหลวงได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้โครงการวิจัยฯ ดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ และความสำเร็จของการผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ช่วยกันใช้ความเชี่ยวชาญผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง
นายเดชบดินทร์ เหรียญทรัพย์ดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งสอดรับกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG (Sustainable Development Goals) ‘ทานตะวันอุตสาหกรรม’ จึงยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันต้องเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และคิดค้นนวัตกรรมของบริษัทฯ ดำเนินภายใต้กลยุทธ์ THIP Circular ECO Way ตามหลัก “6Rs” คือ Re-New, Re-Duce, Re-Use, Re-Pair, Re-Cycle และ Re-Cover มาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งระบบ บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และพันธมิตรทางธุรกิจมาโดยตลอด”
“การร่วมมือวิจัยนวัตกรรมฟิล์มปิดหน้าถาดย่อยสลายได้ในครั้งนี้ เป็นอีกขั้นของการคิดค้นวิจัยที่ตอบโจทย์แนวคิด Zero Waste การลดขยะให้เหลือศูนย์ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยี นำมาสู่นวัตกรรมที่ช่วยยืดอายุของพืชผักให้นานขึ้น ลดของเสีย เชื่อมั่นว่าความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้จะเพิ่มความสามารถในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้น พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้จริง และส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ที่จะทำให้ผู้คนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันเพิ่มมากขึ้น อันไปสู่เป้าหมายของการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคตร่วมกัน”